อย่างที่รู้กันดีว่าโลกนี้ไม่มีอะไรอยู่นิ่ง แม้ชีวิตก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นสัจนิรันดร์ ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนอยู่ภายใต้ความเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้ และ ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งซึ่งเคยมี เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว…ไม่มี มาแล้ว…ก็หายไป เปลี่ยนไป หลายสิ่งทิ้งไว้เพียงสัญลักษณ์ให้จดจำ หลายอย่างทิ้งเรื่องราวให้รำลึก ศึกษา เรียนรู้ ขอบคุณ และก้าวข้ามไปด้วยปัญญาที่เข้าใจยิ่งขึ้น เพื่อสุดท้ายเราจะมั่นคง เบิกบานได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
แม่ชีณัฐรดา ทิพย์สมบัติ ผู้ป่วยมะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก ชนิดพบน้อย แต่เป็นพันธ์ุดุแพร่กระจายเร็ว วัย 45 ปี อดีตเจ้าของกิจการรับฝากขายอสังหาริมทรัพย์ สปา และร้านกาแฟ ฯลฯ ผู้ที่เคยเข้าใจว่า การมีรายได้มากๆ จะนำมาซึ่งความสุขของตัวเองและคนที่เธอรัก นั่นจึงทำให้เธอยอมทุ่มเท ทั้งเวลา แรงใจ แรงกายทั้งหมด จนกระทั่งมะเร็งได้เข้ามาทักทาย เสมือนเป็นการค้นพบครั้งใหม่ที่นำไปสู่ความเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง

“ณ วินาทีที่คุณหมอแจ้งผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็ง และเป็นพันธุ์ดุ แพร่กระจายเร็ว จะต้องเร่งให้คีโม สิ่งที่แวบขึ้นมาในตอนนั้นคือ อ๋อ…นี่นะหรือของยืม สู่ความเข้าใจยิ่งขึ้นว่า ตัวเรา ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกเหตุการณ์ ทุกผู้คน สัตว์ สิ่งต่างๆ แม้แต่คนที่รักที่ผ่านเข้ามาล้วนเป็นเพียง ‘ของยืม’ ของชั่วคราว ไม่เที่ยง ต่างมีความแปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัย แค่ผ่านมาให้รู้ว่า นี่คือทุกข์ มีสภาพทุกข์ เป็นทุกขลักษณะ คือ ไม่เที่ยง ยึดเป็นตัวตนไม่ได้เลยว่า เป็นเรา เป็นของเรา ลาภ ยศ สรรเสริญ เหมือนบ่วงหยาบที่กว่าจะวางได้ก็หลงใช้เวลายึดมานาน เมื่อวางได้สุดท้ายก็เรายังหลงยึดบ่วงละเอียดอีก นี่คือคนรัก ครอบครัว รักกันอย่างไรก็เอาไปไม่ได้ เหมือนตื่นจากความหลง สู่การวางว่า ไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา แล้วอาการที่เข้าไปยึด นั่นแหละตัวทุกข์ที่ไปยึดของไม่เที่ยง เพราะอยากจะให้มันคงเดิม
“มันดูเหมือนยาวนานนะ พอเล่าออกมาเป็นภาษาพูด แต่จริงๆ ตอนเห็นเร็วมากที่ผุดขึ้นมาแล้วก็ดับไปหลังคุณหมอพูดไม่นาน แล้วสติก็ดึงกลับมาที่ปัจจุบันว่า ก็ในเมื่อตอนนี้เป็นแล้ว จะให้ทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องยอมรับและอยู่ร่วมกันไปในฐานะของยืมเช่นกัน ที่จะไม่เบียดเบียนกัน ยิ้มแล้วก็ขอบคุณที่ทำให้ได้เรียนรู้บางอย่างอย่างเข้าใจ และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือทำอย่างไรไม่ให้ครอบครัวและคนที่รักทุกข์ใจไปกับเรา คำตอบที่ได้คือยิ้ม เราต้องยิ้ม บอกเขาด้วยใจยิ้ม ใช้ชีวิตด้วยรอยยิ้มให้เขาใจเบา ทุกคนจะได้คลายความห่วง คลายทุกข์จากความห่วงเรา รอยยิ้มเราช่วยให้เขาเบาใจ
