พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้ช่วยออกแบบ ‘รอยยิ้ม’ ที่ปลายทาง

“การจากไปอย่างองอาจ
คือสิ่งที่หมอปรารถนาให้มันเกิดขึ้น
เมื่อความตายมาเยือน…”

นั่นเป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า อะไรคือเป้าหมายปลายทางในชีวิตที่วาดหวังไว้ ของ คุณหมอโจ้ พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและนักศิลปะบำบัด ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิศิลปะบำบัด (Art Therapy Foundation) และริเริ่มโปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งที่นั่นเองที่ทำให้เธอกลายเป็นเพื่อนร่วมทางของผู้ป่วยเด็กมากมายเพื่อเดินทางไปสู่ลมหายใจสุดท้าย…ปลายทางชีวิต

จุดเริ่มต้นที่ ‘ปลายทาง’

“โปรแกรมศิลปะบำบัดเพื่อเด็กป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเริ่มต้นขึ้นในปี 2005  หลังจากที่หมอได้ศึกษาดูงานด้านศิลปะบำบัดจากอเมริกาและกลับมาเมืองไทย ด้วยความรู้สึกร้อนวิชา (ยิ้ม) จึงอาสาเข้าไปทำงานให้ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเรื่องทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะ การตายดี การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ฯลฯ กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก และทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็กำลังจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่ อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจึงชวนเราเข้าประชุม

“ในที่ประชุมวันนั้น มีการพูดคุยถึงเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พอเราได้ฟังก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้สิ่งที่เรามีให้เป็นประโยชน์ พอการประชุมจบลงก็มีอาจารย์กุมารแพทย์ท่านหนึ่งเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่า อยากให้ช่วยเอาศิลปะบำบัดไปช่วยผ่อนคลายคนไข้คนหนึ่ง อายุ 16 ปีซึ่งป่วยเป็นมะเร็งที่กล้ามเนื้อดวงตาและกำลังจะต้องผ่าตัดดวงตาทิ้ง  

 “เราก็รับปากอาจารย์ไปทันที วันรุ่งขึ้นก็เตรียมอุปกรณ์ไปเต็มกระเป๋า พอแนะนำตัวเรียบร้อยก็ชวนเขาทำศิลปะง่ายๆ จากตอนแรกเงียบอย่างเดียว พอนานเข้าก็เริ่มเปิดใจเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขากังวลใจ ไม่ชอบใจต่างๆ

“ก่อนจากกันวันนั้น หมอได้มอบสมุดไดอารีให้เขาเล่มหนึ่ง สำหรับเขียนบันทึกความรู้สึกเพราะเขาโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก็ได้ผล เขาจดไดอารีทุกวัน เขียนความรู้สึกของตัวเองบ้าง วาดรูปบ้าง สะท้อนความรู้สึกของตัวเองจากประสบการณ์ที่เห็นและบันทึกลงไปในไดอารี นั่นเป็นเครื่องมือที่หมอให้เขาไว้ก่อนที่เขาจะเข้ารับการผ่าตัด

“แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะตาบอดหรอก แต่เพราะต้องรักษาชีวิตไว้ การผ่าตัดดวงตาครั้งนั้นจึงไม่ใช่ความยินยอมพร้อมใจ ในความยินยอมนั้นปนเปไปด้วยความไม่ชอบใจหลายอย่าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นความยินยอมแบบจำเป็น จำยอม ทำให้เขากลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล เศร้า เราก็เอาศิลปะบำบัดเข้าไปช่วยเขาจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึก

“ด้วยความที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและแคร์กับสายตาคนอื่น เมื่อผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วเขาก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน แม้หมอจะบอกให้กลับบ้านได้แล้วก็ตาม เขายืนยันจะอยู่ที่โรงพยาบาลต่ออีกเกือบ 4 เดือน เพื่อทำใจยอมรับเบ้าตาที่ไม่มีลูกตา ตอนนั้นนอกจากการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อช่วยเขาอยู่กับเบ้าตานี้ให้ได้แล้ว ทุกๆ ครั้งที่เจอกันเรายังช่วยกันหาทางออกว่าจะทำอย่างไรกันดี จะใส่แว่นตาดำดีไหม ฯลฯ กระทั่งวันหนึ่งเขาก็วาดภาพ Portrait ตัวเอง โดยมีตาเพียงข้างเดียวขึ้นมา และอีกข้างเป็นเบ้าตากลวงๆ ก่อนจะร้องไห้โฮ…

“วันนั้นหมอคิดว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเผชิญกับความรู้สึกนั้นจริงๆ จึงยอมให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และเมื่อเขาสามารถเห็นตัวเองบนกระดาษที่เขาวาดขึ้นได้แล้ว เขาก็สามารถเห็นตัวเองในกระจกได้ และขั้นตอนถัดจากนั้นก็คือเขาสามารถทำแผลให้ตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เจ็บช้ำเกินไป

“หลังจากนั้นเขาก็กลับบ้านไปราว 4-5 เดือน ก่อนจะโทรมาหาหมอและบอกว่า เขาอยู่ที่โรงพยาบาล เขาปวดหัวมาก แต่ไม่มีหมออยู่ และเขาต้องเดินทางกลับบ้านที่สุพรรณแล้ว เพราะรอไม่ไหว จากน้ำเสียงของเขา หมอสัมผัสได้ถึงความผิดปกติ จึงรีบประสานไปที่แผนกกุมารฯ ก็ทราบว่าแพทย์ไปสัมมนาที่ต่างจังหวัด หมอจึงติดต่อไปที่อาจารย์แพทย์ จนเขาได้แอดมิทและรับการตรวจเช็คอย่างละเอียด ปรากฏว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังสมองและกระดูก

“ทันทีที่รู้ผล เขาโกรธมาก โกรธที่เขาสูญเสียดวงตาไปฟรีๆ โกรธที่เข้าใจผิดว่าการสละดวงตาครั้งนั้นจะรักษาชีวิตเขาไว้ได้ แต่ทุกอย่างกลายเป็นโมฆะ ตอนนั้นชีวิตเขาเริ่มไม่สนุก ศิลปะบำบัดก็เข้าไปช่วยจัดการอารมณ์ความรู้สึกแต่ละอย่างที่โผล่ขึ้นมาในแต่ละวัน เขาอยู่ในโรงพยาบาลจนกระทั่งสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่เขาจะขอกลับบ้านเพราะคิดถึงพ่อ และเขาก็เสียชีวิตลงที่นั่น   

“หมอเดินทางไปร่วมพิธีศพของเขาที่สุพรรณบุรี จำได้ว่าพอไปเห็นสภาพบ้านที่เขาอยู่ เรารู้สึกสลดหดหู่ใจมากเพราะรู้เลยว่าชีวิตของเขาช่างยากลำบากเหลือเกิน ความรู้สึกจากประสบการณ์ที่มีกับคนไข้คนนี้ยิ่งทำให้ประเด็นของการมีอยู่ในระยะสุดท้ายดึงดูดความสนใจของหมอมากขึ้น  ในที่สุดจึงได้อาสาเข้ามาทำศิลปะบำบัดกับเด็กๆ ที่เป็นมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่รักษาไม่หายที่โรงพยาบาลจุฬาฯ  โดยจะทำงานสัปดาห์ละ 1 วัน ตั้งแต่เวลา 13:00-18:00 น. จัดกิจกรรมศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยเด็ก 18-20 เตียง อายุตั้งแต่ 3 ขวบไปจนถึง 16 ปี ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ ก็จะแวะเวียนมาที่โต๊ะศิลปะบำบัดตลอดบ่าย ส่วนผู้ป่วยที่ลงจากเตียงไม่ได้ เราจะขนอุปกรณ์ไปทำศิลปะกันถึงบนเตียง สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ยังทำศิลปะบำบัดไม่ได้ก็จะใช้กระบวนการอื่นแทน เช่น การเล่นบำบัด (Play Therapy) การอุ้ม การสัมผัส การสื่อสารด้วยสายตา ฯลฯ วนเวียนอยู่อย่างนั้นกว่า 8 ปีเต็ม ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ แต่ถ้าเทียบกับความสุขที่ได้จากการทำสิ่งนี้แล้ว ความเหนื่อยไม่ได้กระทบอะไรเลย”

เพื่อนร่วมทางที่ชื่อว่า ‘ศิลปะบำบัด’

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการรักษาในโรงพยาบาลนั้น มีพื้นที่ให้กับความรู้สึกน้อยมาก ไม่ค่อยจะมีใครมาถามผู้ป่วยหรอกว่า เมื่อคืนนอนหลับไหม ฝันร้ายหรือเปล่า ถ้านอนไม่หลับ ส่วนใหญ่ก็แค่สั่งยานอนหลับให้–จบ! หรือไม่มีใครมาสนใจหรอกว่า ข้าวอร่อยไหม ผู้ป่วยอยากกินอะไร ตอนเสิร์ฟอาหารเย็นชืดไปหรือเปล่า รายละเอียดเหล่านี้มันเกินที่จะอยู่ในความสนใจของหมอหรือพยาบาล แต่ถามว่ามันสำคัญไหม ก็สำคัญนะ แต่มันเรื่องสารทุกข์สุกดิบที่ ‘เพื่อน’ เท่านั้นจะถามไถ่กัน ซึ่งศิลปะบำบัดเข้าไปทำสิ่งนี้ คือการเป็นเพื่อนร่วมทางและเป็นพื้นที่เพื่อรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

“ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในวัยไหน เด็กหรือผู้ใหญ่ ศิลปะบำบัดก็เป็นพื้นที่และเพื่อนร่วมทางของทุกคนได้เหมือนกัน แตกต่างกันตรงกิจกรรมและเครื่องมือที่เราจะเสิร์ฟให้ต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของแต่ละช่วงวัย เช่น เด็ก 5-6 ขวบ ซึ่งมีพัฒนาการแบบหนึ่ง กิจกรรมที่เตรียมมาให้ต้องพอดีกับวัยและความสามารถของเขา ให้มีความท้าทายพอดีๆ ไม่ง่ายเกินไป ไม่ยากเกินไป เพื่อเขาจะต้องนำศักยภาพตัวเองออกมาใช้และประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง  ในขณะที่วัยรุ่น 14-15 ปี ก็มีพัฒนาการอีกแบบหนึ่ง กิจกรรมที่นำเสนอก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ท้าทายมากขึ้น โดยที่ทั้งสองกลุ่มตัวอย่าง มีเป้าหมายการทำศิลปะบำบัดเป็นเป้าเดียวกันก็คือเราจะเป็นเพื่อนร่วมทางเขาไปให้ไกลที่สุดหรือจนสุดทาง

“โดยหลักการทำงานศิลปะบำบัดสู่การเดินทางไปจนสุดทางนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘การตายดี’ คือ การตายแบบพร้อมหรือยินดีที่จะเดินไป ไม่หนี ไม่ติดค้างอะไร เพราะฉันได้ทำชีวิตสมบูรณ์แล้ว และเมื่อถึงเวลาฉันก็จะไม่หนีไปไหน มันคือความองอาจที่จะเดินไปข้างหน้าทั้งๆ ที่รู้ว่ามันคือจุดจบ ซึ่งหมอเชื่อว่า ศิลปะสามารถทำให้คนเราไปถึงจุดนั้นได้ เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคน”

ความสำเร็จนับจาก ‘รอยยิ้ม’

“เวลาที่มีใครถามหมอว่า ประเมินผลสำเร็จของแต่ละเคสอย่างไร หมอมักจะพูดติดตลกเสมอว่า ‘ก็นับดูจากรอยยิ้มที่เกิดขึ้นสิ’ ก่อนที่เราจะลงมือทำศิลปะบำบัด ผู้ป่วยมีกี่รอยยิ้ม และพอทำศิลปะแล้วมีรอยยิ้มเพิ่มขึ้นอีกกี่รอยยิ้ม ในเชิงวิชาการมีการศึกษาไว้มากมายทั่วโลกอยู่แล้วว่า ศิลปะบำบัดมีประโยชน์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการลดความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยได้ หรือแม้กระทั่งชีพจรหรือความดันก็ดีขึ้นด้วยหลังจากที่ได้ทำศิลปะบำบัด แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากมัน นอกจาก ‘ข้อจำกัดเรื่องเวลา’ ไม่ว่าจะเป็นเวลาของผู้ป่วยที่เหลือน้อยเต็มที หรือเวลาที่เจอกันมันช้าไป ทำให้เรามีเวลาไม่เพียงพอที่จะเดินไปถึงจุดนั้นด้วยกันแล้ว ก็ยังมีเรื่องของ ‘บุคลิกภาพ’ ผู้ป่วยที่จะได้ประโยชน์จากศิลปะบำบัดมากที่สุดคือคนที่เปิดใจยอมให้ศิลปะเข้าไปดูแล เช่น ชวนให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ปฏิเสธ ฯลฯ ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่เปิดใจ ไม่ทำ ไม่เชื่อ ไม่ให้โอกาสตัวเอง ฯลฯ คนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้รับประโยชน์เท่าไร แต่ถ้าเจอกรณีแบบนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องเคารพในความรู้สึกของเขาและให้เวลาเขา โดยอาจจะจัดให้เขาเป็นผู้ชมก่อน มองดูคนอื่นทำ มองดูสิ่งที่เกิดขึ้น มองดูการเปลี่ยนแปลง มองดูบรรยากาศ มองดูรอยยิ้ม ฯลฯ เขาก็จะเริ่มเปิดใจและขยับจากผู้ชมมาเป็นผู้ร่วมประสบการณ์เอง”     

มีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างองอาจ

“ในมุมมองของศิลปะบำบัด เรามองเห็นความเจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธรรมดาของชีวิต และเป้าหมายของเราก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายและจากไปอย่างองอาจ เราอยากให้ผู้ป่วยที่เดินร่วมทางไปกับเรามองเห็นสิ่งนี้เหมือนกัน หมอจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของเวลาที่เหลืออยู่มากกว่าปริมาณของเวลา นั่นทำให้เราจะไม่เชียร์ให้ผู้ป่วยรับคีโมให้ครบเพื่อให้หายจากมะเร็ง เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย เพราะเราสนใจแค่ว่า คุณยังมีเวลาอยู่นะ คุณอยากทำอะไร มารีบทำกัน คอยเป็นเพื่อนที่ชวนกันไปทำ เพื่อที่สุดแล้วคุณจะจากไปอย่างองอาจ ไม่มีอะไรติดค้าง

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เคสที่หมอรู้สึกว่าเป็นเหมือนต้นแบบของการตายอย่างองอาจในแบบฉบับของศิลปะบำบัดนั้นก็คงเป็นเคสของเด็กชายวัยเพียง 9 ขวบคนหนึ่งที่ป่วยมะเร็งที่กระดูกหน้าแข้ง แล้วต้องตัดขาทิ้ง หมอได้รู้จักกับเขาก่อนที่เขาจะเสียชีวิตราวปีกว่าๆ จำได้ว่าเขามาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณ 3 เดือน ครั้งที่ 2 ประมาณ 4 เดือน จากคนที่ไม่มีความสุข ขี้หงุดหงิด โวยวาย เสียงดัง กินข้าวไม่อร่อย นอนไม่หลับ คิดสับสนวุ่นวาย ฯลฯ ศิลปะบำบัดเข้าไปรับรู้ แบ่งเบา จนกระทั่งเขาเห็นตัวเองเปลี่ยนไป เห็นตัวเองยิ้มได้ เห็นตัวเองมองเห็นคนอื่น เห็นตัวเองแบ่งปันของกับเพื่อนข้างเตียง ไม่ได้เห็นเฉพาะความทุกข์ของตัวเอง แต่เห็นไปถึงความทุกข์ของคนอื่น เห็นว่ารองเท้าของแม่ขาดพังหมดแล้ว เห็นว่าแม่ไม่สบาย ดวงตาช้ำ อดนอน เขาเริ่มย้ายโฟกัสจากตัวเองไปที่คนอื่นได้แล้ว ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป มองเห็นสิ่งรอบตัว ที่สำคัญคือลงมือดูแล โดยขอให้พยาบาลมาอยู่เป็นเพื่อนหน่อยเพื่อให้แม่ได้นอนเต็มตื่น

“จุดนั้นเป็นจุดที่เขาได้เชื่อมต่อในระดับที่พ้นตัวตนของตัวเองไปแล้ว และมองเห็นว่าชีวิตไม่ได้ยืนยาว เขาจึงทำสิ่งที่องอาจมาก คือ การสั่งเสียและจัดสรรทรัพย์สินของตัวเองที่มีอยู่ ก็คือหนังสือการ์ตูนโดราเอมอน 40-50 เล่ม ซึ่งเป็นเหมือนของรักของหวง เขาแบ่งหนังสือชุดนี้ให้พี่ น้อง ลูกพี่ลูกน้อง ของเล่นต่างๆ ก็จัดสรรว่าชิ้นไหนจะมอบให้ใคร หรือชิ้นไหนที่อยากให้แม่เก็บไว้ที่บ้าน บอกไว้ในพินัยกรรมทุกอย่าง พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่าเขาจะไปเกิดใหม่เป็นลูกพี่สาว ซึ่งตอนนั้นพี่สาวของเขากำลังตั้งครรภ์อยู่ หมอมองว่านี่คือการตายที่องอาจมาก และเชื่อว่าผู้ใหญ่หลายคนก็ยังทำไม่ได้อย่างนี้เลย

“แต่วันที่หมอเซอร์ไพรส์มากที่สุดคงเป็นวันที่เข้าไปหาเขาที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัดผ่านไป วันนั้นเขาเอ่ยปากชวนหมอ ‘หมออยากดูแผลผ่าตัดของผมไหม’ พอได้ยินดังนั้นเราก็แปลกใจ แต่ก็ตอบกลับไปว่า ‘อยากดูนะ ถ้าอยากให้หมอดู’ เขาก็บอกว่า ‘เดี๋ยวผมจะเปิดให้ดู’ ระหว่างที่มือเขาค่อยๆ เปิดผ้าพันแผลออกทีละชั้น เขาก็บรรยายลักษณะของแผลไปด้วย ‘หมอรู้ไหมว่า มันสวยมากเลย มันกลมสนิทเลย’…”

“คิดดูสิ จะมีใครสักกี่คนในโลกนี้ที่โดนตัดขาแล้วสามารถชมแผลตัวเองว่าสวย แต่ตอนนั้นเขาอยู่เหนือความเจ็บป่วยของตัวเองไปแล้ว และพอผ้าพันแผลถูกเปิดออกหมด มันก็เป็นอย่างที่เขาได้บรรยายไว้จริงๆ มันเป็นเฮมิสเฟียร์ (Perfect Hemisphere) ซึ่งกลมแบบเพอร์เฟกต์ ไม่ขรุขระ ไม่มีรอยบุ๋มหรือรอยเย็บ มันกลมสมบูรณ์แบบมาก นั่นทำให้เราเห็นว่า เขาสามารถเชื่อมต่อกับความงามที่เป็นสุนทรียะระดับสากล ซึ่งต้องอยู่ในระดับจิตวิญญาณที่ได้รับการพัฒนาแล้วเท่านั้นจึงจะคิดอย่างนี้ได้ นี่คือสิ่งที่สิ่งเกิดขึ้นกับเด็กวัยเพียง 9 ขวบ” 

 ปลายทางที่วาดไว้…

 “วันนี้ศิลปะบำบัดคือชีวิตจิตใจสำหรับหมอไปแล้ว มันอยู่ในเลือดในเนื้อ มันอยู่ในทุกการกระทำของเรา และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนที่เราให้บริการ หรือคนที่เราเรียกว่า ‘ลูกค้า’ หรือ ‘คนไข้’ แต่มันแผ่ไปถึงทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา มันทำให้เราสามารถเมตตาทุกคนได้ มันอยู่ในชีวิตเรา หลายปีที่ผ่านมา หมอมักจะจินตนาการให้ตัวเองได้ทำพื้นที่ให้ความตายมาเยี่ยมเพื่อรับรู้และทำความคุ้นเคยอยู่บ่อยครั้ง และเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าชีวิตนี้เลือกได้ หมอก็อยากจะเป็นมะเร็งเหมือนเด็กๆ ที่หมอดูแลนี่แหละ หมอว่ามันดีกว่าโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ตรงที่มันยังพอมีเวลาอย่างน้อยก็ 3-6 เดือน ที่จะให้เราได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีเวลาพอที่จะเตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าไปอย่างไม่กลัว ไม่หนี และจากไปอย่างองอาจแบบไม่มีอะไรติดค้างอีกต่อไป…”



เรื่อง: เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ: กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง

Share To Social Media