ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนต่างเคยผ่านห้วงแห่งความเจ็บปวด เศร้าหมอง อ่อนแอ ผิดหวัง เหนื่อยล้า หมดพลัง สูญเสีย สับสนมาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป บ้างก้าวผ่านมาได้ บ้างก็แตกสลาย บ้างก็ซ่อนเร้นเอาไว้เพื่อรอการเยียวยาในสักวันหนึ่ง สำคัญที่สุดคือทุกความบอบช้ำล้วนมอบบทเรียนสำคัญให้แก่ชีวิตเรา เพียงแต่เราจะมองเห็นหรือไม่
พญ.คัคนานต์ เทียนไชย หรือ‘หมอตาล’ อายุรแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งวิทยา วัย 37 ปี เจ้าของช่อง Dr.Tarn หมอตาลต้านมะเร็ง เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยบอบช้ำจากการสูญเสียบุคคลที่รักไปด้วยโรคมะเร็ง แต่แทนที่เธอจะปล่อยให้ความเศร้าแวะเวียนเข้ามาและผ่านออกไป เธอกลับเปลี่ยนความบอบช้ำในครั้งนั้นให้เป็นพลังผลักดันตัวเองจนมายืนในฐานะ ‘หมอมะเร็ง’ อย่างเต็มตัว
“ช่วงนั้นหมอกำลังเรียนอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 3 ก็ทราบข่าวว่าคุณยายมีอาการผิดปกติบางอย่าง อยู่ระหว่างรอตรวจอัลตราซาวนด์อยู่ที่โรงพยาบาลชลบุรี ด้วยก่อนหน้านั้นคุณยายเคยมีประวัติเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน หมอจึงคิดว่าครั้งนี้ก็น่าจะเป็นนิ่วอีก แต่ปรากฏว่าไม่ใช่
“อาจารย์หมอที่ทำการตรวจร่างกายให้คุณยายโทรมาแจ้งว่า ตรวจพบก้อนที่ตับคุณยาย ตอนนั้นก็พอจะเดาได้ว่าน่าจะเป็นมะเร็ง ถามว่าตกใจไหม ก็ตกใจนะ แต่ด้วยความที่ระยะของโรคยังอยู่ในช่วงต้น ยังไม่ลุกลาม เราจึงคิดว่าน่าจะพอมีโอกาสรักษาได้ กอปรกับสักช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ คุณแม่ก็เคยป่วยเป็น ‘โรคมะเร็งกล้ามเนื้อ’ ระยะต้นและสามารถรักษาหายได้ จึงทำให้หมอมีภาพจำที่ค่อนข้างดีเกี่ยวกับมะเร็ง
“หลังจากทราบผลแน่ชัดว่าคุณยายเป็นมะเร็งตับ ทางครอบครัวก็ทำเรื่องย้ายคุณยายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยการรักษาก็เริ่มต้นด้วยการฉีดยายับยั้งเส้นเลือดไปเลี้ยงที่ตับ แต่ฉีดไปเพียง 3 ครั้ง ยาก็เริ่มเอาไม่อยู่ มะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอด จึงต้องเปลี่ยนมารักษาด้วยการกินยามุ่งเป้า ซึ่งต้องยอมรับว่ายามุ่งเป้าในเวลานั้นยังไม่มีให้เลือกมากเหมือนในปัจจุบัน อีกทั้งประสิทธิภาพก็ยังไม่ดีมาก
“คุณยายกินยามุ่งเป้าตัวแรกไปได้ประมาณหนึ่งปี ก็เริ่มมีอาการดื้อยา อาจารย์หมอจึงต้องเปลี่ยนให้กินยามุ่งเป้าตัวที่สอง ซึ่งกินไปได้แค่ 4 เดือน คุณยายก็มีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยา ทำให้คุณหมอต้องยุติการให้ยามุ่งเป้า ไม่นานหลังจากนั้นโรคมะเร็งก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว คุณยายทรุดลง นอนติดเตียงเพียงไม่นาน ท่านก็จากพวกเราไป”
ความสูญเสียที่ไม่สูญเปล่า