“ทันทีที่มีสติ เราก็จะรู้เท่าทันทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกสิ่งที่มากระทบ และสามารถเห็นทุกอย่างได้ตามความเป็นจริง ยอมรับทุกอย่างได้ตามความเป็นจริงในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ธรรมดา เรียกว่าเกิดการเรียนรู้ จนยอมรับ แล้วนำไปสู่การปล่อยวางด้วยปัญญา ปล่อยวางในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มาอยู่กับสิ่งที่ควบคุมได้ นั่นก็คือ ‘ใจที่ปกติ’ อยู่ก่อนนั่นเอง”

วิกฤตสุขภาพ
“ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นยังใช้ชีวิตฆราวาสและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เดิมทีเป็นคนโครงสร้างเล็ก เริ่มมีอาการผิดปกติทางร่างกายคือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 12 กิโลกรัม ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน จากคนไซส์ XS กลายเป็นไซส์ XL จนคนเริ่มทักมากขึ้นว่า อ้วนขึ้นนะ ซึ่งก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง เพราะการรับรู้และภาพจำของคนทั่วไป ผู้ป่วยมะเร็งก็คือคนที่ผอมซูบ หมอง ไม่ผ่องใส ตรงข้ามกับเราในตอนนั้นโดยสิ้นเชิง
“ด้วยพื้นฐานเป็นคนดูแลสุขภาพเรื่องอาหารอยู่แล้ว และระยะ 2-3 ปีหลัง เมื่ออายุใกล้เลข 4 ก็เริ่มหันมาใส่ใจการออกกำลังกายมากขึ้น จึงพยายามควบคุมอาหารและออกกำลังกายด้วยตนเอง แต่น้ำหนักก็ไม่ลง และยังสังเกตเห็นอาการผิดปกติ คือ ท้องเริ่มโตขึ้น และท้องแข็งตลอดเวลา แม้ตอนตื่นนอนที่ยังไม่ได้ทานอะไรเลย ซึ่งปกติคนเราจะท้องแฟบในยามเช้าหลังตื่นที่ยังไม่ได้ทานอาหาร แต่ท้องเรากลับแข็งและใหญ่ ทั้งที่การขับถ่ายยังปกติ และยังมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยและเรอบ่อยแม้ทานอาหารแค่นิดเดียว จนคนรอบข้างทักบ่อยขึ้นว่า มีน้องหรือเปล่า ท้องหรือเปล่า บวมไปทั้งตัว จึงตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งด้วยมั่นใจแล้วว่า ต้องมีความผิดปกติบางอย่างในร่างกายที่ต้องอาศัยการตรวจละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญ
“หลังจากที่อธิบายอาการอย่างละเอียด เจ้าหน้าที่คัดกรองก็ส่งเราไปยังแผนกโภชนาการและเบาหวานทันที ซึ่งคุณหมอมุ่งประเด็นความสนใจไปที่เรื่องน้ำหนักตัวเพิ่ม โดยไม่ได้มีการตรวจร่างกาย มีเพียงตรวจผลเลือด ดูไขมันไตรกลีเซอไรด์และระดับน้ำตาล ซึ่งทุกค่าอยู่ในระดับดีทั้งหมด นั่นทำให้ถูกชักชวนเข้าร่วมโปรแกรมการทานอาหารคีโต โดยมีคุณหมอคอยติดตามการทานอาหารแต่ละมื้อผ่านทางไลน์ทุกวัน และมีการนัดทุก 2 สัปดาห์ ต่อเนื่องประมาณ 8 เดือน โดยผลเลือดดีขึ้นทุกครั้ง และไม่พบว่าเป็นโรคพุ่มพวง (SLE) รวมถึงยังไม่พบสาเหตุความผิดปกติอื่นใด
