ปรีชา คูหาชัยสกุล เปลี่ยนวิธีคิด…ออกแบบชีวิตรับมือมะเร็ง

ปรีชา คูหาชัยสกุล คือผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) ซึ่งเป็นชนิดของมะเร็งปอดที่พบได้ราว 40% ของผู้เป็นมะเร็งปอดทั้งหมดที่เป็นเพศชายและหญิง ตลอดเส้นทางการรักษากว่า 3 ปีที่ผ่านมา แม้ตัวเขาจะต้องเจอกับบททดสอบยากๆ เข้ามาปะทะอยู่หลายครั้ง ทว่า ด้วยการใฝ่หาความรู้เกี่ยวกับมะเร็ง การใช้ชีวิตด้วยสติ การมีธรรมะเป็นที่พักให้กับหัวใจ ตลอดจนความทุ่มเทและแรงสนับสนุนที่มาพร้อมความรักจากผู้คนรอบกาย ทำให้ปรีชาในทุกวันสามารถอยู่ร่วมโรคและโลกใบนี้ด้วยกำลังใจที่เต็มเปี่ยม และเขายังคงใช้กำลังกายที่มีอยู่เก็บเกี่ยวความสุขและความอิ่มเอมในทุกๆ วัน เพื่อเป็นพลังในการก้าวผ่านจุดเปลี่ยนของธรรมชาตินี้ก่อนที่ปลายทางชีวิตจะมาเยือน

มะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma 

“ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ผมมีอาการไอเรื้อรัง ไอแบบมีเสมหะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางมีนาคม แล้วอาการก็ดีขึ้น ซึ่งเวลาเดียวกันนั้น โควิดระบาดหนักมากอย่างที่ใครๆ ก็รู้กันดี ผมจึงไม่กล้าไปตรวจ หลังจากนั้นหายป่วย สุขภาพผมปกติดีเลยนะครับ จนเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นเวลาตรวจสุขภาพประจำปี ผลจากการเอ็กซเรย์ปอดได้พบก้อนขนาด 4×4 เซนติเมตร ทำให้ผมต้องไปติดตามผลต่อ

“แรกเริ่ม คุณหมอมุ่งไปที่การตรวจหาโรควัณโรคก่อน เพราะว่าครอบครัวผมทั้งคุณพ่อและพี่สาวเคยเป็นมาก่อน เมื่อพบว่าไม่ใช่ 1 สัปดาห์หลังจากนั้นผมจึงถูกส่งตัวไปทำ CT Scan ผลคือพบก้อนที่ปอด ซึ่งปอดคนเราจะมี 5 กลีบ ฝั่งขวา 3 กลีบ และฝั่งซ้ายอีก 2 กลีบ ผมพบก้อนขนาด 4×4 เซนติเมตร บริเวณปอดขวาด้านบน คุณหมอสั่งตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจเพิ่มเพื่อระบุให้ชัดเจนว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นมะเร็งไหม ซึ่งพบว่าเป็นและลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองฝั่งซ้ายมืออีกหลายต่อมแล้ว คุณหมอบอกกับผมว่า ไม่สามารถผ่าตัดได้ เมื่อผ่าตัดไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปจึงมี 3 วิธีที่ใช้ในการรักษา นั่นคือเคมีบำบัด ฉายแสง หรือยาพุ่งเป้า ตอนนั้นผมเข้าใจว่าจะได้รับการวินิจฉัยและกำลังจะเข้าขั้นตอนการรักษาได้แล้ว แต่คุณหมอมาจับตัวผม นวดไปนวดมา พบว่าต่อมน้ำเหลืองผมโต การประเมินเบื้องต้นคือผมอาจจะเป็นระยะที่ 4 นั่นคือลุกลามไปทั่วตัว ผมจึงต้องไปทำ PET Scan เพื่อตรวจให้ละเอียดและทราบแน่ชัดว่ามะเร็งลามไปอวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น สมอง กระดูก ต่อมหมวกไต ที่ส่วนใหญ่มะเร็งปอดมักจะลามไปถึงหรือยัง จนพบว่าผมเป็นมะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma ระยะ 3B ซึ่งไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนส์ในร่างกาย เพราะฉะนั้น ชิ้นเนื้อที่ส่งไปตรวจ ถ้าพบว่าตรงกับยาพุ่งเป้าชนิดไหน คุณหมอจะใช้ชนิดนั้นเลย ไม่ต้องหาวิธีการรักษาอื่นแล้ว ปรากฏว่าเมื่อไปตรวจแล้ว ของผมไม่ตรงกับยาพุ่งเป้าตัวใดเลย ขณะที่ผลของ PET Scan ระบุว่ามะเร็งของผมยังไม่ลาม ที่พบก็เพียงต่อมหมวกไตมีสีเข้มขึ้นหน่อย วิธีการรักษาจึงใช้การฉายแสง 33 ครั้ง ร่วมกับคีโม 6 ครั้ง กินเวลาประมาณเดือนครึ่งและจบคอร์ส