“ด้วยความที่หมอสนิทกับคุณยายมาตั้งแต่เด็ก รักและผูกพันกันมาก จำได้ว่าทุกๆ ปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่มักจะพาเราไปฝากให้คุณยายเลี้ยงเสมอเพราะท่านทั้งสองต้องทำงาน นั่นเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดช่วงหนึ่ง เนื่องจากคุณยายจะดูแลเราเป็นอย่างดี ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับก็ยังตามมาดูว่าห่มผ้าไหม หรือพัดลมโดนไหม ฯลฯ และตามใจเราทุกอย่าง ถ้าสมัยนี้ก็คงเรียกว่า ‘สปอย’ ได้เลย หรือแม้ในวันที่ไม่มีใครสนใจเรา ก็จะมีคุณยายนี่แหละที่คอยมานั่งอยู่ข้างๆ ถามไถ่เราเสมอ ทำให้ทุกครั้งที่เรานึกถึงคุณยาย จึงมีแต่ภาพความรัก ความอบอุ่นในหัวใจ และนั่นทำให้การจากไปของคุณยายส่งผลต่อชีวิตหมอมาก
“ช่วงที่คุณยายเสียนั้น หมอจบการศึกษาเป็น ‘แพทย์ประจำบ้าน’ แล้ว และเริ่มใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ย่างเข้าปีที่ 2 จากเดิมที่ตั้งใจไว้แล้วว่า จะไม่เรียนต่อในสาขาย่อยแล้ว เป็นหมออายุรกรรมพอแล้ว แต่พอคุณยายจากไปด้วยโรคมะเร็ง นั่นกระตุ้นให้เราอยากรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น อยากมีองค์ความรู้ที่สามารถช่วยคนได้ และเผื่อในอนาคตคนที่รักหรือคนในครอบครัวเป็นอีก เราจะได้รู้ช่องทางในการรักษา นี่จึงเป็นเหตุผลให้หมอตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง”
กว่าจะเป็นหมอมะเร็ง
“ย้อนหลังกลับไปในช่วงที่กำลังจะจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ยอมรับว่าตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบอะไร หรืออยากเรียนอะไร แต่ความที่เราเรียนดีและอยู่ห้องคิงมาตลอด พอมาถึงจุดที่ต้องเลือกคณะ เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกอยู่ 2 คณะ คือ ถ้าไม่ไปวิศวกรรมศาสตร์ ก็เลือกแพทยศาสตร์นี่แหละ และด้วยความที่หมอเองไม่ชอบวิชาฟิสิกส์ จึงตัดสินใจมาทางหมอดีกว่า อย่างน้อยก็เป็นอาชีพที่นอกจากจะดูแลคนอื่นแล้ว ยังสามารถดูแลคนที่เรารัก พ่อแม่ และครอบครัวเราได้ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่เองก็น่าจะดีใจที่เราได้เรียนหมอ
“6 ปีในการเรียนที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชนั้นหนักหน่วงมาก คณะอื่นเรียนกันแค่ 4 ปีก็จบ รับปริญญา ได้ทำงานแล้ว แต่ 6 ปีสำหรับการเป็นหมอนั้นเป็นแค่การเริ่มต้น ถือเป็นน้องเล็กสุดในโรงพยาบาล เพิ่งขึ้นคลินิก ดูแลคนไข้ ช่วงนั้นอะไรก็ใหม่ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำหัตถการ เจาะน้ำในปอด ปั๊มหัวใจ ฯลฯ ถือเป็นช่วงวัดใจช่วงที่ 1 ของเส้นทางสายแพทย์ หลายครั้งก็เกิดคำถามขึ้นมาในหัวเหมือนกันว่า เรามาทำอะไรตรงนี้ (หัวเราะ)
“พอจบ 6 ปี ก็ต้องฝึกงานเป็น ‘แพทย์ใช้ทุน’ อีก 3 ปี ช่วงนี้นับเป็นช่วงวัดใจช่วงที่ 2 เพราะตอนนี้เราจะมีเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นของตัวเอง ถือเป็นหมอเต็มตัวและต้องรับผิดชอบดูแลคนไข้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีอาจารย์หรือพี่เลี้ยงมาคอยช่วยดูแลเหมือนแต่ก่อน