“เวลาผ่านไป น้ำหนักตัวนอกจากจะไม่ลดเลย กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งรู้สึกว่าร่างกายแย่ลง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียง่าย แน่นท้อง มีปัญหาเรื่องลมและการย่อยมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยขึ้น และไม่ได้ส่งตัวไปตรวจแผนกอื่น จึงตัดสินใจยุติการรักษา และตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตต่างจังหวัดกับครอบครัว ด้วยคิดว่าคงเป็นชีวิตช่วงสุดท้ายแล้วในตอนนั้น เพราะร่างกายที่ถอยลงทุกวันอย่างไม่รู้สาเหตุและใช้เวลาในการรักษากับคุณหมอเต็มที่แล้ว”

สู่การค้นพบคำตอบของชีวิต
“ระหว่างที่กลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดก็มีโอกาสได้เจอคุณหมออีกท่านซึ่งเป็นสูตินรีแพทย์ และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากตรวจพบก้อนขนาดใหญ่กว่า 14 เซนติเมตร ในช่องท้อง และนำมาสู่การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด จากนั้นก็ทราบผลตรวจชิ้นเนื้อในภายหลังว่า เป็นมะเร็งชนิดพันธุ์ดุ แพร่กระจายเร็ว ซึ่งไม่สามารถรักษาโดยแพทย์ทางเลือก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นมะเร็งชนิดที่พบน้อย คือ มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก ลุกลามไปรังไข่และบริเวณโดยรอบ จึงจำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดโดยด่วน
“สิ่งที่แวบเข้ามาในตอนนั้น คือ ไม่เชื่อ ใช่เหรอ ตรวจผิดหรือเปล่า แต่ยังมีสติคอยบอกว่า อืมม…เมื่อเป็นแล้วก็ต้องตามนั้นแหละ ก็ต้องอยู่เป็นเพื่อนกับเขาไป ไม่เบียดเบียนกัน แล้วก็ร้อง อ๋อ…ขึ้นมาใจว่า นี่เหรอ ‘ของยืม’ นี่เหรอ ลาภ ยศ สรรเสริญ ดุจบ่วงหยาบที่เคยเข้าใจมาทั้งชีวิตว่าสำคัญ…กว่าจะวางได้ สุดท้ายก็ อ๋อ…ยังมาติดบ่วงละเอียดอีก คือ ครอบครัว คนรัก ให้รักกันแค่ไหนก็เอาไปไม่ได้ ร่างกายนี้ก็เช่นกัน
“จากนั้นก็เกิดความรู้สึกเย็นตั้งแต่หัวจรดเท้าขึ้นมาทันที จึงยิ้มแล้วบอกคุณหมอไปว่า ‘ค่ะ’ พร้อมกำชับคุณหมอว่า ‘ผลการวินิจฉัยนับจากนี้ ไม่ว่าเป็นอย่างไรขอให้คุณหมอแจ้งผลกับคนไข้คนเดียวเท่านั้นนะคะ ไม่ต้องแจ้งญาติคนไข้เพราะท่านอายุเยอะกันแล้ว ไม่อยากให้เป็นกังวลกัน’”

ตื่นรู้อยู่กับมะเร็ง
“หลังจากวันนั้น ด้วยความที่เราไม่อยากให้แม่และทุกคนเป็นทุกข์ใจ เราจึงใช้วิธีรักษาใจตัวเองให้ปกติแล้วบอกความจริงกับทุกคนด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะใช้ชีวิตด้วยอาการท่าทีอย่างปกติธรรมดาที่มะเร็งยังไม่ได้เข้ามา แน่นอนว่าทุกคนที่รักและเป็นห่วงเราย่อมตกใจและมีท่าทีที่เป็นห่วง แต่พอเห็นรอยยิ้มของเราและการแสดงออกที่เป็นปกติ ไม่ได้มีความทุกข์เศร้าหมองแต่อย่างใด ก็เริ่มเข้าสู่การปรับตัวยอมรับ
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากมะเร็งในตอนนั้นก็คือ การได้เห็นความรักจากทุกคน มีคนที่รักและเป็นห่วงเรามากมาย ทั้งคนในครอบครัว ญาติ มิตร และเพื่อนฝูง ยิ่งเรารู้ว่าทุกคนรักเรา เราก็จะยิ่งต้องยิ้มขอบคุณและจะไม่ทำให้ทุกคนทุกข์ใจที่เห็นเราทุกข์ และการที่เราคนนึงมีสติจะนำพาคนรอบข้างให้มีสติไปด้วย นั่นหมายความว่าการดูแลใจตัวเองก็เท่ากับการได้ดูแลใจผู้อื่นเช่นกัน
