พระวรท ธมฺมธโร กับกลุ่มพระสงฆ์อาสา ‘คิลานธรรม’ เยียวยาจิตใจผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ด้วยธรรมะ

ท่านโม หรือ พระวรท ธมฺมธโร คือหนึ่งในพระสงฆ์ที่ทำงานภายใต้กลุ่มอาสาคิลานธรรม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มพระสงฆ์อาสาที่มีความปรารถนาในการช่วยเหลือ ดูแล และบำบัดจิตใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกระบวนการปรึกษาแนวพุทธที่ผสมผสานกับหลักการทางจิตวิทยา โดยหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นคือการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยมะเร็ง และญาติที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การรักษา 

นอกเหนือไปจากการบอกเล่าถึงการทำงานในฐานะพระสงฆ์อาสาสมัครแล้ว ท่านโมยังทำให้เราเข้าใจถึงวัฏจักรของชีวิต ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือบทบาทของสงฆ์ในการบรรเทาความทุกข์ภายในจิตใจให้เบาบางลง การเป็นผู้เปิดประตูที่ถูกปิดตายเพื่อให้ได้เห็นคุณค่าในการดำรงอยู่ของตัวเองและผู้คนรอบข้าง การเข้าใจถึงความพลัดพรากว่าเป็นสิ่งปกติที่จะเกิดขึ้นกับทุกปุถุชน รวมทั้งการมีสติรู้คิดในวันที่ตัวเรากำลังจะจากโลกใบนี้  แม้การเห็นสัจธรรมที่ว่าอาจเป็นเพียงชั่วขณะสุดท้ายของชีวิตก็ตาม  

‘คิลานธรรม’ กลุ่มพระสงฆ์อาสาผู้ทำงานผ่านวิถีสังฆะเพื่อการดับทุกข์

“กลุ่มคิลานธรรมเกิดขึ้นจากการก่อตั้งของ พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณและพระครูศรีวิรุฬหกิจ ซึ่งท่านได้เรียนสาขาวิชาชีวิตและความตาย ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในหลักสูตรนี้ได้มีกิจกรรมไปเยี่ยมไข้ผู้ป่วยตามโรงพยาบาลเพื่อเยียวยารักษาใจ จนถึงวันนี้ กิจกรรมได้ขยายไปหลากหลายรูปแบบ นอกจากการไปโรงพยาบาลเพื่อเยี่ยมพระสงฆ์ที่อาพาธ เยี่ยมไข้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งเยียวยาญาติผู้ป่วยด้วย ตอนนี้ก็มีหลายโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่าย โดยปัจจุบันจะมีทั้งอบรมให้ความรู้ธรรมะกับบุคคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล หมอ มีกิจกรรมที่ให้ความรู้เรื่องธรรมะเพื่อนำไปเยียวยาตนเองด้วย มีกิจกรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพ อย่างคลินิกรักษ์ใจที่เปิดโอกาสให้คนที่มีความทุกข์ ไม่สบายใจมาพูดคุยปรึกษากับพระอาสาได้”

เติมความรู้ด้วยงานอาสา

“ตอนที่อาตมาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเกิดจากที่ครูบาอาจารย์พระรุ่นพี่ พระเพื่อนๆ ที่อยู่วัดญาณเวศกวันชวนไปอบรมกัน ไปเปลี่ยนบรรยากาศ ไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ อาตมาชอบอยู่กับเพื่อน เพื่อนพาไปเรียนรู้อะไรก็ไปกับเขาด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าได้ทั้งความรู้และได้ฝึกฝนทักษะไปด้วย อาตมาเข้าร่วมเรียนรู้และอบรมกับพระกลุ่มคิลานธรรมได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ถือเป็นโอกาสที่ได้เติมความรู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็มีพื้นฐานความรู้ทางธรรมะ ความรู้ในด้านของศีล สมาธิ ปัญญาเป็นพื้นอยู่แล้วในชีวิตความเป็นพระ ได้ปฏิบัติธรรม เจริญกรรมฐานตั้งแต่บวชอยู่แล้ว ก็เลยเป็นการเกื้อหนุนความรู้ซึ่งกันและกัน

ในการอบรมที่นั่น อาตมาก็ได้ไปเรียนทักษะการฟัง การล้อมวงสนทนา ล้อมวงกระบวนกร ทำกระบวนกรอบรมกลุ่ม ล้อมวงสุนทรียะสนทนา จากนั้นความรู้ก็ค่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ ได้ความรู้เกี่ยวกับ Buddhist counselling หรือการให้คำปรึกษาเชิงพุทธ แล้วเราก็ได้ความรู้จิตวิทยาตะวันตกบ้าง เขาให้เรียนรู้อะไร ก็ลองไปเต็มที่เลย”

บทบาทและกระบวนการทำงานของผู้นำเยี่ยม

“ในส่วนของอาตมา เวลาลงพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อสนทนากับผู้ป่วย อย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งที่อยู่ระหว่างกระบวนการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งในช่วงสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยทั่วไป อาตมาจะทำใจให้ว่างๆ เลย ไม่มีการคาดการณ์ไว้ก่อน หัวโล่งๆ แล้วก็ไปใช้สติสัมปชัญญะกับพวกเขาที่อยู่ตรงหน้าแบบเต็มที่จริงๆ ก่อนเข้าไปพูดคุย ในบางเคสอาจจะได้รับการบรีฟข้อมูลเบื้องต้นจากพยาบาลที่เขาส่งเคสให้เล็กน้อยว่าผู้ป่วยคนนี้อายุเท่าไหร่ ป่วยเป็นอะไร มีปัญหาหรือความกังวลใจอย่างไรบ้างที่พยาบาลรับรู้มา 

สำหรับการพูดคุยกับผู้ป่วย อาตมาจะนำสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาเล่าสดๆ มาถามต่อให้ลงลึกไปเรื่อยๆ ตั้งคำถามเพื่อให้เขามีโอกาสได้ทบทวนถึงเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมา ทั้งความสุข ความทุกข์ เป็นการถามให้โยมได้กลับมาสำรวจภายในจิตใจตัวเอง โดยที่ไม่มีการตัดสินอะไรเขาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่อาตมาชวนคุยก็เป็นเรื่องราวง่ายๆ โดยส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยก็จะมีทั้งความกังวลใจ ความทุกข์ใจ ความตาย ความสูญเสีย การลาจาก เรื่องของสังขารที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม แต่ก่อนเคยเดินได้ ตอนนี้เดินไม่ได้แล้ว ก็จะลึกไปอีกเรื่องหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยที่มีความกังวลใจ อาตมาก็จะพูดคุยเพื่อที่จะให้เขาได้เข้าไปสำรวจตัวเองว่าเขากำลังกังวลเรื่องอะไร ใช้การพูดเพื่อเชื่อมกับคนที่อยู่ตรงหน้าให้เขารู้สึกสบายใจ เป็นการ tuning กันให้รู้สึกปลอดภัย ให้รู้สึกมีพื้นที่ การพูดคุยและการถามที่ดี การชวนคุยที่ดี จะต้องถามเพื่อให้เคสให้คนที่อยู่ตรงหน้าเรา เขาได้น้อมระลึกเข้าสู่ภายใน ได้สำรวจจิตใจ ถามอย่างไรก็ได้ เป็นคำถามเปิดกว้างให้เขามีโอกาสได้สำรวจตัวเอง สำรวจความรู้สึก สำรวจช่วงเวลาที่งดงามที่เขามี รวมทั้งใช้การฟังโดยไม่ตัดสิน โดยรู้จักวางความคิดตัวเอง แขวนลอยความคิดตัวเองออกไปก่อน เป็นอย่างไร ไม่ใช่ยิ่งถามยิ่งออกนอก เวลาเราจะไปถามผู้ป่วยหรือว่าคนที่เขาทุกข์ใจ คำถามที่ไม่จำเป็นและเสียเวลามากคือคำถามแบบอยากรู้อยากเห็นเรื่องส่วนตัว อันนี้ไม่จำเป็น”   

จากอริยสัจ 4 สู่แนวทางการให้คำปรึกษาเยียวยาใจ 

“กระบวนการที่เรียกว่าการ ‘ให้คำปรึกษา’ จริงๆ แล้วหัวใจของมันก็คืออริยสัจ 4 นั่นแหละ คือการที่แต่ละคนได้เรียนรู้ว่า ความทุกข์เป็นอย่างไร สาเหตุแห่งทุกข์คืออะไร เช่น ความคาดหวัง เมื่อเจอแล้ว เราจะแก้ จะดูแลอย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาพระคิลานธรรมไปทำงานหรืออบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้านไหนก็แล้วแต่ ก็เหมือนกับว่าเราจะสอนให้พวกเขาได้ทักษะทั้งสองพาร์ทไปในตัว คล้ายๆ กับว่าได้ทั้งรูปแบบในภาคของการนำไปใช้กับผู้อื่น ขณะเดียวกัน ก็เป็นในภาคส่วนของการเรียนรู้ด้วยตนเองไปควบคู่กัน โดยพวกเขาเองก็ได้เห็นกระบวนการในการดูแลคนอื่น เช่น การถูกชวนคุยแบบนี้ดีต่อใจอย่างไร คำถามแบบไหนที่ไม่ดีต่อใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะเริ่มเห็นชัดว่าเราจะนำวิธีแบบนี้ไปใช้กับคนอื่นต่อได้อย่างไรบ้าง”

ความท้าทายจากบททดสอบในสถานการณ์จริง 

“อาจเพราะอาตมาไม่ค่อยกลัวอะไร ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ก็จะเอาทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้ทั้งหมด ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เจอเจอะไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่คือความท้าทายคือบททดสอบ คือการเรียนรู้ที่เป็น hard mode แบบที่บอกกับตัวเองว่าเราได้ฝึก แล้วเราก็ได้เผชิญกับสถานการณ์จริงๆ แล้ว ซึ่งเราจะได้แก้ปัญหา จะได้ฝึกไหวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้เป็นข้อฝึกทั้งหมด”

สิ่งตอบแทนคือประสบการณ์แบบรอบด้าน

“ทุกครั้งที่อาตมาไปคุยกับผู้ป่วย ถือว่าเป็นการเจริญสติสัมปชัญญะรูปแบบหนึ่ง เพราะการที่อยู่กับคนตรงหน้า การรับรู้ในสิ่งที่เขาพูด ในสิ่งที่เขารู้สึก หรือแม้แต่อะไรบางอย่างที่แอบซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของเขา ตัวอาตมาเองจะได้เจริญสติ เป็นการฝึกจิตของตัวเราเองด้วย เพราะเราจะหลุดจากเขาไม่ได้เลยนะ ทุกเคสผู้ป่วยที่เข้าไปคุย ถือว่าพวกเขาเป็นครูทั้งหมดเลย เป็นครูที่ไม่ได้มาจากตำราหนังสือ เป็นธรรมะที่มีชีวิตจริงๆ ที่เขาถ่ายทอดเรื่องความเป็นความตาย ความเจ็บความไข้ให้กับเราได้รับรู้ ความเศร้าโศกจริงๆ ความโกรธแค้นจริงๆ ความรู้สึกผิดจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับคน เพราะฉะนั้น นอกจากฝึกทักษะในการฟัง การถาม การคุยแล้ว ยังจะได้ธรรมะ ได้ภายในเราด้วย ได้หมดเลยคุณโยม”

คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และเข้าใจการจากลา  

“โดยส่วนตัว อาตมาเองก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์แบบเฉียดตาย ยังไม่เคยเป็นโรคร้ายที่เกือบตายมาก่อน เพราะฉะนั้น ก็ขอเป็นทัศนะของคนหนึ่งที่ได้ศึกษาธรรมะ แล้วก็ได้ไปพบเจอผู้ป่วยมาตลอดการทำงาน อาตมาอยากจะให้กำลังใจและบอกกับญาติโยมทุกคนว่า ความกลัวในจิตใจของเรานี่แหละที่น่ากลัวที่สุด ตราบใดที่เรายังไม่ตาย ถ้าเราเกิดความกลัวขึ้นมาในใจแล้ว สภาพจิตตอนนั้นเป็นอกุศลไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อสภาพจิตที่เป็นอกุศล นั่นหมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างขาดสติปัญญา ในการดำเนินชีวิตอย่างขาดสติปัญญา พระพุทธเจ้ายังตรัสบอกเป็นภาษิตเลย โดยความหมายคร่าวๆ ก็คือ แม้เรามีชีวิตอยู่ ก็เหมือนตายแล้ว คนขาดสติปัญญาคือมีชีวิตอยู่ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตอย่างขาดสติและกลัว กระวนกระวาย กังวลไปตลอดเวลานั่นน่ากลัวกว่าความตายอีก

อีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่ญาติโยมจะต้องยอมรับและหมั่นเตือนสติตัวเองบ่อยๆ คือท้ายที่สุดเราทุกคนก็ต้องตายนะ ท้ายที่สุดแล้ว คนรักที่อยู่ข้างเคียงเรามาอย่างยาวนานก็ต้องล้มหายตายจาก มันมีอยู่แค่เราไปก่อนหรือว่าเขาไปก่อนเท่านั้นเอง ถ้าเราไปก่อน คนที่มีชีวิตอยู่ต่อไปก็จะอยู่ในฐานะผู้สูญเสีย แต่ถ้าเกิดเขาไปก่อน เราก็มีชีวิตอยู่ต่อไปในฐานะผู้สูญเสีย เพราะฉะนั้นความตายอาจจะดูน่ากลัวก็จริง แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยการเป็นผู้สูญเสียก็อาจจะน่ากลัวไม่แพ้กว่าความตายเหมือนกันนะ คนบางคนที่อาตมาได้ทำงานเยียวยาก็จมอยู่กับความสูญเสีย จมอยู่กับความรู้สึกผิดที่ไม่ได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ จมอยู่เป็นสิบๆ ปีหลายปี ถอนไม่ออกก็มีเหมือนกัน ตรงนี้น่ากลัวกว่าความตายเสียอีก เพราะสภาวะจิตเป็นอกุศล เป็นโทสะ แล้วถ้าเกิดคุณสะสมสภาพจิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนที่มีความคิดลบจนเป็นนิสัย ว่างไม่ได้ เดี๋ยวก็ต้องร้องไห้ เดี๋ยวก็ต้องโกรธแค้น เดี๋ยวก็ต้องเศร้าซึม เบื่อหน่ายชีวิต ตรงนี้น่ากลัวกว่าความตายอีก

เมื่อคุณโยมสะสมเป็นอุปนิสัยและพอถึงเวลาที่คุณจะต้องจากโลกนี้ไป คุณโยมก็จะพาสภาพจิตที่คุ้นชินแบบนี้ไปเป็นกรรมนำเกิด ไปเป็นจิตดวงใหม่เกิดในอบายภูมิซึ่งน่ากลัวกว่าเยอะ คนที่ตายไปแล้ว เขาไปไหน เราไม่รู้หรอก เขาอาจจะไปสุขคติภูมิ สุขคติภพก็ได้ จากความคิดด้านลบ ก็ลองกลับมารักษาใจตน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เพราะท้ายที่สุดแล้ว ตัวเรานี่แหละที่อยู่กับเราไปตลอด”

ลดความทุกข์ด้วยการมีสติอยู่กับปัจจุบัน

“สำหรับคนที่ยังมีความทุกข์ ตัวหลักง่ายๆ ที่ช่วยบรรเทาได้ก็คือการมีสติ มีสติอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในปัจจุบัน อย่าปล่อยให้ใจนั้นคิดฟุ้งซ่านไปในอดีตมากจนเกินไป หรือเพ้อฝันและกังวลกับอนาคตจนเกินไป สำคัญที่สุดคือต้องหมั่นเจริญสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะให้บ่อยที่สุด เพราะว่าการที่เราปล่อยใจให้เราคิดฟุ้งไปเรื่อยจะทำให้เราจิตใจไม่สงบ แล้วก็มีความทุกข์ใจเกิดขึ้นตามหลังมาได้ อันนี้คือเป็นหลักๆ ก่อน แต่จริงๆ แล้วกระบวนการในการเรียนรู้ในการทำความเข้าใจ มันมีหลายรูปแบบ มีหลายมิติ

ลำดับแรกคุณโยมจะต้องเรียนรู้ที่จะรักษาศีล แต่เราต้องทำทั้งระบบ โดยระบบของการฝึกตนเรียกว่า มรรคมีองค์ 8 มันมีหลายกระบวนท่า ไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน แต่หมั่นการรักษาศีล การจัดบ้านให้สะอาด ให้เป็นระเบียบ ทิ้งของที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ไม่ปล่อยบ้านให้รก ปลูกต้นไม้ มีน้ำจิตน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ กับคนทุกคนที่เราได้มีโอกาสพบเจอ ได้แบ่งปัน ได้เสียสละ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม ทานอาหารให้ตรงเวลา นอนให้เป็นเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทุกส่วนในระบบจะต้องเกื้อกูลกัน ไม่ใช่แค่การใส่บาตร ถวายสังฆทานอย่างเดียว หรือเอะอะก็จะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอย่างเดียว แล้วอย่างอื่นไม่เอาเลย อย่างนี้ไม่ใช่ มันต้องเปลี่ยนแปลงระบบชีวิตทั้งระบบให้เป็นไปในทางเกื้อกูล เป็นไปเพื่อความงอกงาม เมื่อคุณโยมอ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะจากหลวงปู่หลวงพ่อหลายๆ ท่าน แล้วกลับมาขบคิดพิจารณาด้วยตัวเองด้วย อย่าเพิ่งด่วนเชื่อ เล่นโทรศัพท์ให้น้อยลง เล่นโซเชียลให้น้อยลงด้วย มีผลนะ มีผลต่อจิตใจด้วย”

หน้าที่ของพระสงฆ์เป็นผู้หงายของที่คว่ำ เป็นผู้เปิดของที่ปิด เป็นผู้ส่องแสงในที่มืดมิด

“จริงๆ แล้วนี่คือประโยคที่อยู่ในพระไตรปิฎกในหลายๆ พระสูตรเลยด้วยซ้ำไป ประโยคนี้เป็นประโยคที่ไพเราะ แล้วอาตมาก็ชอบมากมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่บวชพระเข้ามา แล้วก็ได้ศึกษาพระธรรม คือพระพุทธเจ้าเวลาไปโปรดใครก็แล้วแต่ คนที่เกิดความศรัทธาในพระรัตนตรัยหรือดวงตาเห็นธรรมชอบพูดประโยคนี้ ว่าพระพุทธองค์ท่านเปรียบเสมือนเป็นผู้หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางกับคนหลงทาง เหมือนดวงประทีปในที่มืด เป็นลักษณะของการที่ทำให้คนคนหนึ่งที่มืดมัวหมองไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้วได้ตาสว่าง ได้หลุดขึ้นออกมาพ้นน้ำ ได้ตื่นจากความหลับไหล ได้มีปัญญาสว่าง เป็นภาวะของการเปลี่ยนแปลงที่ยอดเยี่ยมมากที่สุด

เพราะฉะนั้นการที่พระสงฆ์ไปทำงานกับผู้ป่วยก็มีภาวะแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยนะ อย่างเช่น คุณป้าบางคนที่ไม่เคยให้อภัยตัวเองมาตลอดเลย 4-5 ปีเต็ม เมื่อเราได้สนทนากันเพียง 2 ชั่วโมง ก็เข้าใจทุกข์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดเพราะอะไร เพราะไม่เคยให้อภัยตัวเองเลยนี่นา ก็เลยต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดอย่างนี้มาตลอด หน้าที่ของอาตมาคือทำให้เขาได้เห็นว่าที่เป็นเส้นผมบังภูเขาอยู่คืออะไร ซึ่งเป็นหนทางที่ทำให้เขาได้ตื่นจากความทุกข์ ทำให้พ้นไปทุกข์ชั่วขณะ เป็นลักษณะของการทำให้คนที่มีมิจฉาทิฐิได้มีสัมมาทิฐิ ทำให้คนที่ไม่รู้ได้เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรบางอย่างในชีวิตขึ้นมา แล้วก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยที่ไม่ทุกข์กับเรื่องนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่อาตมาได้ค้นพบระหว่างการได้ทำงานนี้คือความสุดยอดแล้วนะในระดับความสามารถของพระสงฆ์ในยุคสมัยปัจจุบัน แค่ทำให้คนที่เขาทุกข์มาตลอด 10 ปี ได้พ้นทุกข์จากที่คาใจเขามาตลอด แล้วเขาไม่รู้ว่าจะจัดการใจตัวเองอย่างไร หรือแม้แต่การที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้หายซึมเศร้า หรือว่าเลิกกินยา นี่คือสุดยอดแล้ว แต่ระดับของพระพุทธองค์นี่สุดยิ่งกว่าตรงที่ทำให้คนๆ หนึ่งไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดแล้ว หมดกิเลสแล้ว”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ภาพเพิ่มเติม: พระวรท ธมฺมธโร

Share To Social Media