“หลังทำงานใช้ทุนจบ ก็มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเป็นหมอว่า อยากจะเลือกไปในเส้นทางไหน ทางสวยงาม เช่น แพทย์ผิวหนัง เสริมความงาม ฯลฯ หรือจะเลือกเส้นทางโหดหิน หมอก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางหลัง โดยเลือก ‘อายุรกรรม’ และใช้เวลาศึกษากว่า 3 ปี จนจบเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“จากเดิมทีที่ตั้งใจว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว แต่เพราะการจากไปของคุณยายด้วยโรคมะเร็ง ทำให้หมอตัดสินใจศึกษาต่ออีก 2 ปี จนจบทางด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาที่โรงพยาบาลราชวิถีในปี 2565 และทุ่มเทเวลาหลังจากนั้นในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”
ลมหายใจเพื่อผู้ป่วย
“หากย้อนเวลากลับไปได้ หมอก็ยังจะเลือกเป็นหมอนะ (ยิ้ม) หมอรู้สึกว่าอาชีพนี้ทำให้เราได้ช่วยผู้คน และเป็นงานที่ไม่ว่าจะมองย้อนกลับไปสักกี่ครั้งในทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมา เราก็ยังรู้สึกภูมิใจเสมอที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ยิ่งได้มาเป็นหมอมะเร็งอย่างเต็มตัว เราก็ยิ่งได้เรียนรู้ว่า หมอมะเร็งนั้นไม่ได้มีหน้าที่รักษาแค่ตัวโรคหรือรักษาแค่ทางกายของคนไข้ แต่เรายังต้องดูแลจิตใจของคนไข้และครอบครัวของเขาด้วย
“สำหรับหมอแล้ว การรักษามะเร็งที่ดีที่สุดไม่ใช่การรักษาเยอะๆ อัดยาแพงๆ แต่หัวใจสำคัญในการรักษามะเร็งในมุมมองของหมอก็คือ ทำอย่างไรให้คนไข้มีความสุขกับเวลาที่เหลืออยู่มากที่สุด รักษาโรคก็ต้องรักษาแหละ แต่เราต้องคำนึงถึงด้วยว่า การรักษาของเราต้องไม่เพิ่มความทุกข์ให้คนไข้และครอบครัว
“ฉะนั้น ยาที่แพงที่สุดไม่ได้หมายความว่ายานั้นจะดีที่สุดเสมอไป เช่นกันกับการรักษาที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่ได้นานที่สุด เพราะหากคนไข้มีชีวิตอยู่นานที่สุดในสภาพติดเตียง สื่อสารอะไรไม่ได้เลย นี่คือความทรมานนะ ขณะเดียวกันครอบครัวของคนไข้เองก็ต้องขายบ้าน ขายทรัพย์สิน หรือกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อรักษาชีวิตแบบนี้ หมอคิดว่าไม่คุ้ม นี่เองที่การทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่นานที่สุดไม่ใช่เป้าหมายในการรักษาของหมอ หมอมักจะบอกกับคนไข้เสมอว่า หมอจะพยายามรักษาให้ช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่นั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขที่สุด”
ใช้ ‘น้ำลาย’ รักษาคนไข้
“ด้วยความที่โรคมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน เข้าใจยาก การพูดสื่อสารให้คนไข้เข้าใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น ฉะนั้น คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่หมอมะเร็งควรมีก็คือการเป็นนักสื่อสารที่ดี เพราะคำพูดของหมอสำหรับคนไข้นั้นสำคัญมากนะ คำพูดเพียงสั้นๆ แต่บางทีมีประสิทธิภาพดีกว่ายาด้วยซ้ำ เพราะช่วยดึงคนไข้ที่กำลังดิ่งๆ ท้อแท้ หมดหวัง ให้ฮึดขึ้นสู้ได้ ในทางการแพทย์เรียกว่า ‘Saliva Therapy’ หรือการใช้น้ำลายในการรักษา ซึ่งก็คือการพูดนั่นเอง แต่จะพูดอย่างไรก็แล้วแต่เทคนิคเฉพาะตัวของหมอแต่ละคน