“ด้วยข้อมูลและประสบการณ์ที่มีเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ทำให้ในวันนัดเคมีบำบัดเข็มแรก เราจึงตัดสินใจปฏิเสธการรับเคมีบำบัดครั้งนั้นไป เพราะหากมีอาการอ่อนเพลียหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ก็ไม่อยากเป็นภาระให้กับคนในครอบครัวที่ต้องมาดูแลในระหว่างการรักษา เราจึงตั้งใจจะดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อไม่เป็นภาระใคร และยังคงรักษาใจให้ปกติ ซึ่งคุณหมอก็ตกลง เพียงแต่ต้องมีการติดตามอาการทุกเดือน และกรณีที่พบความผิดปกติของก้อนหรือมีการกระจายก็ต้องให้เคมีบำบัดทันที

ก้าวแรกสู่เส้นทางธรรม
“พอครบ 2 ปีเต็ม คุณหมอก็แจ้งว่า หากผลตรวจร่างกายในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยนเสมือนที่ผ่านมา คุณหมอจะเริ่มเลื่อนนัดทุก 6 เดือนแล้ว และหากผลยังออกมาเหมือนเดิมอีก ก็จะนัดปีละครั้ง วางแผนการติดตามกันไว้แบบนี้ ทำให้เข้าใจว่าแนวโน้มโรคดีขึ้น ระหว่างนั้นจึงเริ่มมองหาสถานที่บวชเพื่อศึกษาธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่อยากทำด้วยเห็นในประโยชน์
“ย้อนหลังกลับไปปี 2541 สมัยที่ยังเป็นนิสิตปี 1 ได้มีโอกาสเข้าปฏิบัติธรรมในโครงการที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ซึ่งการเดินทางไปปฏิบัติธรรมในครั้งนั้นได้เปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่รู้จักศาสนาพุทธไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่รู้จักเพียงการเข้าวัด ทำบุญ ถวายสังฆทาน แต่การปฏิบัติธรรมครั้งนั้นทำให้เข้าใจถึงหลักธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพระพุทธองค์มองเห็นตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อน นำมาสู่ความศรัทธาที่จะใคร่รู้ ใคร่ศึกษาทุกครั้งที่มีโอกาส จนวันที่ได้เจอโรคมะเร็ง ทำให้เข้าใจชีวิตจากคำสอนของพระพุทธองค์มากขึ้น
“ดังเช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาพของร่างกายที่ไม่เที่ยง แปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ความอยากจะให้มันคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง และยึดของไม่คงที่ว่าเป็นเรานี่แหละที่ทำให้เป็นทุกข์ เป็นความจริงที่ธรรมดาแต่น้อยคนที่จะยอมรับ จนสูญเสีย ‘ใจที่ปกติ’ ซ้ำร้ายบางคนก็ยังทุกข์โดยที่ไม่รู้ว่ากำลังทุกข์ จึงไม่คิดหาทางออกจากทุกข์ ทางนี้จึงเป็นทางที่คิดว่าทุกคนควรศึกษา นั่นเป็นที่มาของการตัดสินใจบวชเพื่อศึกษาพระสัทธรรมให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น และคิดว่าเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ครอบครัว ผู้มีพระคุณ ทุกคนที่รักเรา อีกทั้งการบวชนี้ยังถือว่าได้เป็นสะพานพาครอบครัวและเพื่อนให้ได้มาเรียนรู้พระสัทธรรมด้วย”

ร่างกายนั้น…ไม่เที่ยง