“เมื่อจบคอร์สแรก ตอนนั้นมีวิธีการรักษาใหม่เกิดขึ้น นั่นคือการใช้วิธีภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ยาชนิดนี้มีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร เนื่องจากเป็นยาชนิดใหม่ ผมจึงถามคุณหมอว่า ถ้าผมใช้ยาตัวนี้ อัตราการรอดชีวิตผมจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ คุณหมอส่งรีพอร์ตมาให้ผมเพื่อประกอบการตัดสินใจ ผมคิดสระตะแล้วจึงตัดสินใจใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดเพิ่มเติมจากการให้คีโมและฉายแสง โดยยาภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ ผลที่ดีที่สุดคือไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับคีโมและฉายแสง แต่ผมไม่สามารถทำได้เพราะผลจากคีโมและฉายแสงทำให้ปอดอักเสบเป็นจุดขาวๆ ทั้งหมดเลย จึงต้องรอ 1 เดือนจึงไปเข้าการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดได้ 

“ตอนนั้นอยู่มาได้ประมาณ 10 เดือน มะเร็งก็กลับมาใหม่ตรงที่ฉายแสงเดิม เป็นจุดเล็กๆ ขึ้นมา ผมไปทำ PET Scan ใหม่ว่าลามที่อื่นหรือไม่ เมื่อพบว่าไม่ลาม คุณหมอก็มาบอกว่าจะรักษาแบบย้อนกลับไปใหม่ นั่นคือจะผ่าตัดเอาทั้งกลีบปอดขวาด้านบนออกไปทั้งหมด หลังจากนั้นผ่านไปได้อีกราว 11 เดือน ก็พบว่ามะเร็งกลับมาใหม่อีก 2 ก้อนที่ปอดขวากลีบล่าง คุณหมอผ่าตัดให้ผมอีกครั้งและนำเจ้า 2 ก้อนนี้ไปตรวจว่าตรงกับยาพุ่งเป้าตัวไหนไหม จนพบว่ามียาพุ่งเป้าชนิดที่ตรงกับมะเร็งของผมพอดี จึงเริ่มกินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 จนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 12 เดือนแล้ว โดยปัจจุบันนี้ ผมรักษาด้วยการกินยาพุ่งเป้าอย่างเดียว และติดตามผลด้วยการทำ CT Scan ทุกๆ 4 เดือน นี่คือวิธีการรักษามะเร็งของผม บอกได้เลยว่าครบทุกอย่าง ตั้งแต่ผ่าตัด ฉายแสง ใช้เคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด และยาพุ่งเป้า จนถึงตอนนี้ ผมอยู่มาได้ 3 ปีกับ 8 เดือน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าเป็นมะเร็งครับ”

รู้โรค รู้รักษา วางแผนชีวิต ลงมือธรรม

“เอาจริงๆ ช่วงที่ยากที่สุดสำหรับผมคือเดือนแรกหลังจากได้รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เพราะเป็นช่วงที่สับสนทางความคิดเป็นอย่างมาก ด้วยพื้นฐานที่มีนิสัยชอบวางแผน ชอบข้อมูล สิ่งที่ผมต้องการคือข้อมูลว่าผมเป็นอะไร ระยะไหน ผมจะอยู่ได้เท่าไหร่เพื่อช่วยในการวางแผน ซึ่งถ้าผมไม่รู้เลย ผมจะเครียด เพราะผมวางแผนไม่ถูก ผมเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นหัวหน้าครอบครัว มีคนที่ต้องดูแลและเป็นห่วง ดังนั้น 1 เดือนของการส่งตัวและตรวจเช็กแบบที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งไหม ถ้าเป็นจะเป็นระยะไหน อยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ ต้องรักษาอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายแค่ไหน แล้วคำตอบที่แฝงมาด้วยความห่วงใยว่า จะรู้ไปทำไม เป็นก็รักษาได้ ทำให้ตอนนั้นผมเครียดมาก จริงๆ แล้วผมไม่กลัวตายนะ แต่สิ่งที่ผมต้องการคือข้อมูลเพื่อวางแผนชีวิตต่อไป เช่น การวางแผนทางการเงินเพื่อให้ครอบคลุมและคุ้มค่าที่สุด ถ้าผมจ่ายเงินไปจำนวนมากแต่อยู่ได้ 2 ปี หรือผมต้องเอาทรัพย์สินส่วนที่จะต้องเดือดร้อนถึงลูกและภรรยาผม ผมจะไม่ทำแบบนั้น ผมยอมเสียชีวิต จนกระทั่งเข้าการรักษาและรู้ว่าเป็นระยะเท่าไหร่ ผมไม่ถามหมออีกเลยเพราะเรามีข้อมูลและสามารถไปสืบค้นเพิ่มเองได้แล้ว 

“ด้วยโรคมะเร็งจะวัดอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 5 ปี ระยะที่ผมเป็นพบว่าประมาณ 80% ของคนไข้กลุ่มนี้จะเสียชีวิตในช่วง 5 ปี และมี 20 คนเท่านั้นที่อยู่ถึง 5 ปี เพราะฉะนั้น ผมเลยคิดว่าตัวเองน่าจะอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 ความเป็นไปได้นี้ แต่จะคิดไว้ก่อนว่าเป็น 80% เพราะเป็นคนไข้เป็นส่วนใหญ่ พอคิดได้อย่างนั้น ผมจึงสบายใจมากขึ้นเยอะเพราะสามารถวางแผนชีวิตได้ว่าจะจัดการเรื่องต่างๆ อย่างไร รวมถึงเรื่องความรู้สึกตัวเองด้วย 

“ส่วนจุดยากหลังจากนั้นจะเป็นความทุกข์ที่มาจากผลจากการรักษาเป็นหลัก เพราะในทุกๆ การรักษาต้องยอมรับว่ามีผลข้างเคียงที่หนักพอสมควร ทั้งผ่าตัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด แม้กระทั่งตอนนี้จากการกินยาพุ่งเป้าก็มีผลเยอะแยะไปหมด การรับมือของผมตอนนี้คือจะพยายามไม่คิดมาก ดำเนินชีวิตเรียบง่ายที่สุด แต่ก่อนหลังจากทำงานเสร็จ ผมไม่เคยดูทีวีเลย ส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือ ดูข่าวจากเฟสบุ๊ก ตอนนี้ ผมไปถามลูกว่าใน Netflix มีอะไรดูบ้าง เลยมีโอกาสได้ดูสารคดีเกี่ยวกับผู้คนในมุมต่างๆ ของโลก พอได้ดูเลยได้เห็นชีวิตผู้คนคนมากมายที่มีจุดยากลำบากเช่นกันและไม่ใช่ผมคนเดียวนะที่เจอกับอุปสรรค นั่นทำให้ผลกลับมาบทวนว่า แล้วอะไรในชีวิตที่ผมโชคดีบ้าง จนพบว่าผมยังมีหนทางที่จะดูแลตัวเองได้ดีอยู่ สามารถเข้าถึงการรักษาทุกอย่างได้นะ มีประกันสุขภาพ มีครอบครัวที่รัก มีทีมแพทย์ที่คอยดูแล นี่คือสิ่งที่หนึ่งที่ช่วยลดความเครียดลงได้

“อย่างที่บอกว่าผมชอบเข้าหาข้อมูล พอเรามีความรู้ เข้าใจข้อมูลที่ได้รับมา และรู้ว่าโรคของเราดำเนินมาจนถึงจุดไหนแล้ว ผมจึงสามารถคาดคะเนอนาคตชีวิตได้ว่าผมน่าจะมีอายุถึงเท่าไหร่ ผมจึงวางแผนชีวิตตัวเองจนถึงวันที่จะไม่อยู่บนโลกนี้แบบที่ไม่ทิ้งภาระให้ใคร พอหมดห่วงตรงนี้ เหมือนเป็นการปลดล็อกความกังวลไปได้อีกหนึ่งเปราะ 

“สุดท้ายคือเปลี่ยนวิธีคิดโดยมุ่งไปทางธรรม เข้าหาการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ตอนนี้ความคิดของผมจึงอยู่ปัจจุบันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่คิดนู่นนี่ ไม่คิดย้อนหลัง หรือตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดไปแล้ว แต่จะมองตอนนี้ อยู่อย่างนี้ได้ ให้ทุกข์น้อยลง ตัวผมเองไม่ใช่สุดยอดของผู้ปฏิบัตินะครับ แต่เป็นผู้ที่กำลังเรียนรู้และปฏิบัติอยู่ ผมเองก็เหมือนกับใครหลายๆ คนที่อยากจะตายดี ไม่เป็นภาระของคนอื่นมากนัก ทั้งเรื่องทางด้านการเงิน การดูแล ตอนนี้เลยคิดว่าถ้าเราเตรียมตัวไว้อย่างดี น่าจะทุกข์น้อย ไม่ลำบากคนอื่น และจากไปได้อย่างสงบ ผมจึงวางแผนทุกอย่างไว้อย่างดี ทั้งเรื่องการเงินที่ดูแล้วจะไม่มีปัญหาอะไร รู้ว่าตัวเองจะรักษาแค่ไหนถึงไม่เดือดร้อน เหลืออยู่เรื่องเดียวที่กำลังทำอยู่คือทำอย่างไรให้ก่อนตายไม่ทรมานมาก จึงมาศึกษาธรรมะที่ทำให้ทุกข์น้อยลง ปรับปรุงตัวเองเพื่อให้เข้ากับโรคได้ ผมเริ่มเรียนการเตรียมตัวตายอย่างมีสติอยู่ และผมหวังไว้ว่าจะทำให้เส้นทางที่จะไปสู่ปลายทางนั้นเรียบง่ายที่สุดครับ” 

ชีวิตใหม่ในโลกใบเดิม

“คุณแม่ผมเสียด้วยโรคมะเร็ง เพื่อนของพี่ก็เป็นมะเร็ง มุมมองต่อโรคมะเร็งคือเป็นแล้วต้องตาย และค่อนข้างจะตายแบบทรมาน คำถามแรกที่ผมถามหมอตอนรู้ว่าเป็นมะเร็ง คือคำถามที่ว่าผมจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ เพราะเราฝังใจว่าจะต้องตายแบบทรมานแน่นอน หลังจากเป็นและเข้าสู่กระบวนการรักษา ไม่ว่าจะฉายแสงที่ไปโดนหลอดลมซึ่งส่งผลต่อการกินแบบที่ถ้ามีการไอขึ้นมา สิ่งที่กินเข้าไปจะออกมาหมด หรือการเจอเรื่องปอดอักเสบในช่วงเวลาที่โควิดรุนแรงแบบที่คนจะเข้าใจผิดเอาง่ายๆ ว่าผมติดโควิดอยู่ หรือการกินยาพุ่งเป้าในทุกวันนี้ซึ่งทำให้ทุกๆ 3 วัน ผมจะท้องเสียใหญ่ครั้งหนึ่ง ผลจากการรักษาต่างๆ รบกวนใจผมมาตลอด รวมตอนที่รู้แล้วว่ามะเร็งของผมจะไม่หายนะ ก็ทำให้ท้อใจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผมออกแบบชีวิตปัจจุบันจนถึงปลายทางที่จะไม่รบกวนตัวเองและไม่ทำให้คนอื่นต้องมาลำบากอย่างที่เล่าไป 

“หลังจากเป็นมะเร็ง การใช้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป ผมเน้นในเรื่องการอยู่ที่ปัจจุบันมากขึ้น คิดถึงแต่เรื่องตัวเองมากขึ้นในแง่ที่ว่าอย่าไปยุ่ง อย่าไปคิดแทนคนอื่นมากนัก ทำให้ตัวเองทุกข์น้อยที่สุด ไม่ใช่ไม่ทุกข์เลยนะครับ แต่ทุกข์น้อยที่สุด เวลาทำงานก็จะมุ่งแต่กับงาน ผลสำเร็จจะเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่เมื่อทำสิ่งไหนอยู่ ผมจะทำอย่างเต็มที่ เหมือนเวลาเราดูซีรีส์ เราจะดูได้ทั้งวันทั้งคืน แล้วในช่วงเวลานั้นคุณไม่ทุกข์นะ เพราะเราจดจ่อกับช่วงเวลานั้นแบบที่ไม่วอกแวกไปคิดเรื่องอื่น แต่ก่อนถ้าผมคุยกับใคร อาจจะมีโมเมนต์ที่คิดไปเรื่อย หรือมีคนโทรมาระหว่างนั้น จะรับดีไหม เป็นเรื่องอะไรนะ เรื่องด่วนรึเปล่า รวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เราจะต้องทำใจนะ ผมจะยึดคำที่พระท่านสอนว่า ‘สิ่งที่เข้ามา เรารับรู้ได้ทั้งหมด แต่อย่าไปรู้สึกกับมันทั้งหมด’

“ล่าสุดที่ผมเพิ่งประสบมาเมื่อตอนเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ผมมีอาการไอออกมาเป็นเลือด 3 วันติด จึงตัดสินใจไปพบคุณหมอและต้องมารักษาในห้องไอซียูเลย คุณหมอส่งผมไป CT Scan เพื่อดูจุดเลือดออกว่าตรงไหน แต่ไม่ว่าต้นตอที่ทำให้เลือดออกคืออะไร คุณหมอจะทำการอุดเลือดเนื่องจากไม่เห็นเลือดรั่วบริเวณไหนเลย การรักษานี้จะใช้วิธีกึ่งวางยาสลบ คือผมต้องรับรู้ไปด้วย เพราะจะต้องนำหลอดสวนเหมือนกับสวนหัวใจเพื่อหาว่าตรงไหนรั่ว แล้วใช้กาวเข้าไปอุด ระหว่างทำผมเจ็บมาก ณ ตอนนั้นก็นึกขึ้นมาว่าเราเรียนธรรมะมาแล้วนี่ ที่พระท่านพยายามจะบอกว่า ‘เราห้ามความเจ็บไม่ได้ แต่เราทำตัวเป็นผู้มองได้ว่าเรากำลังเจ็บนะ แต่อย่าเอาใจไปอยู่กับความเจ็บนั้น’ ผมสู้ด้วยวิธีนี้ เอามือไปเกาข้างเตียง ตั้งสติ ซึ่งก็สู้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่อย่างน้อยก็ดีใจว่ามีสติในการสู้ ตอนนั้นเริ่มมีกำลังใจแล้วว่า ตอนกำลังจะตายผมจะสู้แบบนี้แหละ

“การเป็นมะเร็งเปิดโลกอีกมุมหนึ่งให้ผม แต่ก่อนต้องยอมรับว่าผมใจร้อน ไม่ค่อยประนีประนอม พูดตรงๆ มะเร็งทำให้ผมเห็นแก่ตัวน้อยลง เริ่มหันมามองว่าอะไรคือสิ่งที่พอเหมาะพอควรกับตัวเอง ไม่สุดโต่งมาก นึกถึงใจคนอื่น ประกอบกับเราเป็นโรคนี้ คนรอบตัวทั้งหลายจึงปฏิบัติกับเราดีไปด้วย ความสัมพันธ์รอบตัวก็ดีขึ้นไปด้วย ความสุขที่ตอนนี้คิดและคาดหวังไว้คือเมื่อถึงระยะติดเตียงก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อไหร่ ผมจะทำให้เวลานั้นเป็นช่วงที่ดี ถ้าคนอื่นเห็นเราตายดี ผมคงจะมีความสุขมากๆ เลย” 

คู่มือออกแบบชีวิตรับมือกับมะเร็ง

“ข้อแนะนำของผมหลักๆ สำหรับคนที่ไม่ป่วยและเป็นมนุษย์เงินเดือน ประกันสุขภาพคือการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้คุณลดปัญหาทั้งปวง แล้วคุณจะมีชีวิตที่ตัดปัจจัยในเรื่องของการรักษาและการเงินไปได้เลย ไม่เช่นนั้นแล้ว ในวันที่คุณป่วยแบบที่ไม่มีหลักประกันใดๆ นอกจากคุณจะติดห่วงเรื่องนี้แล้ว ครอบครัวของคุณอาจต้องล่มสลายเพื่อนำเงินทั้งหมดมาใช้ในการรักษา โรคอื่นผมไม่ทราบ แต่มะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่คุณต้องเข้าถึงการรักษาเพื่อจะมีชีวิตรอด ว่าง่ายๆ ถ้าคุณมีเงิน เงินจะช่วยยืดชีวิตคุณได้จากการเป็นมะเร็ง เพราะคุณสามารถเข้าถึงการรักษาและยาได้เร็ว แต่หากคุณไม่มี คุณต้องมาศึกษาในเรื่องสิทธิ์การรักษาให้ดี เช่น ประกันสังคม บัตรทอง การมีความรู้แต่เนิ่นๆ จะทำให้เมื่อเวลาฉุกเฉินคุณจะมีความรู้และสามารถจัดการอะไรไปได้ทีละขั้นตอน

“สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ผมขอพูดถึงมะเร็งระยะที่ 3 ขึ้นไปนะครับ เพราะในระยะที่ 1 หรือ 2 ในมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สำหรับมะเร็งปอดที่ผมเป็น ตั้งแต่ระยะที่ 3 ขึ้นไป ข้อเท็จจริงคือไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่จะเป็นการรักษาไปตามอาการของโรคแบบที่จะอยู่ได้ไปเรื่อยๆ แล้วถ้าคุณยึดมั่นว่าคุณจะหายขาด คุณจะเครียด เพราะฉะนั้นยอมรับความจริงในระยะโรคที่เราเป็นอยู่และรักษาไปตามอาการ รวมถึงวิธีที่เหมาะสมกับเราในช่วงเวลานั้นตามคำแนะนำของแพทย์ สอง – ในเรื่องการรักษา คุณควรเลือกวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับผม ผมเลือกการรักษาแผนปัจจุบัน ดังนั้น ผมจะมุ่งกับแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียว เพราะจะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพเต็มที่ เว้นแต่ว่าการรักษาที่คุณจะเลือกนั้นคือทางเลือกเดียวที่มีอยู่ สาม – คุณต้องกล้าถามคุณหมอ คุณเรียบเรียงไว้เลยว่าอยากถามอะไร นี่คือชีวิตของคุณ พอคุณมีความรู้ คุณจะไม่กลัวเพราะคุณรู้ว่าคุณเป็นอะไรและต้องทำอย่างไรต่อไป สุดท้ายคืออยู่กับปัจจุบัน ถ้าคุณสามารถฝึกได้ ลองหาวิธีในแบบของตัวเองว่าทำอย่างไรให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน เพราะถ้าคุณอยู่กับปัจจุบัน คุณไม่มีเวลาไปห่วงกับอะไรมานัก ที่ผมพูดนี่ไม่ใช่ว่าผมอยู่กับปัจจุบันได้ตลอดหรอกนะ เผลอคิดนั่นนี่อยู่บ่อยๆ เพียงแต่พอนึกขึ้นได้ก็กลับมาอยู่กับสิ่งตรงหน้านี้ นี่คือคำแนะนำที่ผมจะให้ได้จากประสบการณ์ที่ผมเจอมาครับ”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

Share To Social Media