“สำหรับหมอแล้ว ก็คือการพูดความจริงโดยที่ไม่ทำร้ายคนไข้ให้มากที่สุด ซึ่งก็มีความยากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในวันที่ต้องบอก ‘ข่าวร้าย’ กับคนไข้ เพราะอย่างที่รู้กันว่า การเป็นมะเร็งในระยะต้นนั้น ทุกอย่างก็จะง่าย แต่ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาถึงมือหมอนั้น มักจะมาในระยะท้ายๆ แล้ว และต้องยอมรับว่าการรักษาอาจจะไม่สามารถทำให้หายขาดได้ สิ่งสำคัญจึงต้องพูดความจริงให้คนไข้รับรู้และยอมรับความจริงให้เร็ว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งยากพอสมควร
“นั่นทำให้ทุกเคส หมอต้องทำการบ้านก่อนที่จะพบคนไข้ โดยจะคุยเก็บข้อมูลกับคนข้างกายคนไข้ก่อน เช่น สามี หรือลูก เพื่อเราจะได้รู้ว่าพื้นฐานครอบครัวเขาเป็นอย่างไร และควรจะพูดอย่างไรดีให้คนไข้ไม่หมดกำลังใจในการรักษา คำพูดของหมอนั้นมีอิทธิพลกับคนไข้มาก คนไข้จะมีกำลังใจหรือท้อแท้ก็ขึ้นอยู่กับเรานี่แหละ ถ้าพูดผิด เขาอาจจะตัดสินใจปฏิเสธการรักษาเลยก็ได้ แต่จะพูดให้ความหวังคนไข้ว่า รักษาเถอะ…เดี๋ยวก็หาย – ก็ไม่ได้อีก เพราะความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น และอาจจะทำให้คนไข้ไม่รับรู้เกี่ยวกับการพยากรณ์โรคของเขา นั่นอาจจะทำให้เขาเสียโอกาสที่จะเตรียมตัว เตรียมใจ หรือทำหลายสิ่งที่ต้องทำหรืออยากทำในชีวิตไปก็ได้
“ฉะนั้น ควรพูดความจริงอย่างไรก็ได้ ให้คนไข้รับรู้ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นยอมรับในทันที แต่อย่างน้อยต้องทำให้เขาไม่ปฏิเสธที่จะรักษา เพราะหมออยากให้คนไข้ทุกคนลองสู้ดูก่อน เพราะหากถอดใจยอมแพ้ตั้งแต่ต้น เราจะไม่มีวันชนะแน่นอน ฉะนั้น สู้เพื่อตัวเองสักครั้ง และหากถึงจุดหนึ่งที่สู้ไม่ไหวแล้ว ก็แค่พอเท่านั้นเอง”
ที่พึ่งสุดท้ายของคนไข้
“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หมอได้เรียนรู้ว่า หมอมะเร็งนั้นก็เหมือนหมอคนสุดท้ายของคนไข้ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยเป็นอะไรก็ตาม มักจะมาจบที่หมอมะเร็งเสมอ เช่น คนไข้บางคนมาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องเรื้อรัง รักษากับหมอนั้นหมอนี้หลายครั้งก็ไม่หาย สุดท้ายก็ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง และเชื่อไหมว่า พอเขารู้ว่าเป็นมะเร็ง สิ่งที่คนไข้กลัวที่สุดไม่ใช่ความตายนะ แต่เขากลัวที่จะอยู่บนโลกนี้อย่างทรมาน โดยไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่ง ‘ใคร’ ดี
“หมอมะเร็งควรจะเป็น ‘ใคร’ คนนั้นให้คนไข้ ควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้เขาได้ โดยทำอย่างไรก็ได้ให้คนไข้รู้สึกอุ่นใจ มั่นใจว่าเขาจะไม่อยู่เดียวดาย ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ต้องใช้ยาหรือทำหัตถการใดๆ เลยด้วยซ้ำ แค่คำพูด สีหน้า แววตา หรือเพียงสัมผัส เช่น แตะที่มือเบาๆ และบอกเขาว่า โทรมาได้ตลอดนะ หากมีปัญหาอะไร แค่นี้เขาก็อุ่นใจแล้ว ฉะนั้น หมอมะเร็งนอกจากการรักษาทางกายแล้ว ก็ควรเป็นนักสื่อสารที่ดีเพื่อเยียวยาใจให้คนไข้ด้วย เพราะคนไข้มะเร็งแทบทุกคน เขาอยากฟังหมอพูดเยอะๆ นอกจากอยากเข้าใจถึงตัวโรคและกระบวนการรักษาแล้ว เขายังอยากได้กำลังใจ ความมั่นใจ ความอุ่นใจอีกด้วย
“หมอเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความกลัวของคนไข้ลดลง ก็คือ องค์ความรู้ ยิ่งกลัวสิ่งไหน เราต้องยิ่งเดินเข้าไปหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น เมื่อเรามีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น ความกลัวของเราจะลดลง นี่จึงเป็นที่มาของการทำช่อง Dr.Tarn หมอตาลต้านมะเร็ง เพื่อแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งไปยังผู้คน เพราะหมอเชื่อว่า หากทุกคนรู้จักโรคนี้มากขึ้น ความกลัวโรคนี้ก็จะน้อยลง รวมถึงรู้จักหลีกเลี่ยงและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้มากขึ้น”
คุณค่าที่ค้นพบจากมะเร็ง
“บอกตรงๆ ว่า หมอไม่ได้อยากรักษาผู้ป่วยมะเร็งไปจนวันสุดท้ายของชีวิตหรอกนะ หมอหวังว่าวันหนึ่งจำนวนผู้ป่วยมะเร็งจะลดลงเรื่อยๆ นั่นเป็นที่มาของความฝันเล็กๆ ในอนาคต หมออยากจะเปิดสถานที่ที่จะช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโรคมะเร็ง แต่ตอนนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้ก็อยากจะให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ดี สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการตรวจคัดกรองมะเร็งตามช่วงวัยเป็นประจำ เพราะยิ่งเจอมะเร็งเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการหายขาดจากโรคนี้ได้สูงขึ้น
“สำหรับผู้ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็ง หมอก็อยากจะบอกว่า ไม่ผิดหรอกที่เราจะมองว่า มะเร็งเป็นความโชคร้าย ประสบการณ์เลวร้าย หรือช่วงเวลาร้ายๆ ของชีวิต แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มะเร็งก็ไม่ต่างอะไรกับบททดสอบของชีวิต ที่หากเราไม่ยอมแพ้ เราย่อมแข็งแกร่งขึ้นแน่นอน อีกทั้งมะเร็งยังเป็นตำราชีวิตเล่มใหญ่ที่สอนให้เราได้รู้ว่า ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ฉะนั้น เราควรจะมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน และไม่ยึดติดอยู่กับความสุขในอดีต หรือรอความสุขในอนาคต รวมถึงทำให้เราตระหนักได้ว่า เวลาที่เหลืออยู่นั้น ไม่สำคัญว่าจะเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน แต่สำคัญที่ว่าเราได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นได้คุ้มค่าเพียงใดต่างหาก
“นอกจากนี้ มะเร็งยังเข้ามาทำให้เรารู้จักปล่อยวาง และช่างมันกับหลายๆ เรื่องในชีวิตได้ง่ายขึ้น เราจะมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องไม่ดีในชีวิต มะเร็งเข้ามาเตือนให้เราไม่ประมาทกับการใช้ชีวิต ทำให้เรามองเห็นคุณค่าของลมหายใจ หันกลับมารักตัวเอง และกลับมาให้ความสำคัญกับคนที่รักและอยู่ข้างๆ เราในวันที่เราทุกข์ที่สุดอีกด้วย”
–
เรื่อง : เพชรภี ปิ่นแก้ว
ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข