‘ศิลปะบำบัด’ คือการใช้กระบวนการทางศิลปะเป็นเครื่องมือในการเยียวยาและรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยศาสตร์ดังกล่าวนั้นมีอยู่หลากหลายแนวทางด้วยกัน ตั้งแต่แนวทางที่มุ่งเน้นให้เกิดการแสดงออกผ่านงานศิลปะอย่างสร้างสรรค์ แนวทางที่ใช้ทักษะศิลปะร่วมกับความรู้ในเชิงจิตวิทยา ไปจนถึงแนวทางที่วิเคราะห์จากสิ่งที่ปรากฏในภาพและเนื้อตัวของผู้เข้ารับการบำบัด สำหรับ ทราย – พรไพลิน ตันเจริญ ผู้เป็นทั้งครูและนักออกแบบกระบวนการศิลปะ ‘ศิลปะบำบัด’ ของเธอเป็นแนวทางที่นำเอาความรู้ของศิลปะมาผสมผสานกับมนุษยปรัชญา (ปรัชญาความเป็นมนุษย์) ซึ่งโฟกัสไปกับการศึกษาถึงพื้นฐานจิตใจของความเป็นมนุษย์ เพื่อออกแบบวิธีการให้ผู้คนได้มีโอกาสสำรวจและเข้าใจจิตใจตัวเอง โดยศาสตร์ที่เธอได้เรียนรู้มา ไม่เพียงแต่จะใช้ในการดูแลใจและร้อยเรียงชีวิตให้เกิดสมดุลเท่านั้น แต่ในโรคทางกายทั้งหลาย รวมไปถึง ‘โรคมะเร็ง’ ศิลปะก็สามารถช่วยบำบัดได้เช่นเดียวกัน แล้วศาสตร์ที่ว่านี้จะสามารถช่วยเปิดประตูให้เราเข้าไปสัมผัสสิ่งที่อยู่ภายในและเบื้องลึกของชีวิตเพื่อจะนำไปสู่การมีสุภาวะที่ดีได้อย่างไร ไปฟังเธอเล่าให้ฟังในบทสัมภาษณ์นี้กัน
ศาสตร์แห่งการเยียวยาจิตใจ
ก่อนจะมาเป็นนักศิลปะบำบัดอย่างทุกวันนี้ ทรายเคยทำงานเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์มาก่อน เธอใช้ชีวิตเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไปแบบ work hard, play harder จนมาถึงจุดที่ย่ำแย่ที่สุดของร่างกายและจิตใจ เธอพบว่าเวลานั้น แม้แต่ ‘ศิลปะ’ ก็ไม่ช่วยเยียวยาเธอได้เลย กระทั่งเมื่อเธอไปพบกับ ‘ศิลปะบำบัด’ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต
“ตอนที่ทำงานใหม่ๆ ทรายเต็มที่ทั้งกับงานและชีวิตมากๆ จนวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วล้มตึงลงไปเลย เราไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งทางบริษัทสามารถหาคนมาทำงานแทนเราได้ทันที เพราะแน่นอนว่าเขาต้องหาคนมาเพื่อทำให้งานเสร็จลุล่วงตามเวลา แต่สำหรับเรา พอเจอเหตุการณ์นี้ขึ้นจึงเกิดคำถามว่า แล้วคุณค่าของเราอยู่ที่ไหนกัน เมื่อเกิดวิกฤตของชีวิต ทำไมศิลปะไม่ช่วยเยียวยาเราได้เลย พอเกิดคำถามนี้ขึ้น ทรายไปค้นหาแล้วเจอคำว่า ‘ศิลปะบำบัด’ และรู้สึกสนใจ พอดีกันกับที่สถาบัน Anthroposophy Art Therapy ซึ่งขึ้นตรงกับ Goetheanum ในสวิตเซอร์แลนด์มาเปิดหลักสูตรที่ไทยพอดี จึงมีโอกาสได้เข้าเรียน
“การได้เข้าเรียนหลักสูตรนี้เรียกว่าเบิกเนตรมากๆ เพราะทรายคิดว่าตัวเองมีทักษะเรื่องศิลปะแบบเต็มกระเป๋า กะว่าเสร็จเราแน่ๆ ไม่น่ายาก แต่พอเข้าเรียนจริงๆ คุณครูไม่สนใจเลยว่าผลงานจะออกมาสวยแค่ไหน เพราะสิ่งที่เราเรียนคือปรัชญา, การแพทย์ และศิลปะ ซึ่งใน 3 พาร์ท เราเก่งอยู่แค่พาร์ทเดียว นอกนั้นเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของทรายเกิดขึ้นตอนทรายเรียนอยู่ปีที่ 3 เพราะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมองงานศิลปะเปลี่ยนไป เวลาเห็นคนที่ทำงานศิลปะแล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้มองที่เขาทำได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสนใจคือทำไมเขามือสั่น หรือสีที่เขาใช้ทำไมสีที่ใช้จืดจางจังเลย แทนที่คุณภาพของสีควรจะเป็นแบบนี้ หรือสีในหลอดเดียวกันนี้ แต่ทำไมคน 10 คนเวลาระบายถึงได้แตกต่างกันล่ะ
“แล้วนักศิลปะบำบัดมีหน้าที่อะไร ในกระบวนการทางปรัชญา เราจะเรียนว่ามนุษย์มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ได้มาเกิดบนโลกนี้กับพ่อแม่คนนี้ด้วยภารกิจอะไร เราจะตายไปพร้อมภารกิจอะไร ดังนั้น การที่เราทำงานกับมนุษย์ เราควรจะรู้ปรัชญาความเป็นมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงการจากโลกนี้ไป พอเรารูว่าชีวิตของมนุษย์วนเวียนอยู่ในวัฏฏะที่ไม่รู้จักจบสิ้น ต้องพบกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังนั้น เมื่อเราเจอคนไข้ที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติของชีวิต อย่างเช่น ไม่ยอมรับเลยว่าฉันเจ็บ ฉันป่วย เราจะไปทำงานตรงนั้นเพื่อบอกเขาว่านี่คือสัจจะ เรื่องจริงของชีวิตนะ ทำอย่างไรให้เขาอยู่กับความจริงและยอมรับตรงนั้นให้ได้ ด้วยการทำงานกับธรรมชาติ กับความเปลี่ยนแปลงของเวลารอบตัวเพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งนี้เป็นสัจธรรม เป็นการยอมรับเพื่อให้เห็นแจ้งและนำไปสู่การเลือกชีวิตของตนเอง ไม่ใช่ศิโรราบต่อโชคชะตา”
ศิลปะบำบัดใคร
“ศิลปะบำบัดมักจะถูกใช้ควบคู่ไปกับการดูแลทางการแพทย์ เพราะเขาเชื่อว่าการแพทย์เป็นการรักษาทางกาย ขณะที่ทางใจและในระดับจิตวิญญาณ จะเป็นศิลปะนี่แหละที่เข้าทำงานกับใจ (mind and soul) ของคน ซึ่งศิลปะบำบัดสามารถใช้ได้กับใครก็ตามที่ต้องการหลุดพ้นจากปมปัญหา ความกังวล ความเครียด รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยที่กำลังเผชิญโรคทางกายต่างๆ ศิลปะจะเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าไปช่วยพาเขาไปเจอปัญหาต่างๆ ภายในร่างกายและจิตใจ เพื่อทำความเข้าใจ ช่วยปลดปล่อยพลังลบในชีวิต เพื่อเข้าใจและค้นพบทางออกที่เหมาะสมกับตัวเอง
“ใน 3 ปีที่ทรายเรียน ทรายวาดรูปเยอะมาก และนักเรียนทุกคนของทรายจะได้วาดรูปเยอะมาก ที่ทรายให้พวกเขาวาดรูปเพื่อให้รู้ว่าตนเองเป็นเช่นไรเมื่อผ่านกระบวนการของสี อย่างเช่น การใช้สีแดง ถ้าเขาใส่น้ำเยอะมากๆ จนกลายเป็นสีชมพู ทำเท่าไหร่ก็เป็นสีชมพู แต่เขาชี้บอกว่านี่สีแดง นั่นไม่ได้แปลว่าเขาผิดนะคะ แต่คือการสะท้อนให้เห็นว่าภายในใจของคนๆ นั้นเป็นอย่างไร หรือในคนที่มีความดันโลหิตต่ำ เขาจะใช้สีโทนเย็นมาก เวลาเขาใช้สีน้ำเงิน เราจะพบว่าโทนสีจะเข้มมาก เขาจะรู้สึกว่าอยู่ในนั้นแล้วสบายใจจังเลย เวลาระบายสีจะระบายช้าๆ เคลื่อนไหวช้า เพราะความดันเขาต่ำ ซึ่งถ้าเราอยากให้ความดันของเขาสูงขึ้น เราจะเพิ่มสีส้มหรือสีโทนอุ่นเข้าไปในรูปของเขา เช่น เสนอแนะว่าลองใส่พระอาทิตย์ลงไปในดูไหมคะ แล้วให้ภาพสว่างขึ้นมาเพื่อที่จะสมดุลความเย็นของสีน้ำเงิน
“อีกหนึ่งตัวอย่าง เช่น คนไข้มะเร็งที่เราพบว่าในคนไข้บางราย มักจะทำอะไรเป็นระบบระเบียบ ทำแบบเดิมๆ ซ้ำๆ สมมติว่าให้เขาลองวาดรูปก้อนเมฆ เขาจะวาดก้อนเมฆก้อนเท่าๆ กัน เรียงแถวเป็นเส้นตรง โดยจะไม่สามารถวาดกระจัดกระจายแบบที่เราเห็นบนท้องฟ้าได้ ภาพที่ออกมาจะเป็นระเบียบ แต่ไม่เป็นธรรมชาติ นั่นทำให้เห็นว่าแม้แต่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ เขายังเรียงให้เป็นระเบียบเลย ดังนั้น เราจะต้องไปคุยแล้วว่าในชีวิตประจำวันของเขา บุคลิกลักษณะ และความรู้สึกนึกคิดของเขาเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วหรือเปล่า หรือเขามีปัญหากับบุคลิกและความคิดอย่างนั้นของเขาไหม หลังจากผ่านกระบวนเหล่านี้แล้ว เราจะมาดูว่าเราใช้วิธีไหนในการแก้ไขสิ่งที่เขาเป็น
“ในทางศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ภาพศิลปะที่ออกมานอกจากจะสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในความคิดและใจของเขาได้และยังสามารถบ่งบอกถึงเซลล์ภายในได้ อย่างเช่น เซลล์มะเร็งที่จะจำลองตัวเองซ้ำๆ แล้วสร้างตัวจากก้อนเล็กไปเป็นก้อนใหญ่ เป็นเนื้อเยื่อที่สร้างเครือข่ายให้ตัวเองอย่างเป็นแพทเทิร์น ดังนั้น คนที่เป็นมะเร็งจึงมีแนวโน้มว่าจะทำงานเป็นแพทเทิร์นได้ดี ทีนี้สิ่งที่ทรายจะทำคือ ถ้าสมมติว่าแพทเทิร์นนี้เกิดขึ้นแล้วเราอยากให้คลายลง เราจะใช้สีน้ำด้วยเทคนิค wet on wet กับคนคนนี้ เพื่อให้เขาทำงานแบบอื่นบ้างที่ไม่ใช่กับการทำงานแบบที่เป็นแบบแผน (pattern) ที่ตัวเองสร้างขึ้น แต่จะให้ไปสังเกตธรรมชาติเยอะๆ เพราะในธรรมชาติเองก็มีความเป็นระเบียบ แต่เป็นความเป็นระเบียบที่ไม่ได้ถูกบังคับ งานที่ให้ทำก็เช่น ไปเดินในสวน จัดดอกไม้ วาดรูปวิวทิวทัศน์ เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงแบบที่ธรรมชาติเป็นจริงๆ และทั้งหมดที่เล่ามาคือการทำงานภายใต้ความเห็นของแพทย์เท่านั้น
“เหล่านี้คือการทำงานของทรายในศิลปะบำบัดแนวมนุษยปรัชญา ดังนั้น เราจะไม่ตีความรูป เพราะมีเพียงเจ้าของรูปเท่านั้นที่จะบอกเราได้ แต่งานของทรายคือการออกแบบกระบวนการโดยการ เลือกใช้สีและเทคนิค หรือวัสดุศิลปะที่เหมาะสมเพื่อปรับให้ภาวะด้านในของเขากลับมาสู่ภาวะสมดุล”
ใจเปิดกว้าง ละวางอคติ
