ปอย-ปาลิดา คุ้มสุวรรณ์ คือนักกายภาพบำบัดปฏิบติการ โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน เธอคือเด็กสาววัย 25 ที่กำลังไปได้สวยกับงานที่เธอรักและสนุกกับการใช้ชีวิต กระทั่งพบก้อนเนื้อบริเวณเหนือเข่าขวา แต่เพราะไม่มีอาการอื่นๆ บ่งชี้ เธอแข็งแรงดี จึงคิดว่าคงเพราะการออกกำลังกาย ไม่ได้มองถึงโรคมะเร็งแม้แต่น้อย วิธีการรักษาในเวลานั้นจึงเป็นแนวทางของนักกายภาพบำบัด ทว่าก้อนเนื้อนั้นไม่เล็กลง หลังจากตัดสินใจไปตรวจอย่างละเอียด เธอพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกระดูก วิธีการรักษาของเธอคือการผ่าตัดเปลี่ยนต้นขาและเข่าเป็นไทเทเนียม ซึ่งระหว่างทางของการรักษาได้เกิดการติดเชื้อบริเวณเหล็ก ปอยจึงต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 9 ครั้ง ซึ่งไม่มีครั้งไหนง่ายสำหรับเธอ พร้อมๆ กับการต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากการป่วย จากคนที่ไม่อยากแม้แต่เอ่ยคำว่า ‘มะเร็ง’ ความคิดและความรู้สึกของปอยเปลี่ยนไปเพราะความรักของครอบครัว สามี เพื่อนๆ ทีมแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักที่เธอมีต่อตัวเองที่ทำให้เธอกลับมาสู้อีกครั้ง แถมยังตั้งใจมาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา ให้คำปรึกษา สร้างแรงบันดาลใจ และส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วย เราจึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักผู้หญิงแกร่งที่ชื่อปอยคนนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้กัน
ฮาวทูสู้มะเร็ง
“เอาจริงๆ ตอนนั้นปอยแข็งแรงมากเลยนะคะ เพราะเราออกกำลังกายสม่ำเสมอ พอเจอก้อนที่หัวเข่าขวาเลยไม่คิดว่าจะเป็นมะเร็ง การรักษาในช่วงแรกจึงเป็นการใช้เครื่องมือทางกายภาพบัดบัด เช่น อัลตร้าซาวด์ เครื่องอบความร้อนคลื่นสั้น (Short Wave Diathermy) เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Therapy) และ การประคบร้อน (Hot Pack) มารักษาที่ก้อนนั้น ทำทุกทางเพื่อให้ก้อนยุบลง ช่วงแรกก้อนดูเหมือนจะยุบลง โดยปอยให้เพื่อนที่เป็นแพทย์แผนไทยช่วยตรวจและให้ผู้ช่วยแพทย์แผนไทยนวดให้ด้วย แต่ผ่านไปไม่เกินเดือน เพื่อนแพทย์แผนไทยสังเกตเห็นว่าเหมือนก้อนไม่ยุบลง ปอยตัดสินใจไปพบคุณหมอในโรงพยาบาลที่ปอยทำงานอยู่ พอเห็นฟิล์ม ปอยคิดในใจว่าแจ็กพอตแล้ว”
หลังจากเข้าสู่กระบวนการตรวจอย่างละเอียด เธอพบว่าเป็นมะเร็งกระดูก แต่เชื้อมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ การรักษาจึงเป็นการผ่าตัดขาข้างขวาเพื่อใส่ไทเทเนียมแทนกระดูกตั้งแต่ขาส่วนบน (Femur) จนถึงหัวเข่า (Knee Joint) ในวันที่ 16 มกราคม 2560 แต่กว่าการรักษาจะมีบทสรุปอย่างที่เล่ามา การประเมินครั้งแรกของแพทย์ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อรักษามะเร็งกระดูกที่ต้องตัดขาก็ทำให้เธอจิตตกอยู่ไม่น้อย โชคยังดีที่แพทย์ยังส่งตัวปอยไปรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อประเมินทางเลือกของการรักษาแบบอื่นๆ และสุดท้ายเธอไม่โดนตัดขาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น
“ทางบ้านปอยก็ช็อกเหมือนกันโดยเฉพาะคุณแม่ คุณยาย และคุณพ่อ ซึ่งครอบครัวปอยเป็นครอบครัวข้าราชการที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่คุณพ่อให้กำลังใจมาตั้งแต่ต้นว่า “ถ้าจำเป็นต้องตัดขาก็ไม่เป็นไร กลับมาดูแลกิจการไร่ของที่บ้านเราได้นะลูก” ส่วนแฟนปอย (ตอนนั้นยังไม่ได้แต่งงาน) เขาเองก็ช็อกมากเช่นกันและไม่ได้ทิ้งปอยไปไหน แต่ตัวปอยเองยังทำใจไม่ได้ เลยไม่ยอมและลองคุยกับคุณหมอเพื่อมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ต้องตัดขา จนท้ายที่สุดจึงมารักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นอกจากนี้ จากการตรวจวินิจฉัยครั้งแรกโดยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ค่ามะเร็งของปอยมีระดับ low grade จึงไม่ต้องให้คีโมและใช้การผ่าตัดอย่างเดียว แต่ปรากฏว่าหลังผ่าตัด เกรดของมะเร็งกลายเป็น high grade ปอยจึงต้องให้คีโม 5 ครั้ง แต่เพราะได้รับผลกระทบอย่างหนัก พอให้ถึงครั้งที่ 4 คุณหมออีกท่านบอกว่าครบโดสแล้ว ปอยเลยขอคุณหมอทำคีโม 4 ครั้ง เพราะไม่อยากทรมานแล้ว ซึ่งคุณหมอเจ้าของไข้ถามปอยว่า ถ้าไม่ให้ครั้งที่ 5 แล้วมะเร็งกลับมาอีก คุณจะไม่เสียใจใช่ไหม ตอนนั้นปอยมุ่งมั่นมากว่าไม่เสียใจ แต่นั่นคือสิ่งที่ผิดพลาดเพราะปอยควรจะรับคีโม่เนื่องจากจะครอบคลุมมะเร็งได้มากกว่า”
ทุกอย่างดำเนินไปเป็นปกติ จน 2 ปีหลังจากนั้น เธอขับรถมอเตอร์ไซค์จากบ้านพักในโรงพยาบาลเพื่อจะมาที่แผนกกายภาพบำบัดในช่วงหมดเวลาพักเที่ยง จังหวะรถเอียงเธอใช้ขาขวาไปยันไว้ ขาเธอบิดและรู้สึกเจ็บ และช่วงบ่ายเธอดูแลคนไข้ตามปกติ เวลานั้นปอยปวดเข่าแต่ยังพอทนไหวและเลิกงานกลับบ้านพักตามปกติ แต่ในช่วงดึกของคืนนั้นเอง เธอไข้ขึ้นสูง เข่าบวมแดงจนขยับไม่ได้ ปอยทนความเจ็บปวดนั้นอยู่ 5 วันเต็ม จนตัดสินใจไปโรงพยาบาลและพบว่าติดเชื้ออย่างรุนแรง
“ครั้งนั้นเป็นการติดเชื้อครั้งแรกและหนักหน่วงมาก คุณหมอตัดสินใจผ่าตัดคืนนั้นเลยเพื่อล้างแผลข้างในขาทั้งหมด ถึงปอยจะอยู่สายสุขภาพก็จริง แต่เราทำงานในเชิงฟื้นฟู รักษาอาการปวด เราไม่ทราบเลยว่าคนที่ติดเชื้อต้องนอนโรงพยาบาลนาน 6 สัปดาห์ พอหายจากครั้งแรก ปอยพบว่าความยากในการรักษาของปอยคือเรื่องของการติดเชื้อ และการติดเชื้อครั้งที่ 2 และ 3 ก็ตามมา ปอยยังกำลังใจดีอยู่ถึงแม้ร่างกายจะไม่ไหวแล้วก็ตาม ยิ่งพอมาติดเชื้อครั้งหลังๆ เริ่มมีความยากมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะล้างแผลข้างในเหล็กสะอาดแค่ไหน แต่ในความเป็นจริงเชื้อโรคนั้นยังไม่หมดไปและรอวันที่จะติดเชื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ ทางอาจารย์แพทย์ท่านเลยตัดสินใจเอาเหล็กออกในครั้งที่ 4 ใส่ซีเมนต์ไว้ที่ขาและดามเฝือกรอค่าการติดเชื้อของร่างกายลดลงเป็นปกติ ครั้งที่ 5 เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่ไทเทเนียมอันใหม่ โดยใส่ตั้งแต่ต้นขา (Femur) จนถึงเกือบๆ ข้อเท้า (Tibia) ซึ่งการผ่าตัดในครั้งนี้มีการย้ายกล้ามเนื้อน่องขวา (Muscle Flab) มาปิดบริเวณเข่าเพราะจากการผ่าตัดหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาทำให้เกิดพังผืดบริเวณเข่าจนไม่สามารถเย็บปิดได้และเหล็กก็มีขนาดใหญ่ด้วย คุณหมอจึงทำ Skin Graft (การย้ายผิวหนังไปปลูกถ่ายบริเวณอื่น) ไปปิดแทนที่ที่ตัดน่องมา เป็นการรักษาที่ไม่เคยมีความเจ็บปวดใดจะมากกว่านี้อีกแล้ว หลังจากพักจนอาการดีขึ้น ปอยกลับมาทำงานได้ 3 อาทิตย์ ก็พบว่าติดเชื้ออีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ภายในเดือนครึ่งปอยโดนผ่าไปอีก 3 ครั้ง เพื่อเข้าไปล้างเหล็กจากการติดเชื้อ ก่อนออกจากโรงพยาบาลพบว่าแผลที่ผ่าตัดไม่ติด จึงส่งไปให้ทางทีม Advance Wound Care ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นผู้ดูแล อาจารย์หมอท่านให้ปอยเข้าเครื่องไฮเปอร์แบริก (Hyperbaric Oxygen Therapy: HBO) เพื่ออัดออกซิเจนแรงดันสูงเข้าไปในเซลล์ ทำให้เนื้อเยื่อในตัวเราทำงานได้ดีขึ้น รักษาแผล ฟื้นฟูเซลล์เม็ดเลือดขาว ลดการอักเสบ และทำให้แผลเล็กลง แต่ก่อนจะถึงวันนัดเพื่อเข้าอุโมงค์ออกซิเจน ระหว่างนั้นปอยขาหักแบบทราบได้ทันทีโดยไม่ต้องเอกซเรย์ ปอยทนรอวันหมอนัดเพื่อที่จะเข้าไปนอนโรงพยาบาลทีเดียว พอถึงวันนัดอาจารย์ท่านทราบเรื่องจึงผ่าตัดดามส่วนหักก่อนแล้วจึงเข้าอุโมงค์ออกซิเจนต่อ เป็นการรักษาที่ต่อเนื่องและมีอะไรให้เราได้ตื่นเต้นอยู่ตลอด”
สู้…และสู้เท่านั้น
ในวันที่เราได้พูดคุยกับเธอ (20 มกราคม 2566) รุ่งขึ้นเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมกระดูกที่หัก ซึ่งเป็นครั้งที่ 9 ของเธอ เคสของปอยจึงถือว่าเป็นการรักษาที่หนักหน่วง แต่อย่างที่บอก เธอสู้เสมอ เราจึงถามต่อว่าแล้วเธอผ่านความยากตรงนั้นมาได้อย่างไร
“ตอนที่ป่วย ปอยสู้ทุกครั้ง ทำทุกอย่างเต็มที่ ช่วงผ่าตัดครั้งแรกๆ กำลังใจปอยดีมาก รวมถึงร่างกายเราแข็งแรงเลยฟื้นตัวได้ไว แต่พอมารอบหลังๆ ผ่าตัดเสร็จไปทำงานได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องกลับมาโรงพยาบาลอีก ปอยเหมือนต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ จากปกติที่ปอยชอบไปทำงาน เพราะได้เจอคนคนไข้ เพราะเป็นห่วงคนไข้เนื่องจากคนไข้ชุมชนที่ปอยไปเยี่ยมตามบ้าน พวกเขาไม่ได้มีเงินพอที่จะมาถึงโรงพยาบาล พอปอยไม่ได้ทำงานก็รู้สึกแย่ ขณะที่การรักษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ได้จบแค่ครั้งเดียว เลยยิ่งทำให้เครียดจนไม่อยากทำงาน ไม่อยากไปเจอใคร ปอยโทษตัวเองจนไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เพราะคิดว่าทำให้พ่อ แม่ และสามีต้องมาลำบาก พอมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น คุณหมอเลยส่งพบจิตแพทย์ ปรากฏว่าปอยมีภาวะซึมเศร้าซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว หลังจากรับยา ปอยดีขึ้น โดยมีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจ และมีเพื่อนที่ปอยคุยกับเขาได้ทุกอย่างอยู่เคียงข้าง ในจุดดำๆ ที่ปอยเจอยังมีจุดขาวซ่อนอยู่ นั่นคือความรักของพวกเขา ซึ่งทำให้ปอยกลับมาฮึดอีกครั้งว่ายังตายไม่ได้ เราจะต้องมีชีวิตอยู่เพื่อพวกเขา อีกบุคคลสำคัญที่เป็นคนที่ดึงปอยกลับมาได้จริงๆ คือจิตแพทย์ คุณหมอบอกกับปอยว่า เราไม่ใช่คนผิด ไม่มีใครอยากให้เกิด ถ้าสมมติพ่อแม่ไม่สบาย ปอยพร้อมจะทุ่มเทเหมือนที่เขาทุ่มเทให้ไหม ปอยตอบได้โดยไม่ลังเลเลยว่าทำแน่ จุดนี้เลยทำให้กลับมาย้อนคิดได้ว่านี่คือสิ่งที่เราลืมไป สามีพูดแบบเดียวกับปอยทุกวัน ใจความเดียวกันเลย แต่ตอนนั้นปอยคิดไม่ได้ จะมีคำบางคำที่จิตแพทย์สามารถดึงตัวเราออกมาได้ ปอยเลยอยากให้คนที่ท้อหรือไม่สบายใจไปพบจิตแพทย์ ไม่จำเป็นต้องรอจนเราเครียดขั้นสุด เพราะอย่างน้อยๆ คุณหมอสามารถทำให้เราเห็นมุมมุมหนึ่งที่อาจยังมองไม่เห็นว่ามีทางออก และบางทีความเครียดความกังวลนั้นไม่ได้มาจากตัวเรา แต่เป็นสารสื่อประสาทในร่างกายเราที่ไม่สมดุลด้วย”
ขอบคุณเธอ ขอบคุณฉัน และมุมมองที่เปลี่ยนไป
“ปอยอยากขอบคุณครอบครัวที่เชื่อมั่นในตัวปอย ที่ยอมเสียสละเวลาและเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลปอย การผ่าตัดใส่เหล็กครั้งแรกปอยจ่ายค่าเหล็กไปประมาณ 4 แสน และการผ่าตัดใส่เหล็กอันใหม่จ่ายอีกประมาณ 8 แสนบาท ไม่รวมค่าแอดมิดแต่ล่ะครั้ง ค่าเดินทางและหลายๆ อย่าง แทนที่จะได้ไปซื้ออะไรต่างๆ ที่พวกเขาอยากได้ แต่กลับต้องมาลงที่ลูก พ่อพูดกับปอยว่า “ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร พ่อขอแค่ให้ลูกมีชีวิตอยู่” ขอบคุณแม่และคุณยายที่รักและดูแลปอยอย่างดี ขอบคุณสามีที่ไม่เคยทิ้งปอยไปไหน รวมทั้งครอบครัวสามีด้วยที่ทุกคนดีกับเรามากๆ ขอบคุณผู้อำนวยการและหัวหน้าที่เข้าใจและช่วยเหลือในเรื่องงาน แพทย์และพยาบาลที่เมตตาปอย ขอบคุณอาจารย์แพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ดูแลและเอ็นดูปอยตลอดมา ขอบคุณเพื่อนที่อยู่เป็นเซฟโซนให้ปอยเสมอ ปอยซึ้งใจและขอบคุณจากใจค่ะ
“กับตัวเอง ปอยต้องบอกว่าปอยทนมากเลย ถ้ามองย้อนกลับไป ปอยไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้เราสู้มาถึงขนาดนี้ ทั้งความเจ็บปวดจากคีโม การผ่าตัด การทานยา การกายภาพ รวมถึงการเดินทางไปกลับนครสวรรค์-กรุงเทพฯ ปอยอยู่กับความเจ็บปวดมากเกินไปจนทำให้เรามีภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว ปอยอยากกอดตัวเองแน่นๆ แล้วบอกตัวเองว่าแกเก่งมากๆ แล้ว ขอบคุณตัวเองที่ยอมรักษาและอยากมีชีวิตอยู่ต่อ
“แต่ก่อนปอยเป็นคนหัวรั้น ดื้อ และมุทะลุสุดๆ แต่พอเป็นมะเร็งมุมมองของเราเปลี่ยนไป เรื่องบางเรื่องที่เคยเครียดมากๆ ปอยจะมีคำว่า ‘ช่างมัน’ มากขึ้นเยอะ จากคนที่ทำทุกอย่างเร็ว ซึ่งก็ยังเร็ว แต่ความเร็วลดลงเยอะ ถ้าเมื่อก่อนใครเข้าหาปอย ปอยจะมองในแง่ร้ายก่อน แล้วถ้าเขาเข้ามาดี ปอยถึงเปลี่ยนใจยอมรับ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าปอยมองคนในแง่ดีมากขึ้น มองในมุมดีๆ ของเขาแค่นั้นพอ ปอยเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่ใช้ชีวิตโลดโผน แต่ยังเกิดมะเร็งได้ ปอยเลยมองว่าโรคภัยเกิดได้หมดกับทุกคนไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร หรือในการดูแลคนไข้ เมื่อก่อนคำพูดของเรากับคนไข้จะห้วนๆ ห้าวๆ พอมาเป็นคนไข้เอง เรารู้แล้วว่าสิ่งที่คนไข้ต้องเจอคืออะไร กลายเป็นว่าการแสดงออกทุกอย่างเปลี่ยนไป เข้าอกเข้าใจคนไข้ และเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้มากขึ้น”
จะอยู่เคียงข้างเสมอ
“เป็นมะเร็งไม่ได้เท่ากับว่าต้องตาย บางคนพอทราบว่าเป็นมะเร็งแล้วก็ใจเสีย จากไปก่อนที่จะได้รักษา แต่ทุกวันนี้มะเร็งรักษาได้แล้ว ปอยเองเจอมาหนักมากยังอยู่ได้จนถึงวันนี้ ปอยเลยอยากให้ทุกคนอย่าเพิ่งท้อ การป่วยทำให้ร่างกายของเราไม่เหมือนเดิมก็จริง แต่เรามีทางเลือกในการรักษาที่มากขึ้นและมีตัวช่วยที่ทำให้เราอยู่ได้ใกล้เคียงเดิม ปอยยอมรับเลยว่าการให้คีโมหนักมากสำหรับปอยแต่มันก็ต้องให้เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอดของเรา อยากให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นในการรักษา แพทย์ทุกคนมีความเก่งอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าโรคของเราอยู่ระดับไหน สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้ได้ มีความสุขกับปัจจุบันไม่ใช่ความสุขกับอดีตหรืออนาคต แล้วครอบครัวคือพลังใจที่ดีของคนไข้ คือกำลังสำคัญที่สุดที่จะช่วยประคองให้คนไข้มีชีวิตอยู่ต่อ ปอยเลยอยากให้ครอบครัวของคนไข้เข้มแข็งด้วย ที่สำคัญคือการเชื่อมั่นในตัวเราว่ายังมีโอกาสหาย เพื่อนที่ปอยบอกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของปอย เขาไปเรียนคอร์สจิตวิทยา เขาบอกว่าให้เราคิดเสมอว่าเราหายแล้ว แล้วความคิดจิตใต้สำนึกของเราจะเป็นตัวกำหนดให้เราไปได้ถึงจุดนั้นได้ ปอยทำตามดูและพบว่ามุมมองแบบนี้ทำให้ปอยรู้สึกดีขึ้นมาก ปอยจะต้องผ่าตัดพรุ่งนี้ ตอนนี้ปอยชิลล์มาก ไม่ได้กลัว ไม่ได้กังวลกับการผ่าตัดพรุ่งนี้เลยค่ะ ผ่าก็ผ่า ผ่าเถอะ มันปวดค่ะคุณหมอ
“ตอนนี้ปอยดีขึ้นจนสามารถมาแบ่งปันรื่องราวของปอยให้กับผู้คนได้แล้ว แต่ก่อนปอยไม่อยากคุยเลยนะคะ เพราะเครียด แต่พอมองมุมกลับกัน ปอยเจอในสิ่งที่คนอื่นควรระวัง ยิ่งมะเร็งกระดูกที่พบน้อยในผู้ใหญ่ ส่วนมากจะเกิดในเด็กและไม่แสดงอาการออกมา ไม่มีก้อนหรือว่าอาการปวด ต้องไปดูฟิล์มถึงจะเห็น เพราะฉะนั้น ไกด์ไลน์ก่อนหน้าไม่ได้มีให้เราเห็นมากเท่ามะเร็งชนิดอื่นๆ ในฐานะผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากทุกคนรอบข้างและทำงานด้านสุขภาพด้วย เราควรจะคืนสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับไปให้สังคมบ้าง ปอยเลยอยากมาแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประสบการณ์ของเราเป็นแนวทางให้กับคนอื่นๆ เพื่อให้เขาระมัดระวังมากขึ้น ไม่ต้องมาเจอแบบเรา และเป็นจุดเริ่มต้นให้คนอื่นได้ตระหนักถึงภาวะของคนที่เป็นโรคนี้ รวมถึงสิทธิ์การรักษา หรือขั้นตอนการใช้สิทธิ์ต่างๆ ว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น ไม่ต้องลังเลนะคะ ติดต่อมาคุยได้เลย ปอยยินดีมากๆ ค่ะ”
ทุกวันนี้ นอกจากงานประจำที่เธอรักในบทบาทนักกายภาพบำบัด ตอนนี้ปอยได้มีงานอดิเรกเพิ่มขึ้น นั่นคือการขายกระเป๋ามือสอง กิจกรรมซึ่งทำให้เธอมีความสุขและไม่ไปจดจ่ออยู่กับโรคหรือสิ่งที่เผชิญอยู่
“เชื่อเถอะค่ะ การที่เรากินอิ่มและนอนหลับได้ นั่นคือสิ่งที่วิเศษสุดๆ แล้วจริงๆ (ยิ้ม)”
เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: www.facebook.com/AkaraPOY6