มะเร็งต่อมน้ำเหลือง : ความรู้พื้นฐานสำหรับประชาชน

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, มกราคม 2563

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีต้นกำเนิดมาจากต่อมน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่มีภาวะการเจริญเติบโตผิดปกติควบคุมไม่ได้ เซลล์เหล่านี้จะแพร่กระจายไปยังระบบน้ำเหลืองทุกบริเวณในร่างกาย อาการบ่งชี้ที่สำคัญ คือ ต่อมน้ำเหลืองบวม โต และมักไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s Lymphoma: HL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma: NHL) โดยมะเร็งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีอัตราการแพร่กระจายและอาจมีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกัน

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อน้ำเหลือง

ปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถบอกสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้อย่างชัดเจนแต่พบมีความสัมพันธ์กับหลายภาวะ ได้แก่

  • การติดเชื้อ พบความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดกับการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อ แบคทีเรีย Helicobacter pylori กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด MALT lymphoma, การติดเชื้อไวรัส EBV กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Burkitt
  • โรคภูมิแพ้ตนเอง (Autoimmune disease) บางชนิด เช่น ในผู้ป่วยโรค SLE พบอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น
  • ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย: ผู้ป่วย HIV พบอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น
  • การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการของมะเร็งต่อน้ำเหลือง

อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองซึ่งมักไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย อาจพบบริเวณคอ ขาหนีบ รักแร้ ทั้งนี้อาการบวมที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นอาการบ่งชี้ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเสมอไป แต่อาจบ่งชี้ถึงโรคชนิดอื่นหรือการติดเชื้อบริเวณต่อมน้ำเหลือง ดังนั้นหากพบว่าต่อมน้ำเหลืองมีลักษณะบวม โต ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้องทันที ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจมีอาการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น

  • มีก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เข่น ที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ มีลักษณะโตเร็วและไม่เจ็บ
  • ไข้ หวานสั่น ไอเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่สราบสาเหตุ
  • เหงื่อออกง่าย โดยเฉพาะบริเวณกลางคืน
  • ต่อมทอนซิลโต

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อตรวจหาต่อมน้ำเหลืองที่บวม โต และตรวจหาสัญญาณอื่น ๆ ของโรคมะเร็ง โดยอาจวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองร่วมกับวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • การตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา
  • การเอกซเรย์ เพื่อให้ทราบถึงชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพื่อวางแผนการรักษา
  • การเจาะไขกระดูก เพื่อประเมินว่ามีการกระจายเข้าไปในกระดูกหรือไม่

วิธีการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะของโรค และสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาโดยวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธี ดังนี้

  • การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ยาเม็ด หรือการฉีดเข้าหลอดเลือด
  • การฉายแสง
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก โดยใช้รังสีปริมาณสูงหรือยาทางเคมีกดการทำงานของไขกระดูก เพื่อไม่ให้ร่างกายต่อต้านไขกระดูกใหม่ แล้วจึงนำสเต็มเซลล์ที่ดีเซลล์ใหม่ฉีดเข้าไปในเลือดเพื่อสร้างไขกระดูกใหม่
  • การใช้แอนติบอดี

การดูแลป้องกันตนเอง

ควรปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี รังสี และมลพิษต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ การสูบบุหรี่และควันบุหรี่เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากควันบุหรี่จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด
  • รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ รับประทานผักและผลไม้ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ
  • ออกกำลังกาย ซึ่งในที่นี้การออกกำลังกายอาจเป็นการทำกิจกรรมบางอย่างที่ได้ใช้กำลังก็ได้ เช่น การทำงานบ้าน