จนถึงตอนนี้ ก็ราวๆ 2 ปีกว่าแล้วที่ส้ม – อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง แม้ว่าก่อนหน้ามุมมองของเธอต่อโรคนี้จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวและไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยถึง ทว่าแท้จริงแล้วเธอกลับพบว่า “มะเร็ง” ได้ทำให้เธอได้เห็นแง่มุมของชีวิตแบบครบทุกมิติ ตั้งแต่สัจธรรมชีวิตของการเกิด แก่ และเจ็บ ความรักและสติอันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้คนคนหนึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความอ่อนแอทั้งทางกายและใจ จนกระทั่งกลับมาใช้ชีวิตในความปกติใหม่ด้วยความสุขที่เธอเลือกได้เอง
ในวันที่ฉันเป็นมะเร็ง
“ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี 61 ตอนนั้นส้มคลำเจอก้อนบริเวณสุดโครงเสื้อใน ซึ่งไม่ได้เอะใจว่าจะเป็นมะเร็งนะ เพราะส้มเคยมีถุงน้ำที่เต้านม ก็เลยรอดูไปก่อนยังไม่ไปตรวจ พอสักเดือนกรกฎาคม คลำแล้วยังเจอก้อน เลยคิดว่าน่าจะลองไปหาหมอตรวจดูเสียหน่อย พอไปถึงคุณหมอให้แมมโมแกรม ซึ่งผลแมมโมแกรมก็บอกว่าเรามีความเสี่ยง 30% คุณหมอก็เลยขอเจาะก้อนเนื้อนี้ไปตรวจดู แล้วนัดอีก 2 วันมาฟังผล แต่ปรากฏวันรุ่งขึ้นก็เรียกไปฟังผลเลย ซึ่งผลออกมาคือเป็นมะเร็ง
ด้วยขนาดของก้อนที่คลำได้ประมาณปลายนิ้วก้อย เบื้องต้นคุณหมอคาดคะเนว่าน่าจะอยู่ที่ระยะแรก แต่ด้วยตำแหน่งของก้อนอาจมีโอกาสที่มะเร็งจะลามไปต่อมน้ำเหลือง การรักษาจึงเริ่มจากการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า ถ้าออกมาห้องผ่าตัดแล้วมีสายเดรนเลือด แสดงว่ามะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง พอออกจากห้องผ่าตัด ส้มเจอว่ามีสายเดรน เราก็รู้แล้วว่ามะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง หลังจากพักฟื้นที่บ้านได้ 2 อาทิตย์ คุณหมอก็นัดถอดสายเดรนออก ซึ่งผลออกมาคือส้มเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 2 แบบรับฮอร์โมน ต้องทานยาต้านฮอร์โมนตลอดอย่างน้อยก็ 5 ปี ทำคีโม 8 ครั้ง ฉายแสง 35 ครั้ง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนเมษายน”
ความเจ็บที่ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด
“แต่ก่อนส้มไม่กล้าพูดคำว่ามะเร็งเลยนะ และส้มก็เชื่อว่าหลายๆ คนคงไม่กล้าพูดคำนี้เหมือนกัน เวลาพูดถึง “มะเร็ง” มันจะมาคู่กับคำว่าคีโม ซึ่งส้มไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร ถามว่ากลัวความเจ็บความปวดไหม ไม่กลัว แต่กลัวว่าเราจะเป็นอย่างไรต่อไปมากกว่า พอรักษาจริงๆ ส้มกลับพบว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เคยคิด ความเจ็บปวดก็ไม่ได้เจ็บอย่างที่คิด เราคิดว่าคีโมน่ากลัว เอาจริงๆ ก็น่ากลัวแหละ แต่ไม่ได้น่ากลัวเท่าที่เราคิด มะเร็งก็เหมือนโรคอื่นๆ ที่เวลาเราป่วยก็ต้องรับการรักษาตามขั้นตอนของคุณหมอเพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง”
เมื่อซึมเศร้าเข้ามาเยือน
“ตอนสองเข็มแรก ส้มสู้เต็มที่ ยังไม่เป็นอะไร แต่พอขึ้นเข็มที่สาม ส้มเริ่มเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า ใช้ชีวิตไม่ได้ เริ่มรู้สึกแย่ รู้สึกไม่มีค่า อะไรก็ไม่มีค่า มองไปรอบตัวก็เห็นแต่สิ่งที่ไม่มีค่า เปล่าประโยชน์ หายใจไปก็เท่านั้น สภาวะตอนนั้นเหมือนอยู่ในแก้วที่ใครพูดอะไร ปลอบใจอย่างไร ส้มรับเข้ามาไม่ได้เลย แต่ถ้าเห็นอะไรแย่ๆ เราจะดูดมันเข้ามาทันที ส้มพยายามจะดึงตัวเองขึ้นมาจากหลุมดำเหล่านี้ แต่ต้องยอมรับว่าไปต่อเองไม่ไหวจริงๆ แม้จะพยายามเต็มที่ ทั้งอ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์ ลองหางานอดิเรกทำตามที่คุณหมอแนะนำ ก็ไม่ดีขึ้น เลยขอพบจิตแพทย์ ซึ่งถ้าพูดถึงสังคมไทยกับจิตแพทย์ เป็นอะไรที่คนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยและไม่กล้าที่จะพูดถึง แต่เรายืนยันกับคุณหมอที่จะขอพบจิตแพทย์
หลังจากพบจิตแพทย์ ส้มได้ยามาทาน แต่วันแรกก็แทบแย่เหมือนกัน เพราะมันตีกัน ตอนแรกดีเลย รู้สึกเป็นตัวเองกลับมา ยิ้มได้ แต่ยาก็มีขอบเขตของการออกฤทธิ์ เช้ามาตีห้า ความรู้สึกแย่ๆ กลับมา ส้มจำได้ว่า เหงื่อตก เดินจับชายเสื้อแฟนแล้วบอกว่ามันกลับมาอีกแล้ว ตอนนั้นรู้สึกว่ามะเร็งยังไม่น่ากลัวเท่านี้ ต้องทานยาไปได้สองสามอาทิตย์ถึงเริ่มดีขึ้น
สำหรับภาวะซึมเศร้า คุณหมอเฉลยตอนหลังว่า อาการของส้มเป็นผลมาจากคีโมที่ไปทำลายการรับรู้ของสมอง ซึ่งในภาวะปกติ ในร่างกายคนเราจะมีการส่งสัญญาณสุขและสัญญาณทุกข์ คีโมได้ไปทำลายส่วนของความสุขตรงนี้ทำให้สัญญาณรับความทุกข์ทำงานอย่างเดียว ถ้าส้มไม่ทานยา ส้มไม่น่าจะหายได้ บางคนอาจจะบอกว่าซึมเศร้าหายได้ แต่สำหรับส้มไม่ใช่ แล้วถ้าส้มแอบรู้ระแคะระคายว่าใครเป็น ส้มจะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เลย เราไม่จำเป็นต้องทนเพราะนี่เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้นะ ในเมื่อยาช่วยได้ เราก็ทานเถอะ”
ครอบครัวคือยาชูกำลังทางกายและทางใจ
“ในเวลาที่ท้อสุดๆ ส้มพยายามบอกตัวเองว่าเรามีครอบครัวที่รักและดูแลเราอยู่ ณ วันที่ส้มเป็นมะเร็ง ลูกชายต้องเปลี่ยนจากที่มีแม่คอยดูแล กลายเป็นต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ส้มก็ย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้ ใครจะดูแลเขาในอนาคต สำหรับสามี ถึงแม้เขาจะต้องออกไปทำงานทุกวัน แต่เขาก็พยายามดูแลเราอย่างเต็มที่ เตรียมอาหารให้ส้มแต่เช้าทุกวัน วันที่เราคีโม เขาก็จะลางานไปดูแลนั่งรอ รวมไปถึงคุณแม่ที่พยายามส่งเรื่องราวดีๆ มาเป็นกำลังใจตลอด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ส้มอยากจะหายจากภาวะนี้ ซึ่งนอกจากครอบครัวแล้ว สติสำคัญมาก รวมทั้งการรักษาของคุณหมอด้วย
ส้มอยากจะบอกว่าทุกคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ทั้งครอบครัว เพื่อนๆ และพี่ๆ ที่โรงพยาบาล เป็นกำลังใจที่ดี พวกเขาเองคงไม่รู้ว่าช่วยเหลือส้มมากขนาดไหน สิ่งที่ทุกคนทำให้ส้ม เหมือนพวกเขากำลังหยอดกำลังใจลงไปในหลุมให้หลุมของส้มตื้นขึ้น ทำให้ในวันที่เราหล่นลงไปในหลุมดำนั้นแล้วรู้สึกว่าไม่ลึกเท่าเดิมแล้ว เราตะกุยขึ้นมาได้ง่ายขึ้น ส้มรู้สึกโชคดีที่ได้เจอพวกเขา ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ต้องขอบคุณทุกคนมากจริงๆ”
ชีวิตบนความสุขที่เราเลือกเอง
“เรื่องมะเร็ง ส้มจะให้เป็นหน้าที่คุณหมอ ส่วนตัวเองก็จะทำตามที่คุณหมอบอก ในเมื่อคุณหมอไม่ได้ห้ามอะไร ส้มก็จะไม่หาข้อห้ามให้ตัวเอง แต่ก่อน ส้มจะทานแต่ปลา เนื้อแดงไม่ทานเลย แล้วเพื่อนบ้านส้มเป็นคุณหมอก็แนะนำว่าขอให้ยึดทางสายกลางในเรื่องการรับประทาน ควรจะทานอาหารที่หมุนเวียนไป
ถามว่ากลัวมะเร็งจะกลับมาอีกไหม…ก็กลัว แต่ส้มมองว่าเป็นเรื่องของอนาคต ส้มไม่ได้ไม่กลัวโรคนี้นะ แต่ในเมื่อเราเป็นไปแล้ว ก็ต้องยอมรับให้ได้ว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก สำหรับตอนนี้ส้มเลือกที่จะมีความสุข เชื่อไหม ทุกวันนี้ก่อนนอน ส้มจะถามตัวเองก่อนเลยว่าเราไปทำร้ายจิตใจใครบ้างรึเปล่า ถ้าทะเลาะกับสามี ก่อนนอนเราก็ไปหอมแก้มเขาสักหน่อย ทำทุกๆ อย่างให้ดีที่สุด สำหรับส้ม ทุกวินาทีหลังจากนี้ ส้มพยายามทำในสิ่งที่ดีกับตัวเองก่อน เอาตัวเองเป็นหลัก ขอเห็นแก่ตัวนะ ให้เรารู้สึกดี แล้วเราก็จะดีกับทุกคนได้เอง”
“มะเร็ง” สิ่งที่เป็นทั้งครูและทำให้ชีวิตสุขง่ายกว่าเดิม
“สำหรับส้ม มะเร็งเป็นประสบการณ์หนึ่งที่เป็นครูสอนเราและให้โอกาสเรา ไม่อย่างนั้นส้มอาจจะยังคงหน้ามืดตามัวกับการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ลืมไปว่าคนเราเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นสัจธรรมชีวิตที่คนเรามักจะลืม พอเป็นมะเร็ง ส้มถามตัวเองว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร จะอยู่แบบไหน อยากทำอะไร เป้าหมายของส้มไม่ได้เป็นอะไรที่ใหญ่โต เอาแค่วันนี้ อยากหอมแก้มลูกให้ครบ 10 ที ก็ทำเลย มะเร็งทำให้ส้มเห็นว่า ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องไปสวิงสวายหา บางทีได้เห็นต้นไม้ออกดอก ได้ดูแลสิ่งมีชีวิตเล็กๆ รอบๆ บ้าน ส้มก็มีความสุขแล้ว ความสุขในปัจจุบันจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตที่เจอได้ทุกวัน ไม่ตั้งเป้าหมายอะไรให้ไกลโพ้น การทำเป้าหมายเล็กๆ อันหนึ่งให้สำเร็จ ก็ทำให้ส้มยิ้มได้เรื่อยๆ นะ เอาจริงๆ ส้มรู้สึกว่า มะเร็งทำให้เราได้มองเห็นความสุขจากความปกติเดิมที่เคยชิน บางคนอาจมองความสุขว่าต้องรวย ต้องสวย ต้องหล่อ ได้ไปเที่ยวไหนต่อไหน ส้มไม่ปฏิเสธว่านั่นก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่สำหรับส้ม ความสุขจริงๆ คือได้นั่งอยู่ตรงนี้ ได้มีเรื่องดีๆ ให้นึกถึง ต้องขอบคุณมะเร็งที่ทำให้ส้มมีความสุขง่ายขึ้น”
ชีวิตบนความไม่ประมาท
“คนทั่วไปที่ยังไม่ป่วย อย่างแรกคืออย่ากลัวหมอ ถ้ารู้สึกผิดปกติ ก็ควรไปปรึกษาคุณหมอ ตอนนี้สวัสดิการการรักษา เขาก็ดูแลคนป่วยด้านนี้ได้อย่างครอบคลุม ไม่ต้องกังวลที่จะไปตรวจ ส้มเชื่อว่าหลายๆ คนไม่อยากรู้ว่าตัวเองป่วย ก็เลี่ยงไม่ไปตรวจดีกว่า ซึ่งจริงๆ เราไปตรวจแล้วอาจจะไม่เป็นอะไรก็ได้ แต่ควรให้คุณหมอบอกว่าเราไม่เป็นอะไร ซึ่งน่าจะสบายใจดีกว่า เอาง่ายๆ พยายามไม่ประมาทกับชีวิต แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องถึงกับเข้มงวดจนเครียด ตรวจร่างกายบ้าง ทำตามสิ่งที่เขาแนะนำตามวัย ตามเพศ เรามีความเสี่ยงด้านไหนก็สำรวจตัวเองเบื้องต้น ซึ่งถ้าเราป่วย การรักษาอาจไม่ได้ใช้เวลาไปตลอดชีวิต อาจจะเสียเวลาสักปีหนึ่งในการรักษา พอหายแล้ว เราก็กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม
สำหรับคนที่ป่วยแล้ว เชื่อว่าตอนป่วยทุกคนก็กลัว อยากให้เขาคิดว่าการรักษาไม่ได้จะดึงชีวิตเราไปทั้งหมด อะไรที่เป็นหน้าที่คุณหมอ ก็ปล่อยให้เขาทำ พยายามเลี่ยงเรื่องราวที่เราเซนซิทีฟ แต่ถ้าห้ามไม่ได้ ถ้ามันปะทะเข้ามาแล้ว ก็พยายามโยนทิ้งไปให้เร็ว หาอย่างอื่นทำ สู้กับความคิดตัวเอง นับไปเลยว่าเมื่อไหร่จะเราจะคีโมหรือฉายแสงครบ แล้วเราก็วางแผนตั้งแต่ตอนนั้นว่าเราจะทำอะไรที่ตอนคีโมอยู่เราทำไม่ได้ หรือช่วงที่ร่างกายแย่ๆ เราทำไม่ได้ เมื่อรักษาหายเมื่อไหร่เราจะไปทำนะ ตอนไม่มีผมเราอยากทำอะไร ถ้ามีผมเราจะทำอะไร ส้มอยากให้ทุกคนมองอนาคตหลังจากที่เรารักษา ลองมองหาความสุขเราที่เราหยิบตั้งได้ง่ายๆ แต่เอาจริงๆ ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ถ้าเรามองหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ได้มันก็ชุ่มชื้นหัวใจแล้ว”
เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล (SUDAPORN JIRANUKORNSAKUL)
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ (ZUPHACHAI LAOKUNRAK)
ภาพบางส่วน: อรชนก ปิงสุทธิวงศ์ (ONJANAKA PINGSUTHIWONG)