“ระหว่างที่รอนัดฟอลโลอัปในครั้งต่อไปนั้น ด้วยความมั่นใจว่าน่าจะคุมโรคได้แล้ว เราจึงติดต่อสถานปฏิบัติธรรมเพื่อขอบวชไว้เรียบร้อย โดยวางแผนว่าจะไปบวชในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 หลังจากไปหาคุณหมอตามนัดแล้ว แต่ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ก็มีเหตุให้ต้องเข้าผ่าตัดด่วน เนื่องจากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ถึงขั้นขยับตัวไม่ได้ โชคดีที่ช่วงนั้นมาทำธุระที่กรุงเทพฯ เพื่อนจึงส่งตัวแอดมิตที่โรงพยาบาลรามา ผลปรากฏว่าพบก้อนขนาด 7-8 เซนติเมตร ในตำแหน่งที่เคยผ่าตัดไปแล้ว โดยก้อนดังกล่าวเกิดการบิดตัว ปริ แตก และติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามะเร็งได้กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ คุณหมอต้องใช้เวลาในการผ่าตัดกว่า 13 ชั่วโมง และใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในอวัยวะต่างๆ ที่มะเร็งกระจายไปทั้งหมด 5 ทีม
“ถัดจากนั้นอีก 2 เดือน คุณหมอก็นัดให้คีโมทุกสัปดาห์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะคุมโรคได้ ด้วยมะเร็งที่เราเป็นนั้นเป็นชนิดที่พบน้อย พันธุ์ดุ เพราะไม่ค่อยตอบสนองกับการรักษาใดๆ โดยคีโมทีใช้นั้นเป็นสูตร Doce+Gem* ซึ่งเป็นสูตรที่ไม่ค่อยมีผู้ป่วยมะเร็งในไทยได้รับกันมากนัก อีกทั้งยังต้องฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดระหว่างสัปดาห์
หมายเหตุ : *โดซีแทกเซล (Docetaxel) และเจมไซตาบีน (Gemcitabine)
“แม้ในใจจะอยากปฏิเสธการรักษา แต่เพื่อให้คนรอบข้างเบาใจที่สุดในตอนนั้นจึงจำเป็นต้องปล่อยวาง และรับคีโมตามคุณหมอสั่ง อาการข้างเคียงก็มีบ้างเป็นธรรมดา แต่เราก็พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยไม่เอาข้อมูลหรือประสบการณ์ในอดีตมาสะกดจิตหรือหลอกตัวเองให้จิตตก หรือสร้างความกลัวไปก่อน สิ่งเดียวที่ทำคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และทำให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมรับกับการรักษาให้มากที่สุด
“ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาใจให้ปกติ เพราะไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง หรือเกิดเหตุการณ์ใดๆ ในวันนี้ สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ก็ต้องวางลง และหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราควบคุมได้ ก็คือใจเราเอง หน้าที่เดียวของเราก็คือดูแลใจของตัวเองให้ปกติ มีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดไปก่อน ไม่คิดไปไกล ไม่คิดถึงเมื่อวาน อยู่แค่ตรงนี้”

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
“เป็นเวลากว่า 1 ปีที่แผนการบวชถูกพับเก็บไว้ จนกระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2566 คุณหมอก็แจ้งขอจบการรักษาด้วยคีโม เพราะผลการตรวจร่างกายของเรานั้น ทำให้คุณหมอเกรงว่า หากให้คีโมต่อไป ทั้งไตและอวัยวะอื่นๆ อาจจะทนไม่ไหว จึงสั่งจบคอร์สคีโม แม้จะยังคุมตัวโรคไม่อยู่ และมีการแพร่กระจายเป็นระยะ อีกทั้งการตอบสนองกับยาเคมีบำบัดก็เริ่มน้อยลง โดยวันนั้นก่อนออกจากห้องตรวจ คุณหมอก็พูดขึ้นว่า ‘คนไข้ยอดเยี่ยมมากเลยนะ ในฐานะที่หมอดูแลคนไข้มา บอกเลยว่าหมอชื่นใจนะ ไม่คิดว่าคนไข้จะอดทนถึงขนาดนี้ นับจากวันนี้ไปคนไข้ต้องมีความสุขให้มากๆ นะคะ อยากทำอะไร…ทำเลย อยากเที่ยวที่ไหน…ไปเลย อยากกินอะไร…กินเลย’
“หลังจากกล่าวลาคุณหมอแล้ว สิ่งแรกที่ทำหลังจากก้าวเท้าออกมาจากห้องตรวจก็คือโทรไปยังสถานปฏิบัติธรรมที่เคยตั้งใจจะไปบวชเมื่อปีก่อน และติดต่อขอบวชทันที ทางเจ้าหน้าที่ก็นัดหมายเป็นวันที่ 6 มิถุนายน 2566 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีกำหนดจะลาสิกขาบท และตั้งใจจะบวชไปจนกว่าจะรู้สึกว่าร่างกายไม่ไหวแล้ว ถึงเวลานั้นคงต้องกลับไปเกื้อกูลคนที่บ้าน
“จากวันที่จบคอร์สคีโมและมาบวช แม่ชีก็ยังไปฟอลโลอัปกับคุณหมอที่โรงพยาบาลรามาอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจว่าโรคมะเร็งนี้ไม่มีวันหาย มีแค่ช่วงที่สงบและไม่สงบเท่านั้น และไม่ว่าจะอยู่ช่วงใด เราก็เต็มใจที่จะอยู่กับเขา ที่ผ่านมาเราไม่มีความรู้สึกว่า อยากหนีจากโรคนี้ หรืออยากผลักไสเขาออกไป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกดีใจจังที่ฉันเป็นมะเร็งนะ แค่เราอยู่ด้วยความเข้าใจและยอมรับ”

แค่ของยืมจากธรรมชาติ
“ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเหตุการณ์สุขทุกข์ใดๆ ล้วนเป็น ‘ของยืม’ ที่ผ่านมาและผ่านไป ถ้ามีสติ…เราก็จะรู้ว่าสิ่งต่างๆ นั้นมาเพียงแค่ให้เรารู้ เรียนรู้ และจากกันด้วยการขอบคุณ แต่ถ้าเมื่อไรที่เราต้อนรับสิ่งเหล่านี้ด้วย ‘ความไม่รู้’ ไปยึดมั่นอยากให้มันอยู่ ยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา และต้องการให้มั่นคงอยู่อย่างนั้นไปตลอด ความจริงแล้วธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่เคยทำร้ายใคร ใจที่ไม่ยอมรับต่างหากที่ทำร้ายและทำให้ใจทุกข์
“คำว่า ‘มะเร็ง’ ไม่ได้แตกต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เข้ามาในชีวิต เพียงแต่เราไปให้คำนิยามแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ในอดีต บ้างว่า ‘มะเร็ง’ แปลว่า ตาย บ้างก็ว่า ‘มะเร็ง’ แปลว่า ความน่ากลัว หรือหลายๆ คนอาจจะว่า ‘มะเร็ง’ คือความทรมาน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ในอดีตล้วนๆ ที่เราเคยได้รู้ เคยได้ยิน เคยได้ฟังมา แต่หากเรายอมรับ ‘มะเร็ง’ เป็นแค่เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งล้วนเกิดภายใต้ความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ที่เป็นอื่นตลอดเวลา เราก็จะไม่ทุกข์
“มะเร็งในวันนี้ขึ้นอยู่ที่เราจะนิยาม ถ้าเรานิยามว่าเป็นโรคร้าย มะเร็งก็คือโรคร้าย แต่ถ้าเราให้คำนิยามว่า มะเร็งคือของขวัญ มะเร็งก็เป็นของขวัญที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ได้ปัญญาการปล่อยวาง ไม่ว่าจะยืมใช้ด้วยนิยามอะไร ผลที่ได้คือความหนักเบาของใจไม่เท่ากัน”


___
เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : วุฒินันท์ จันโทริ