ในเชิงพุทธศาสนานั้นยกย่องให้ ‘การตื่นรู้’ เป็นสภาวะสำคัญในการเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดที่มีคุณค่าคือเกิดมาและได้ฝึกฝนเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตตามสัญชาตญาณไปสู่การดำรงชีวิตด้วยปัญญาญาณ พูดง่ายๆ ว่า การตื่นรู้เป็นปัญญาญาณที่ทำให้เราเห็นคุณค่าความหมายอันงดงามของชีวิต และเราทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อตื่นรู้ความหมายอันงดงามนี้…ในวันใดวันหนึ่ง
ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทฤษฎีตายตัว เราล้วนมีวิถีการตื่นรู้แตกต่างจำเพาะไปตามแต่ละบุคคล บ้างตื่นรู้จากเรื่องราวแจ่มใส เบิกบาน ไม่น้อยก็ตื่นรู้จากปัญหาขุ่นมัว เศร้าหมอง จนรู้แจ้งความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นวิถีใด การตื่นรู้ย่อมนำมาซึ่งความหมายในการมีชีวิตอยู่ที่เปลี่ยนไปตลอดกาล
หนึ่งในนั้นก็คือ พอลลีน-พิมลพัชร์ ธนุสุทธิยาภรณ์ แฟชั่นดีไซเนอร์วัย 35 ปี เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Taupe ที่พ่วงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของไทย บี บี ฟรุท ผู้ผลิตและนำเข้าขนมหวานชนิดต่างๆ ที่ครองใจวัยรุ่นฟันน้ำนมมากว่า 40 ปี เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมในวันที่ชีวิตกำลังไปได้สวย ท่ามกลางความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามา เธอกลับมองเห็น ‘ชีวิต’ ในอีกมุมหนึ่ง

“ความคิดแรกก็คือ ตายแน่! ฉันคงต้องหัวล้านแล้วตายไปในที่สุด (หัวเราะ) เพราะมุมมองเกี่ยวกับมะเร็ง ณ วันนั้น มะเร็งเท่ากับตาย ทำให้เราทุกข์ใจมากๆ และเสียใจที่สุดที่ต้องทิ้งสามีให้อยู่คนเดียว ด้วยความที่เขาเป็นชาวแคนาดาและย้ายมาอยู่สิงคโปร์เพื่อจะใช้ชีวิตกับเราได้เพียง 3 ปี จึงเป็นห่วงเขามาก ยิ่งไปกว่านั้นก็ห่วงพ่อแม่และพี่ๆ ทั้งสี่คน เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความห่วงกังวลถึงคนอื่นทั้งหมด
“ทุกข์ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ กระทั่งวันหนึ่งก็เกิดโมเมนต์เหมือนรีเฟล็กซ์กับตัวเองว่า ตลอดระยะเวลาที่เราเสียใจ เป็นทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และเอาแต่ถามตัวเองซ้ำๆ ว่า ทำไมต้องเป็นเรา หรือนั่งรถออกไปเห็นคนเดินถนนแล้วอิจฉาที่เขาไม่ได้เป็นมะเร็ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราเติบโตขึ้นเลย ตรงกันข้ามจิตใจของเรากลับดาวน์ดิ่งลงเรื่อยๆ จนทำให้เราคนเดิมที่สามารถเรียนรู้และดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจ…หายไป
“เราเริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่นั้นเริ่มไร้ประโยชน์ และเราไม่อยากเสียเวลาไปกับความเสียใจในเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว เราทุกข์มาจนถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจะจมทุกข์อยู่กับอดีตหรือเดินต่อไปข้างหน้าด้วยการยอมรับความจริง และไม่กลับมาจมทุกข์อีกแล้ว ซึ่งพอลลีนก็เลือกอย่างหลัง”

แรกเริ่ม
“ย้อนหลังกลับไปราวปลายเดือนกันยายน 2567 ด้วยความที่เรามี TikTok พอลลีนก็จะรับงานรีวิวอยู่บ้าง ซึ่งตอนนั้นก็ได้งานรีวิวแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมา ซึ่งโดยปกติเราตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์มาก่อนเลย ด้วยความที่อายุเพิ่ง 35 ปี เราจึงรู้สึกว่ายังไม่ถึงวัยที่จะตรวจ และหากจะตรวจก็คงรอให้ถึง 40 ปีก่อน เพราะทั้งคุณแม่และพี่สาวทั้งสามคนของเราก็เริ่มตรวจเต้านมตอนอายุ 40 ปี
“ที่ผ่านมาการตรวจสุขภาพประจำปีก็ไม่มีอะไรน่าห่วง ด้วยความที่เราถูกสอนให้ดูแลสุขภาพอย่างดีมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งเรื่องการกิน การนอน และการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้ไลฟ์สไตล์ของพอลลีนก็คือ กินดี นอนดี และออกกำลังกาย ตั้งแต่จำความได้คุณแม่ของพอลลีนจะเคร่งครัดมากเรื่องการกิน เราถูกสอนให้เลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ไม่กินขนมกรุบกรอบ ขนมซองๆ น้ำอัดลม หรือฟาสต์ฟู้ดใดๆ เลย ฯลฯ ทำให้กลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเรามาจนโต และพอลลีนแน่ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เลยว่ามะเร็งในเคสของเรานั้นไม่ได้มาจากปัจจัยเรื่องการกินหรือไลฟ์สไตล์แน่นอน
“ด้วยความที่เป็นงาน เราจึงไม่อยากปฏิเสธ ซึ่งยอมรับว่านี่คือความโชคดีในโชคดีมากๆ เพราะหลังจากตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์แล้ว คุณหมอก็ทักว่าพบสิ่งผิดปกติที่เต้านมด้านขวาและแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งเราก็ตัดสินใจว่าเจาะเลย คุณหมอก็เจาะให้ในวันนั้นเลย”

เรียนรู้
“อีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมา คุณหมอก็นัดให้เข้ามาฟังผลชิ้นเนื้อ ด้วยความคิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งคือ 0 เปอร์เซ็นต์ เราก็ยังบ่นกับพี่ๆ ว่า ทำไมต้องนัดไปฟัง โทรมาบอกผลก็ได้มั้ง (หัวเราะ) แต่โชคดีที่วันนั้นเป็นช่วงที่สามีมาเมืองไทยพอดี จึงชวนให้ไปฟังผลด้วยกัน คุณหมอแจ้งผลเป็นภาษาไทย แน่นอนว่าสามีที่นั่งอยู่ข้างๆ ฟังไม่รู้เรื่อง และหลังจากคุยกับคุณหมอจบ เราก็หันมาบอกกับสามีว่า พอลลีนเป็นมะเร็งนะ สามีก็บอกว่า พอรู้แล้วละ เพราะ 20 กว่านาทีที่คุยกับคุณหมอ สามีจะได้ยินคำว่า ‘มะเร็ง’ อยู่หลายๆ ครั้ง และคิดว่าน่าจะหมายถึง cancer นี่แหละ
“สิ่งที่สามีทำกับเราก็คือทำทุกอย่างให้ดูปกติ ไม่พยายามผลักความคิดเห็นของเขาให้กับเรา หากแต่พยายามเข้าใจเรา แม้จะเข้าใจได้ไม่ทั้งหมด แต่เขาก็พยายาม โดยประโยคหนึ่งที่เขามักจะถามในวันที่เราเสียใจหรือกังวลมากๆ ก็คือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจมากที่สุด
“6 ปีกับความสัมพันธ์ตั้งแต่พบกัน เป็นแฟนกัน กระทั่งแต่งงานกันมา ไม่มีวันไหนที่เราทะเลาะกันเลยสักครั้ง และความสัมพันธ์ของเรามันดีมากๆ เฮลตี้มากๆ แต่ในวันที่เราเป็นมะเร็งแล้วเรากอดสามี เสียใจ ร้องไห้ เราเพิ่งเข้าใจประโยคที่ว่า มีรักย่อมมีทุกข์ เราได้เห็นสัจธรรมของความรักอย่างแท้จริงในวันนั้น จากที่เคยคิดว่ารักของเรามันดีจังเลย แต่ต่อให้ความรักดีแค่ไหน สุดท้ายก็ทุกข์อยู่ดี
“พอลลีนรู้สึกว่าครั้งนี้เป็นการเรียนรู้ รู้แจ้ง และเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในการเกิดเป็นมนุษย์ของเราเลยก็ว่าได้ เราเข้าใจว่า อ๋อ…ชีวิตคนเราเกิดมาก็ต้องเรียนรู้อย่างนี้แหละ ถ้าเกิดมาแล้วไม่ยอมเรียนรู้ ก็คงไม่เติบโต การเกิดนั้นก็ย่อมเสียเปล่า”

เข้าใจ
“นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะปลูกฝังเรื่องการปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่เรามีความทุกข์ เราก็จะย้อนกลับไปหาธรรมะและคำสอนของพระพุทธองค์ พยายามทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาด้วยใจที่เปิดกว้างและเข้าใจ
“หลังรู้ผลคืนนั้นพอลลีนเข้าไปนั่งในห้องพระและเอาแต่ถามคำถามเดิมๆ ว่า Why Me? ทำไมต้องเป็นเรา ทำไมๆๆๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เริ่มได้สติก็อธิษฐานกับพระพุทธรูปตรงหน้าว่า ชีวิตนี้พอลลีนยังเรียนรู้ได้ไม่เข้าใจมัน 100 เปอร์เซ็นต์เลย ขอโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อจะเรียนรู้ชีวิต ทำความเข้าใจธรรมะและสัจธรรมของชีวิตให้ได้มากกว่านี้ เรายังไม่อยากให้มันจบวันนี้ ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนบอกกับตัวเองไปด้วยว่า ให้ลองสู้และขอให้โลกใบนี้ช่วยให้เราได้มีชีวิตอยู่ต่อ
“วันรุ่งขึ้น ทันทีที่เราลืมตาตื่นขึ้นมา ก็ยังมีความรู้สึกตัดพ้อทำนองว่า เฮ้ออออ…ทำไม Story ในชีวิตเราต้องเป็นอย่างนี้ ก็ยังอยู่ แต่เราก็พยายามจะไม่จมไปกับมันและเดินหน้าปรึกษาคุณหมอ 3 ท่าน เพื่อขอ Second Opinion โดยระหว่างนี้จะมีเพียงสามี พี่สาว 3 คน และพี่ชายเท่านั้นที่รู้ เพราะเราไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ต้องมาทุกข์ เครียด หรือกังวลไปกับเรา
“กระทั่งเช้าวันหนึ่ง คุณพ่อก็ส่งพุทธพจน์บทหนึ่งมาให้ ซึ่งเป็นปกติทุกวันอยู่แล้วที่ท่านจะส่งคำคมหรือธรรมะมาให้เราผ่านทางไลน์ แต่แปลกที่วันนั้นพุทธพจน์บทเดิมนี้ปรากฏให้เราเห็นถึง 3 ครั้ง จากต่างที่ต่างเวลากัน โดยที่เราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอัลกอริทึม (Algorithm) หรือเปล่า แต่ก็เป็นประโยคที่ทำให้เราได้ฉุกคิด ซึ่งประโยคนั้นก็คือ
“พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
เมื่อเล็งเห็นประโยชน์สูงสุด
พึงสละทั้งอวัยวะและชีวิต
เพื่อรักษาธรรมไว้”
“จำได้ว่าโมเมนต์นั้นทำให้เรายอมที่จะสละชีวิตได้ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเรายอมตาย แต่เป็นการสละความยึดติดถือมั่นในชีวิตนี้ เพื่อมีธรรมะในจิตใจ เพื่อเราที่จะได้เรียนรู้ต่อ และนี่คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของพอลลีนเลยก็ว่าได้ เพราะนั่นทำให้เราเปลี่ยนจากความคิดที่ว่า ‘ชีวิตต้องเป็นแบบที่เราต้องการ’ มาเป็น ‘ชีวิต…ไม่ว่าขึ้นหรือลง ทุกข์หรือสุข it’s OK’ เหมือนประโยคที่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมดีเสมอ หลังจากนั้นเราเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตใหม่ เป็นมุมมองที่ทั้งชีวิตที่ผ่านมาเราไม่เคยมีมุมมองนี้เลย”

เติบโต
“หลังจากผ่าตัดสงวนเต้าผ่านไปไม่นาน ก็ทราบผลว่าตัวเองเป็นมะเร็งในท่อน้ำนมชนิด ‘มิวซินัส’ (Mucinous Carcinoma) ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม (Ductal carcinoma in situ) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า DCIS อีกทั้งยังเป็นในระยะ 0 เท่านั้น
“เราได้คำตอบเหล่านี้ในวันที่เราเอาชนะ (overcome) ความทุกข์ ความกลัว และความคิดที่ว่า ฉันตายแน่! มาแล้ว (หัวเราะ) และคุณหมอก็บอกว่าเราโชคดีที่พบในระยะนี้ และเข้าสู่การรักษาได้ไว แต่เหตุการณ์นี้ก็ตอกย้ำให้เรารู้ว่า บางทีสิ่งที่เรามองไม่เห็นก็น่าจะมีอยู่จริง
“หลังพักฟื้นจากผ่าตัด 1 เดือน พอลลีนก็เข้าสู่กระบวนการฉายแสงทั้งหมด 16 แสง โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก็จบการฉายแสง จากนั้นก็รับประทานยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี”

ผลิบาน
“ทุกวันนี้ วิถีชีวิตของพอลลีนไม่ได้เปลี่ยน ยังโฟกัสกับการกินดี นอนดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมือนเดิม แต่เปลี่ยน Mindset ใหม่หมด เริ่มจากการจัดเรียงลำดับความสำคัญในชีวิต จากเมื่อก่อนเป็นคนบ้างาน (Workaholic) ต้องทำงานทุกชิ้นออกมาให้ดีที่สุด แต่พอมะเร็งเข้ามา เราได้เรียนรู้ว่า ชีวิตมันมีอะไรที่มากกว่านั้น…
“ในวันที่เราป่วย มีอาการข้างเคียงจากการฉายแสง เราเห็นภาพตัวเองเหมือนปลาที่กำลังนอนพะงาบๆ บนเตียง ทำอะไรไม่ได้เลย จะลุกนั่งก็ไม่ได้ กินก็ไม่ได้ แม้แต่จะนอนหลับก็นอนไม่ได้ วินาทีนั้นเรารู้เลยว่า มันไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าสุขภาพ จิตใจ และร่างกายของเรา
“ทุกวันนี้พอลลีนจะบอกกับคนรอบข้างเสมอว่า อย่าบอกว่าตัวเองไม่กลัวตาย ถ้ายังไม่ได้จะตายจริงๆ เราไม่มีวันรู้หรอกว่า ความตายมันน่ากลัวแค่ไหน พอลลีนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ความตายมีอยู่จริง แต่เกือบทั้งหมดมักคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว หรือคิดว่าอายุยังไม่ถึงวัยใกล้ความตาย โดยหลงลืมไปว่าความตายไม่ได้เลือกวัย
“ทุกคนเกิดมาพร้อมแพ็กเกจดูโอ คือ เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีแก่ มีเจ็บ มีตาย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่นึกว่าเราจะแก่ เจ็บ ตาย และใช้ชีวิตไปโดยหลงลืมความจริงข้อนี้ไป พอลลีนก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น เรามักคิดว่า ไม่ตายวันนี้หรอก เรามักคิดว่า เราอยู่ห่างไกลจากความตาย เรามักคิดว่า เวลาของเรายังมีอีกเยอะ แต่พอมะเร็งเข้ามาเรารู้เลยว่า ความตายมีอยู่จริงและกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ มะเร็งทำให้เราใช้ชีวิตอย่างตระหนักถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจ”
___
เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : วุฒินันท์ จันโทริ