“การทำงานศิลปะบำบัด เอาจริงๆ ทรายไม่ได้อะไรเลยในเรื่องทักษะ ซึ่งถ้าถามตัวเองตอนอายุ 27 ที่ยังเป็นนักออกแบบคิดว่าตัวเองเก่งศิลปะ แล้วมาเรียนศิลปะบำบัดใหม่ๆ ทรายอยากจะหันไปบอกตัวเองตอนนั้นว่า “มาทำอะไรของแกเนี่ย เขาไม่ได้ดูเรื่องทักษะศิลปะอะไรเลย ตื่น!” แต่ว่าสิ่งที่ได้จะเป็นเรื่องชีวิต เรื่องปรัชญา กลายเป็นว่าอินกับปรัชญามากๆ เลย แล้วเปิดรับทุกอย่างที่เข้ามา ทุกศาสนา ทุกคำสอน ได้รู้ว่าชีวิตเราก็เท่านี้ สุดท้ายมนุษย์ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย พอเรามีความคิดแบบนี้เกิดขึ้น ทรายเลยคิดว่าในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ เราจะทำอย่างไรให้ตัวเองมีความสุข แต่ไม่ปฏิเสธความทุกข์
“การมาเรียนศิลปะบำบัดและใช้ศิลปะเพื่อฝึกตัวเอง ทำให้ทรายได้ฝึกใจเยอะมากๆ ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ทรายอาจจะเคลื่อนไหวและหวั่นไหวไปกับความรู้สึกที่เข้ามาได้ง่าย เช่น มีคนมาว่า ฉันโกรธ มีคนมาทำให้ฉันเศร้า ฉันร้องไห้ แต่เมื่อได้ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เหตุการณ์ที่พูดมาทั้งหมดนี้จะเกิดได้ยากขึ้น เพราะเข้าใจมันมากขึ้น อารมณ์จะเป็นประมาณว่า เศร้านะแต่ไม่ขนาดนั้น เห็นความเสียใจของตัวเองนะแต่ไม่สะเทือนเพราะแยกอารมณ์ออกจากเหตุผล ทำให้จากปกติ เมื่อทุกข์ปุ๊บ เราจะพุ่งไปหาคนอื่น แต่พอได้ฝึกใจมาประมาณหนึ่ง ทรายพบว่าทรายสามารถเรียกตัวเองกลับมาได้เร็วได้ด้วยตัวเอง และมองเรื่องที่ทำให้เป็นสุขหรือทุกข์เป็นเรื่องไม่จีรัง ตอนนี้ทรายพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นอยู่ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีอยู่เท่านี้ จะไปเสียเวลาเป็นทุกข์ทำไม คนที่พูดเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วเราจะไปโมโหเขา แล้วให้ความโมโหอยู่กับเรานานๆ แบบนี้เหรอ ทรายจึงสนุกกับการใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้นเยอะ”
บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ปลดล็อกใจเราด้วยตัวเรา
“ลองสังเกตง่ายๆ ส่วนใหญ่เมื่อมีความทุกข์ คนเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราหาย เช่น ไปหาหมอ คุยกับเพื่อน ไปปรึกษาผู้รู้ หรือถ้ามีความสุขก็จะไปขอพรให้ได้มาอีก หรือให้อยู่กับเรานานๆ ทั้งที่วิธียั่งยืนกว่าคือ ‘การจัดการกับใจของเราเอง’
“หลักใหญ่ใจความของศิลปะบำบัด คือให้ศิลปะพาเราไปเข้าใจว่าเราเกิดมาเพื่ออะไรในภพชาตินี้ ให้รู้ว่าชีวิตประกอบไปด้วยความสุขและความทุกข์ ชีวิตมอบภารกิจนี้มาให้เรา เมื่อเรารู้ตัว เราจะสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือได้ถูก ซึ่งศิลปะบำบัดเป็นเครื่องมือที่ดีที่ให้เรารู้วิธีจัดการกับตัวเอง โดยวิธีการจัดการจะคล้ายๆ กับการนั่งสมาธินั่นแหละ ดังนั้น นิยามของศิลปะสำหรับทรายจึงเป็นได้ทุกอย่าง ทำตอนไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คุณสามารถจดจ่ออยู่กับมันในชั่วระยะเวลาหนึ่ง หากลองสังเกตเวลาที่เรามีสมาธิ เราจะมีโอกาสได้หยุดนิ่ง ได้สำรวจและรู้เท่าทันจิตใจตัวเองว่าตอนนี้เราทำอะไรและรู้สึกอย่างไร แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ทำให้รู้สึกสงบและนิ่งขึ้นได้ ใจที่ผ่านการฝึกมาจนเกิดสมาธิจะทำให้เวลาเราคิด พูด และทำจะมาพร้อมสติเสมอ และสติจะสอนให้เราดำเนินชีวิตอย่างละเมียดละไมมากขึ้น
“จนถึงตอนนี้ทรายยังวาดรูปทุกวัน หรือวันไหนที่อยากรู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร ทรายจะวาดรูปออกมา มันช่วยให้เราเห็นและจัดการความไม่สบายใจของตัวเอง ส่วนใครก็ตามที่อยู่ในห้วงของความไม่สบายกายและใจ และถ้าคุณเลือกว่ากระบวนการของคุณจะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ จุดสำคัญคือคุณไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าคุณทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ไม่ต้องตั้งชื่อ หรือหาความหมาย แต่ให้ศิลปะเป็นวิธีในการฝึกและปฏิบัติ ถ้าคุณชอบขีดเส้น ลองใช้การขีดเส้นเป็นการฝึกไปแบบนั้น เริ่มจากเวลาสั้นๆ วันละ 5 นาที 10 นาที ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นครึ่งชั่วโมง เป็นชั่วโมงหนึ่ง ทรายเชื่อว่า 1 ปี ผ่านไป รูปแรกกับรูปปัจจุบันของจะไม่เหมือนกัน นั่นแสดงว่าเราได้เติบโตมาจากจุดเดิมนั้นแล้ว
“หรือถ้าไม่ใช่ศิลปะ จะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ คุณอาจจะลองจากการหั่นแครอทให้เป็นชิ้นขนาดเท่าๆ กัน ในวันแรกแครอทบนเขียงอาจจะเบี้ยวบ้างอะไรบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทรายเชื่อว่าแครอทนั้นจะเริ่มเท่ากัน จนวันหนึ่งคุณจะสามารถหั่นได้สวยโดยที่ไม่ต้องมองเขียงอีกแล้ว ซึ่งสิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้ระหว่างการหั่นแครอทคือการรู้เนื้อ รู้ตัว รู้ว่าทำอะไร ซึ่งหากเราทำได้เช่นนี้บ่อยขึ้นๆ เราจะเกิดความชำนาญในการรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเองและการจัดการความรู้สึกนั้นได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เมื่อเราเจอความทุกข์ เราจะรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร เรารู้ว่าต้องอยู่ในนั้นก่อนสักแป๊บนึงนะ แล้วถ้าต้องอยู่ในความทุกข์นั้น เราต้องเตรียมอะไรใส่เป้ของเราบ้าง เราฝึกอะไรมาแล้วบ้าง หยิบขึ้นมาใช้เสียเพื่อให้พร้อมตั้งรับกับความทุกข์นั้น ระหว่างที่คุณกำลังวุ่นกับการเตรียมตัวอยู่นั้น คุณจะพบเองว่า “โอ๊ะ ความทุกข์ผ่านไปแล้วนี่ ความทุกข์ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปนี่นา” เพราะชีวิตมีแค่นั้นจริงๆ นะคะ ดังนั้น ทรายว่าเรารื่นรมย์ไปกับชีวิตกันดีกว่าค่ะ (ยิ้ม)”
เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร