ดูแลด้วยรักและเข้าใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต

นุ่นและปอเป็นทั้งคู่รัก คู่ชีวิต เพื่อน และครอบครัวที่อยู่เคียงข้างกันตลอดมา ในวันที่ปอตรวจพบว่าตัวเองเป็น ‘มะเร็งต่อมหมวกไต’ (ACC – Adrenocortical Carcinoma) เชื้อมะเร็งได้ลุกลามไปยังตับและปอดช่วงล่างแล้ว การรักษาดำเนินไปหลายเดือนจากการรักษาที่เมืองไทยสู่การตัดสินใจเดินทางไปรักษาต่อที่สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยระยะของโรคที่ไม่สามารถทำการรักษาได้แล้ว ทำได้เพียงการรักษาเพื่อประคองอาการ ทั้งคู่จึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยอีกครั้ง ขณะที่เดินทางกลับนั้นเอง อาการของปอทรุดลงและจากไปขณะอยู่รอเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศดูไบ

ในวันที่เจอกับนุ่น เธอบอกกับเราว่าวันนี้เธอเข้มแข็งขึ้นแล้ว และพร้อมมาบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งในฐานะของผู้ดูแล การรับมือกับภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักในยามเจ็บป่วย ตลอดจนการเยียวยารักษาใจเธอเองในวันที่ต้องพบกับสัจธรรมของชีวิตอย่างการเจ็บป่วยและจากลาที่ไม่เคยง่ายสำหรับใครเลย 

‘มะเร็งต่อมหมวกไต’ โรคหายากในไทย

นุ่นและปอเป็นเจ้าของร้านอาหารในอเมริกา หลังจากใช้ชีวิตที่ต่างแดนมาหลายปี ทั้งคู่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 กระทั่งต้นปี 2022 ปอมีอาการปวดท้องคล้ายกับอาการอาหารไม่ย่อย จึงไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล จนพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งต่อมหมวกไต ระยะที่ 4 ที่ลุกลามไปยังตับและปอดช่วงล่างแล้ว

“ด้วยอาการแรกที่พี่ปอเป็นจะใกล้เคียงกับอาการอาหารไม่ย่อย แต่แตกต่างจากอาการท้องอืดท้องเฟ้อทั่วไปตรงที่เวลากดท้องแล้วจะแข็งกว่าปกติเหมือนเป็นมีลักษณะของก้อนบางอย่างอยู่บริเวณซี่โครง คุณหมอส่งพี่ปอไปทำ CT Scan จนพบว่าเป็น ACC (Adrenocortical Carcinoma) หรือมะเร็งต่อมหมวกไต โดยมะเร็งชนิดนี้เป็นมะเร็งที่พบน้อยมากในประชากร ถ้าดูจากสถิติจะมีอุบัติการณ์ปีละ 1-2 รายต่อประชากร 1 ล้านคน และมักเกิดในเด็กอายุน้อยมากๆ เช่น 3-4 ปี และผู้ใหญ่วัยกลางคน 

“ปกติแล้ว ต่อมหมวกไตของคนเราจะมี 2 ต่อมอยู่ข้างหลัง ขนาดประมาณ​ 1.5 เซนติเมตร แต่ของพี่ปอมีขนาด 16 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่เท่าลูกเมล่อนเลย แล้วเจ้าก้อนนี้มาเบียดกระเพาะอาหาร พี่ปอเลยมีอาการแบบที่บอกไปว่ารู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย แม้ว่าพวกเราจะตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ แต่ด้วยมะเร็งชนิดดังกล่าวไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ และโรคนี้ลุกลามค่อนข้างเร็ว ในวันที่ตรวจเจอ เซลล์มะเร็งกระจายไปยังตับและปอดแล้ว แล้วพอเป็นชนิดของมะเร็งที่หายาก มีคนเป็นน้อยมากในประเทศไทย ยาคีโมที่คุณหมอให้ได้จึงเป็นคีโมแบบครอบจักรวาล เพราะไม่มียาเฉพาะสำหรับการรักษา”

ความทรงจำในวันจากลา

“พอต่อมหมวกไตโต แล้วไม่ใช่แค่ก้อนธรรมดา แต่แปลงเป็นเนื้อร้ายแล้ว มันจึงส่งผลต่อการผลิตและควบคุมฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งการที่ก้อนมะเร็งผลิตฮอร์โมนมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการหลายๆ อย่าง เช่น เรื่องความดัน เบาหวาน การเปลี่ยนแปลงระดับเกลือแร่และแร่ธาตุชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญนะคะ เช่น ถ้าโปแตสเซียมต่ำทำให้หัวใจวายได้ หรือแมกนีเซียมต่ำจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ดังนั้น พี่ปอจึงมีอาการหลายๆ อย่าง จากไม่เคยเป็นเบาหวานและความดัน ก็กลายเป็นความดันและค่าน้ำตาลสูงขึ้น หรือเวลาให้ยาคีโมที่จะมีสเตียรอยด์ ร่างกายพี่ปอจะอ่อนแอลง เรียกว่าชีวิตของพี่ปอเปลี่ยนไปเลย จากที่เคยแข็งแรง กระฉับกระเฉง ต้องมากินยาเป็นกำ มากินเกลือแร่เพิ่มเพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปทำให้เกลือแร่และแร่ธาตุในร่างกายเปลี่ยนไปด้วย ระหว่างการรักษาจึงมีหลายๆ เหตุการณ์ที่ทั้งเราและคุณหมอเรียนรู้ไปด้วยกัน  

“อาการของพี่ปอถือว่าหนักทีเดียว คุณหมอถามเราสองคนว่าจะสู้ไหม ถ้าสู้ เรามาสู้กันสักตั้ง แต่ด้วยความรุนแรงของโรคที่ทำให้ร่างกายอ่อนอยู่แล้วกลับอ่อนแอลงไปอีกหลังการให้คีโม โดยปกติการให้คีโมจะมีช่วงที่คนไข้ภูมิตก แต่ถ้าร่างกายตอบสนองและโรคดีขึ้น คนไข้จะกลับมาแข็งแรงขึ้น แต่กราฟของพี่ปอเป็นกราฟแบบดิ่งลง ตอนนั้นนุ่นไม่อยากให้เขาเจ็บและทรมาน เราเลยทำทุกอย่าง ดูแลเขาทั้งทางร่างกายและทางจิตใจอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่าเราไม่เหนื่อยและไม่เสียใจนะคะ แต่นุ่นอยากให้พี่ปอเชื่อมั่นว่าเขาต้องดีขึ้น เราคือกำลังใจของเขา อยากสู้อยู่ข้างๆ เขา หมอพูดกับเราว่าโรคนี้รักษายากนะ และขอให้ทำใจเผื่อไว้ เราเองก็ทำใจ แต่ ณ วันนั้น เราต้องมีความหวังว่าเราจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่รอดได้ พี่ปอจะต้องรอด ที่สำคัญ ตัวเขาเองก็เข้มแข็ง อดทน และเป็นนักสู้มากๆ นั่นคือเหตุผลที่เราสู้เพื่อเขาแบบไม่เคยเปลี่ยนมือเลยมาตลอด 6-7 เดือนที่รักษาอยู่ที่เมืองไทย” 

เพราะมะเร็งต่อมหมวกไตส่งผลให้ร่างกายของปอเกิดโรคอื่นๆ ตามมาหลายโรค อีกทั้งยังเกิดภาวะบวมน้ำ น้ำหนักเพิ่มขึ้นหลายกิโลกรัมในชั่วข้ามคืน อาการของปอค่อยๆ ทรุดลง หลังจากที่คุณหมอแจ้งว่าคงไม่มีวิธีรักษาแล้ว ที่ทำได้คือการรักษาแบบประคองอาการ เวลาเดียวกันนั้นเพื่อนของนุ่นและปอที่มาบอกว่าที่อเมริกายังมีวิธีการรักษาแบบอื่นๆ นั่นเป็นเหตุผลให้ทั้งสองตัดสินใจเดินทางไปที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา 

“เราปรึกษาคุณหมอว่าเราพาพี่ปอกลับอเมริกาได้ไหม เผื่อว่าที่นั่นจะมีทางเลือก ตัวยา หรือโอกาสให้เราได้สู้มากกว่านี้ เพราะหากอยู่เมืองไทย ถ้าหมดคีโม การรักษาก็ไปต่อไม่ได้ ต้องอยู่แบบนั้นไปเรื่อยๆ แล้วการให้คีโมเพิ่มก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้อาการดีขึ้น ตอนนั้นร่างกายพี่ปอทรุดลงทั้งจากการให้คีโมและจากตัวโรคเพราะมะเร็งชนิดนี้หนักจริงๆ 

“หลังจากตัดสินใจจะไป เราเตรียมตัวอยู่ประมาณ 2-3 อาทิตย์ แล้วก็บินไปรักษาที่นิวยอร์ก พอไปถึง พี่ปอเริ่มทรุดลง ร่างกายไม่พร้อมเพราะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทำให้ไม่ได้รักษาต่อ เราทำได้เพียงการประคองอาการให้คงที่ที่สุดและพาเขากลับบ้านตามคำขอของพี่ปอ ระหว่างเดินทางกลับไทย เราเจอกับงานหินหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเดินทาง การย้ายผู้ป่วย รวมถึงสภาพร่างกายเขาด้วย พอถึงดูไบ ความดันตัวบนอยู่ 50 ตัวล่าง 30 ซึ่งต่ำมาก ประมาณ 10 วันสุดท้ายเขาแทบกินข้าวและดื่มน้ำไม่ได้แล้ว ก่อนจะเสียชีวิตในโรงพยาบาลที่ดูไบ”

ในความโชคร้ายที่มีโชคดีซ่อนอยู่

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นุ่นเห็นความเป็นความตายอยู่ใกล้กันนิดเดียว เหมือนเป็นบททดสอบของชีวิตที่หนักมาก เพราะก่อนหน้านั้น นุ่นกับพี่ปอเรียกว่าตัวติดกัน ไปด้วยกันทุกที่ เหมือนเป็นคนคนเดียวกัน ชีวิตเราสองคนกำลังไปได้สวย และเรามีความสุขกันมาก จนวันนี้ที่พี่ปอไม่อยู่ นุ่นมีคำถามมากมายว่าทำไมคนดีๆ ถึงจากไปเร็วจัง แล้วทำไมต้องเป็นเรา ทำไมเราถึงไม่ได้อยู่ด้วยกัน คิดถึง และอยากจะกลับไปอยู่ด้วย ตายตามได้ไหม แต่มาวันนี้ วันที่เรานั่งคุยกันอยู่ นุ่นดีขึ้นมาก ส่วนสำคัญคือการได้ไปปฏิบัติธรรมที่ทำให้ใจสงบและมีสติขึ้น ทำให้เราไม่ฟุ้งซ่านและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ 

“ทุกวันนี้ความรักที่นุ่นมีให้พี่ปอยังคงอยู่และจะอยู่ไปตลอด ยังคิดถึงเขาตลอด จะไปเที่ยว ไปทำบุญกับเพื่อนๆ นุ่นจะนึกถึงและอุทิศสิ่งที่เราทำให้เขา นุ่นเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราสองคนคงได้เจอกัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนนุ่นพูดไม่ได้ขนาดนี้นะคะ และแม้นุ่นจะสูญเสียคนที่รัก แต่นุ่นโชคร้ายเรื่องเดียวคือเรื่องนี้ ขณะที่นุ่นโชคดีในอีกหลายๆ สิ่ง ได้เห็นว่าใครที่เป็นเพื่อนแท้ที่อยู่ข้างๆ ในวันที่เราทุกข์และเจ็บปวด ได้รับความหวังดี ความรัก และแรงสนับสนุนจากทั้งครอบครัวและเพื่อนๆ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้นุ่นได้ลำดับความสำคัญในชีวิตใหม่ทั้งหมด ตอนนี้นุ่นไม่ยึดติดอะไรอีกแล้ว ชีวิตที่เหลือนุ่นใช้ไปกับการดูแลคุณพ่อคุณแม่ กลับมาดูแลตัวเอง เริ่มทำอะไรต่างๆ เพื่อตัวเอง ไปทำบุญ ไปเที่ยว ไปเปิดหูเปิดตา และออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ทำให้ใจเรามั่นคงขึ้น และใช้ชีวิตที่เหลืออย่างดีที่สุด นี่ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว นุ่นคิดว่าถ้าเรายิ้มไม่ได้ แล้วเราจะไปส่งยิ้มตัวเองและใครต่อใครได้อย่างไร”

ดูแลด้วยหัวใจและความรัก

“ตอนที่นุ่นดูแลพี่ปอ นุ่นไม่ได้แตะมือใครเลย จากประสบการณ์ นุ่นรู้สึกว่าคนไข้แต่ละคนมีความต้องการเฉพาะของตัวเองที่แตกต่างกันในรายละเอียด ทั้งด้วยนิสัย ความต้องการ อาการของโรค และข้อจำกัดต่างๆ คำแนะนำที่นุ่นจะให้ได้สำหรับผู้ดูแลคือการใส่ใจในรายละเอียดของคนที่เราดูแลอยู่ เขาอยากได้แบบนี้ ต้องการแบบนี้ คุณหมอแนะนำไว้ว่าโรคนี้ต้องระมัดระวังอะไร จากนั้นเราก็ปฏิบัติตามให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ที่สำคัญคือการอยู่เคียงข้างและทำให้เขามั่นใจและอุ่นใจว่าเราจะอยู่ข้างๆ เขาเสมอนะไม่ว่าจะยามทุกข์หรือสุข เพราะสุดท้ายแล้วคนดูแล ครอบครัว และเพื่อนคือกำลังใจที่สำคัญที่ทำให้พวกเขาสู้ต่อไปได้ในทุกๆ วันกับความยากลำบากของโรคที่เขาเผชิญอยู่ เมื่อวันที่คนที่เรารักจากไป การทำทุกอย่างด้วยใจ ด้วยความรัก จะทำให้เราไม่เสียใจและเสียดาย เพราะเราได้ทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจและทำอย่างดีที่สุดแล้วจริงๆ” 

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

Share To Social Media