พิชามญชุ์ เอนกวรกุล กับโมงยามแห่งการเดินทางรอบโรค

ในยุคสมัยที่ Google ตอบได้เกือบทุกคำถาม ความรู้ทุกแขนงสามารถหาได้เพียงพิมพ์คำสั้นๆ และเสิร์ชหา แต่กับบางคำถามก็อาจจะไม่มีทางล่วงรู้คำตอบได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส หากต้องรอจนกว่า ‘ชีวิต’ จะทยอยส่งมอบบทเรียนสำคัญให้เราได้เรียนรู้ ยอมรับ กระทั่งน้อมรับ จนเข้าใจอย่างถ่องแท้ 

ซังซัง-พิชามญชุ์ เอนกวรกุล เป็นอีกคนหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพลังความคิดสร้างสรรค์ล้นเหลือ เธอมีฝันเหมือนๆ กับคนวัยเดียวกัน และเคยใช้ชีวิตที่เหมือนว่าจะมีพรุ่งนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ ‘ความกลัว’ ได้แทรกซึมเข้ามาในชีวิต นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองและค้นหาคำตอบผ่านการสะสมสารพัดสารพันความรู้ทีละนิด จนเริ่มมองเห็นและเข้าใจความไม่แน่นอนของ ‘ชีวิต’ มนุษย์

และนั่นกลายมาเป็นเทคนิคที่เธอใช้รับมือกับอุปสรรคต่างๆ นานา รวมถึงสถานะการเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ชนิด HER2 Positive มะเร็งที่มีแนวโน้มความรุนแรงของโรคสูงขึ้น และจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะพบ HER2 positive ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับยีนส์ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงทำให้เกิดมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมอง มะเร็งกระดูก เป็นต้น

“ออกตัวก่อนว่าซังเป็นคนที่ไม่ชอบเข้าวัด ทำบุญ ฟังธรรม หรือปฏิบัติธรรมใดๆ เลย แต่สกิลหนึ่งที่ติดตัวมาแต่ไหนแต่ไรก็คือ ซังจะเป็นคนที่มองว่าการเกิด-แก่-เจ็บ-ตายเป็นเรื่องธรรมดา จำได้ว่าอายุราว 15 ปี จู่ๆ วันหนึ่งเราเกิดความรู้สึก ‘กลัวตาย’ ขึ้นมาเฉยๆ เข้าใจว่าน่าจะมาจากความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ของตัวเองในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ฐานะ ความเป็นอยู่ ฯลฯ ทุกอย่างในชีวิตเรามันดีไปหมด แม้จะไม่ได้สุขสบายตลอด แต่คุณพ่อคุณแม่ก็เลี้ยงดูเราอย่างไม่เคยลำบากและให้อิสระทุกอย่าง กอปรกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบคิด วิเคราะห์ รู้อะไร เห็นอะไร เราก็มักจะมาคิดต่อ เช่น เรียนเรื่องพุทธประวัติเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ ความสุขสบายของเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อเสด็จออกผนวช เราก็จะตั้งคำถามขึ้นว่า ทำไมพระองค์ทรงเลือกทางนั้น หรือแม้แต่การอ่านวรรณกรรมเด็กหลายๆ เรื่อง นอกจากเรื่องราวความสนุกในเนื้อเรื่องแล้ว เราก็จะตั้งคำถามว่า ทำไมตัวละครนั้นรวยแล้วจน หรือ ทำไมคนเรามีเกิดแล้วต้องมีดับ ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ทุกๆ เช้าที่คุณแม่ขับรถไปส่งที่โรงเรียน ท่านจะเปิดวิทยุฟังรายงานการจราจร และก่อนจะจบการรายงานทุกครั้ง ผู้จัดรายการก็จะทิ้งท้ายด้วยคำสอนของท่านพุทธทาสเสมอ โดยวลีหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเรามาตลอดก็คือ ‘ตัวกูไม่ใช่ของกู’ 

“การสะสมคอนเทนต์เหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต จนเกิดเป็นความกลัวและเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ถ้าเราตายแล้ว…ยังไงต่อ’, ‘ชาติหน้ามีจริงไหม’, ‘เกิดแล้วดับหายไปเลยหรือเปล่า’, ‘จะไม่มีเราแล้วจริงๆ เหรอ’ ฯลฯ ยิ่งถามก็ยิ่งกลัว และพอเกิดความกลัวตาย ความกลัวอื่นๆ ก็เข้ามา เช่น กลัวเจ็บ กลัวป่วย กลัวแก่ กลัวไม่สำเร็จ ฯลฯ นั่นทำให้เราเริ่มศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มาเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งก็ไปซื้อหนังสือ ‘คู่มือมนุษย์’ ของท่านพุทธทาสมาลองอ่าน และเริ่มเข้าใจสิ่งที่ตัวเราควบคุมไม่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ชีวิต’ ของเราเอง ที่จาก ‘มี’ มันกลายเป็น ‘ไม่มี’ ได้ตลอดเวลา และสุดท้ายความตายก็เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด”

ชีวิตที่ผิดแผน

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เธอมุ่งมั่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานกว่า 5 ปี ก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจที่ Imperial College London ประเทศอังกฤษ และกลับมาใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์เงินเดือนอยู่เพียงไม่นาน เธอก็บอกลาความโสดและเข้าสู่ประตูวิวาห์ พร้อมวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและฮันนีมูนกับสามี โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งสองต้องพร้อมใจลาออกจากงานประจำก่อนออกเดินทาง

“เราทั้งสองคนอยากเดินทางท่องเที่ยวผจญภัยไปหลายๆ ประเทศในวัยที่ร่างกายยังไหว และยังไม่มีภาระอะไรที่ต้องเป็นห่วง คุณพ่อคุณแม่ก็ยังดูแลตัวเองได้ จึงวางแผนจะไปผจญภัยกันเต็มที่ เตรียมตัวก่อนออกเดินทางกว่า 3 เดือนเต็ม ไม่ว่าจะเป็นการสมัครอบรม Free Dive กินคลีน ฟิตร่างกาย ทั้งโหนบาร์ ปีนเชือก ฯลฯ เพื่อตั้งใจจะลงแข่งขันวิ่งวิบาก สปาร์ตัน เรซ (Spartan Race) และหลังจากลาออกจากงาน ก็จองตั๋ว จองที่พัก จองซาฟารี ทำวีซ่า ฯลฯ แพลนทริปไว้เกือบเรียบร้อยหมดแล้ว  

“จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ช่วงนั้นอยู่ระหว่างเดินทางไปงานรับปริญญาของน้องชายสามีที่อังกฤษ ก็มีนัดสังสรรค์กับเพื่อนๆ ที่นั่น ด้วยความที่เราเป็นคนรักสุขภาพ เลือกกินอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไม่ค่อยแตะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สักเท่าไร ทำให้คืนนั้นดื่มกับเพื่อนไปแค่ 2 แก้ว ก็มีอาการใจเต้นเร็วขึ้นมา พอกลับมาที่พักก็ยังไม่หาย จะนอนก็นอนไม่หลับ จึงลองใช้มือนวดๆ คลึงๆ ที่บริเวณหัวใจ คิดว่าจะช่วยให้อาการดีขึ้น แต่ปรากฏว่ามือก็ดันไปคลำเจอก้อนแข็งๆ ที่หน้าอกด้านซ้าย และจากที่เป็นนักอ่านตัวยง ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเป็นก้อนเนื้อที่แข็ง ไม่เจ็บ มีโอกาสสูงที่อาจจะเป็นมะเร็งมากกว่าก้อนที่คลำแล้วเจ็บ ณ นาทีนั้นก็รู้สึกแล้วว่าก้อนที่เป็นอยู่นั้นเข้าข่ายจะเป็นมะเร็งสูงทีเดียว

“แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะยังต้องอยู่ที่อังกฤษต่ออีก 10 วัน ระหว่างนั้นก็เล่าให้สามีฟัง และกำชับว่ายังไม่ต้องบอกใคร เพราะกลัวทุกคนที่มาด้วยจะเป็นกังวลไปกับเรา จากนั้นเราก็ปล่อยจอยไปกับการเดินทาง จนกระทั่งเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยวันแรกก็เสิร์ชหาโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งเต้านม และนัดหมายกับแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจภายในสัปดาห์นั้นเลย

“หลังจากคุณหมอตรวจอัลตราซาวนด์แล้ว ก็ขอตรวจแมมโมแกรมเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลกับเราว่า ดูเหมือนว่าจะมีหินปูน ซึ่งพอผลแมมโมแกรมออกมาพบค่า BIRADS 5 หมายถึง พบสิ่งผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้สูง 

“ทางคุณหมอจึงแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจในวันนั้นเลย จากนั้นก็กลับมารอผลประมาณ 3 วัน จำได้ว่าประมาณวันเสาร์ เจ้าหน้าที่ก็โทรมานัดให้กลับมาฟังผลในวันรุ่งขึ้น ก่อนจะถามย้ำๆ ว่า มาได้ไหมคะ โดยแจ้งว่าตามปกติวันอาทิตย์จะไม่ใช่เวรคุณหมอ แต่คุณหมอจะมาเพื่อแจ้งผลเราโดยเฉพาะ ตอนนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่า ผลชิ้นเนื้อน่าจะออกมาไม่ดีแน่ๆ จึงคุยกับสามีให้เตรียมใจว่าแผนการเดินทางที่วางไว้น่าจะพังแล้ว”

ความป่วยเป็นธรรมดา

“เพราะรู้อยู่แล้วว่าความป่วยนั้นเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ และก่อนหน้านั้น ผลแมมโมแกรมก็ทำให้พอรู้ว่าก้อนที่เป็นอยู่นั้นมีขนาดแค่ 2 เซนติเมตร ยังคงอยู่ในระยะที่ยังรักษาได้ ทำให้พอคุณหมอแจ้งว่า ผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นมะเร็งอย่างที่คาดเอาไว้ เราจึงไม่ได้ตกใจหรือร้องไห้ฟูมฟาย ตรงกันข้ามกลับพูดคุยและสอบถามคุณหมอถึงประเภทของมะเร็งที่เป็น แผนการรักษา รวมถึงการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที ซึ่งคุณหมอก็ตอบอย่างละเอียด ก่อนจะถามกลับมาว่า ‘ผ่าตัดพรุ่งนี้เลยไหม’

“ด้วยความที่เราไม่เคยผ่าตัด ไม่เคยผ่านประสบการณ์การวางยาสลบมาก่อนเลย จึงขอเลื่อนเป็นอีกสองวันถัดมา เพื่อกลับไปเตรียมตัวเตรียมใจก่อน (หัวเราะ) พอกลับมาถึงบ้านคืนนั้น ไม่ได้นอนเลยทั้งคืน เพราะต้องนั่งยกเลิกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ โดยแนบใบรองรับแพทย์ไปพร้อมคำร้อง ‘ขอเงินคืน’ เนื่องจากต้องรักษาตัวจากอาการป่วยจึงไม่สามารถเดินทางได้ในวันเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งก็ได้เงินคืนเกือบทั้งหมด

“กระทั่งถึงวันผ่าตัด นอกจากการผ่าตัดแบบสงวนเต้าแล้ว คุณหมอก็ยังนำชิ้นเนื้อพร้อมกับต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ส่งตรวจอีกครั้ง และผลออกมาว่ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง เราจึงเป็นแค่ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 1 ซึ่งก็ยิ่งทำให้เราไม่มีความกลัวใดๆ เลย และรู้สึกว่ามะเร็งระยะนี้คงไม่ทำให้เราตายหรอก

“หลังจากกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน นอกจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษามะเร็งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจคาแรกเตอร์มะเร็งที่เราเป็นอยู่ว่าคืออะไร และไล่ดูคลิปความรู้จากคุณหมอด้านมะเร็งใน YouTube แล้ว เรายังไปขอ second opinion และ third opinion กับคุณหมอเก่งๆ เพิ่มเติมอีก 2 ท่าน จนสุดท้ายก็ได้แนวทางการรักษาที่ตรงความต้องการ รวมถึงตรงกับแนวทางการรักษาจาก National Comprehensive Cancer Network (NCCN Guidelines) เครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลที่สุดก็คือ การให้คีโม Paclitaxel ติดต่อกัน 12 สัปดาห์ ควบคู่กับยาพุ่งเป้า 18 ครั้งทุก 3 สัปดาห์ และฉายแสง 25 ครั้ง จากนั้นก็จบด้วยการให้ยาต้านฮอร์โมน 5 ปี

“หนึ่งเดือนก่อนจะให้คีโม ซังก็ยังดำเนินการ ‘ฝากไข่’ ตามคำแนะนำของคุณหมอ เนื่องจากมะเร็งที่เราเป็นนั้นไม่ได้อยู่ในระยะแพร่กระจาย คุณหมอจึงไม่อยากให้เสียโอกาสที่จะมีลูก เราจึงไปฝากตามคำแนะนำคุณหมอ แม้ลึกๆ ซังและสามีก็ยังไม่ได้คิดเลยว่าพวกเราจะมีลูกไหม (ยิ้ม)”

ยิ่งไม่รู้…ยิ่งกลัว 

“โดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน เรามักจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ แต่เมื่อไรที่เรารู้ ความกลัวก็จะน้อยลง ซังจึงพยายามจะรู้ในสิ่งที่พอจะรู้ได้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่ออย่างน้อยเราจะได้รู้ว่า มะเร็งมีอะไรบ้างที่ทำให้เรากลัว และมีอะไรบ้างที่เราไม่ต้องกลัว จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งเหล่านั้น และพร้อมที่จะไปต่อกับมัน เพราะหากเราต้องใช้ชีวิตสักพักใหญ่ๆ กับ condition นี้ เราก็พยายามเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด 

“นี่เองที่ทำให้ซังตัดสินใจตัดผมออกก่อนที่จะคีโม ซึ่งตอนนั้นผมยาวมาก…ยาวถึงเอว จากนั้นก็นำผมที่ตัดออกไปให้ร้านทำวิกให้ เพราะรู้ว่าอย่างไรซะ ผลข้างเคียงจากคีโมนั้นก็ทำให้ผมร่วงแน่ๆ ยื้อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร และการเห็นผมร่วงเป็นกระจุกอาจจะทำให้ผู้ป่วยอย่างเรานอยด์ยิ่งกว่าเดิม   

“การให้คีโม 12 สัปดาห์ ผ่านไปด้วยดี แม้จะต้องบูทเม็ดเลือดขาวบ้างในเข็มที่ 4 และเข็มที่ 9 แต่ก็ถือว่าไม่เลวร้ายนัก ส่วนอาการข้างเคียงก็ถือว่ารับมือไหว เหนื่อยง่ายแต่ยังหายใจได้ ท้องเสียแต่ก็กินข้าวได้ ไม่เบื่ออาหาร แค่กินเสร็จต้องวิ่งเข้าห้องน้ำเท่านั้นเอง (หัวเราะ) 

“แม้จะไม่กลัว ไม่ทุกข์ถึงขั้นฟูมฟาย แต่ต้องยอมรับว่าก็มีบ้างที่รู้สึกเซ็งๆ ด้วยความที่เราชอบออกกำลังกาย แต่บางช่วงก็ต้องยอมรับว่าร่างกายไม่ไหวจริงๆ จำได้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งไปเล่นพิลาทิสแล้วครูให้ลองยกลูกบอลลูกเล็กๆ ขึ้นลง ปรากฏว่ายกขึ้นไม่ไหว (หัวเราะ) ครูยังตกใจ ทำไมยกไม่ไหว จากปกติเราแข็งแรงมาก เราเองก็ตกใจเหมือนกันว่า ทำไมเรารู้สึกว่าลูกบอลหนักมาก แต่ก็ถือเป็นอีกช่วงชีวิตที่เราได้เรียนรู้อยู่กับความอ่อนแอของร่างกาย ณ ขณะนั้นให้ได้

 
“เหตุการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่า เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตเราได้ จากตอนเด็กๆ ที่เคยคิดเสมอว่า เราจะทำอะไรก็ได้ เราจะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเราพยายามมากพอสักวันเราก็จะไปถึงจุดที่เราต้องการได้ แต่วันนี้เรารู้แล้วว่า แค่ความพยายามอย่างเดียวไม่พอ แต่มันมีอีกหลายสิ่งที่ประกอบกัน และบางสิ่งเราก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ก็คือความคิดและการตัดสินใจของเรา” 

สีสันหลังมรสุม

มาถึงวันนี้ นอกจากสถานะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาพุ่งเป้าทุก 3 สัปดาห์ โดยจะครบ 18 เข็ม ในช่วงเดือนสิงหาคม  2567 นี้ และยังต้องรับประทานยาต้านฮอร์โมนต่อให้ครบ 5 ปี ซังซังยังเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีสันของกลีบดอกไม้ ภายใต้ชื่อ Petal Palette ธุรกิจแรกในชีวิตที่เธอมุ่งมั่นตั้งใจอยากให้เป็นสีสัน ความสุข และความสนุกให้ชีวิต    

“ซังไม่ได้คาดหวังหรือตั้งเป้าหมายกับ Petal Palette ไว้สวยหรู เราแค่อยากทำอะไรที่เป็นของตัวเอง ด้วยความที่เราเติบโตมาในครอบครัวพ่อค้า ซึ่งมีกิจการโรงงานที่ได้รับการยอมรับในตลาด consumer product แน่นอนว่าลึกๆ เราไม่ได้อยากเติบโตในบริษัทหรือในฐานะลูกจ้างของใคร แต่ก่อนหน้านั้นเราไม่มีความมั่นใจที่จะเริ่มทำ เรากลัวการเริ่มต้น กลัวจะไม่สำเร็จ กลัวสารพัด แต่พอมะเร็งผ่านเข้ามา เราแค่รู้สึกว่า ลองดูสักตั้งดีกว่า! 

“ณ วันนี้ ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรกับมะเร็ง ก็ยังรู้สึกว่า มะเร็งยังไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับเรานะ (หัวเราะ) มะเร็งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราต้องรับมือให้ได้ มะเร็งก็เหมือนเรื่องไม่ดีอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรานั่นแหละ เดี๋ยววันหนึ่งก็ผ่านออกไป หรือวันหนึ่งก็อาจจะกลับมาอีกก็ได้ ทุกวันนี้เราจึงพยายามใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุขให้ได้มากที่สุด” 

เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

Share To Social Media