นอกจากประสบการณ์การทำงานในฐานะอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์และดูแลกิจการต่างประเทศในมหาวิทยาลัยชื่อดังแล้ว ดร.หทัยทิพย์ จิระธันห์ (ต่อ) ยังเป็นนักวิ่งและพิธีกรงานวิ่งที่เก็บชั่วโมงบินมาไม่น้อย ในเวลาเดียวกันเธอและสามียังเปิดร้านอาหารสไตล์ฝรั่งร่วมกันในนาม EDM ระหว่างที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย วันหนึ่งช่วงปลายปี 2560 เธอพบสิ่งที่แปลกออกไปในร่างกายตัวเอง แม้นั่นจะเป็นสัญญาณที่ไม่ปกตินัก แต่เธอก็รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติและคิดบวก โดยมีสามี ครอบครัว และเพื่อนๆ อยู่เคียงข้างไม่เคยห่างไปไหน
สัญญาณเตือนจากร่างกาย
“ปกติพี่ตรวจร่างกายทุกปี แต่ 2 ปีก่อนจะพบว่าเป็นมะเร็ง พี่ไม่ได้ตรวจ ตอนนั้นค่อนข้างยุ่ง แล้วก็ประมาทด้วยมั้งคะ พี่เคยตรวจแมมโมแกรมด้วยซ้ำไป จำได้ว่ากำลังทาโลชั่นอยู่ แล้วไปสะดุดกับก้อนที่หน้าอก ก็เอ้อ ก้อนอะไรนะ ตอนนั้นประมาณปลายปี 60 แต่พี่ก็ชะล่าใจ แล้วร้านอาหารพี่เพิ่งเปิด เลยได้ไปตรวจอีกทีตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 61 คุณหมอก็บอกว่าเดี๋ยวขอลองเอาเข็มฉีดยาเข้าไปดูดดู ถ้าออกมาเป็นน้ำก็จบ กลับบ้าน ถ้าดูดไม่ออกก็จะดึงตัวเนื้อออกไปตรวจ ซึ่งวันนั้นดูดไม่ออก พี่ก็บอกกับแฟนว่า สงสัยจะถูกหวยแล้ว หลังจากนั้น ผลออกมาว่าเป็นมะเร็งเต้านมที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนเอสโตรเจน หลังจากตรวจเรียบร้อย คุณหมอก็วางโปรแกรมการรักษาโดยให้พี่ผ่าตัดก้อนเนื้อออกในเดือนมีนาคม 61 จากนั้น เดือนเมษายนพี่เริ่มให้คีโมและฉายแสง จนสิ้นสุดการฉายแสงประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 61”
จากมะเร็งเต้านมสู่อาการข้างเคียงและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สมอง งานหินที่ต้องเอาชนะอย่างมีสติ
“ในการรักษาครั้งแรกนี้ พี่ก็ได้ของแถมมาเลย คือปอดอักเสบจากการฉายแสงที่หน้าอก แต่เรื่องที่ใหญ่โตกว่าและอาจจะต้องทานยาไปตลอดชีวิต คือพี่มีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเป็นผลมาจากตัวยาคีโมที่แรง ซึ่งพี่มาตรวจเจอช่วงสงกรานต์ปี 62”
ขณะที่รักษาตัวอยู่ เธอยังคงใช้ชีวิตปกติ ไปทำงาน ออกวิ่ง เพราะอาการข้างเคียงจากคีโมจะส่งผลต่อเนื่องในช่วงอาทิตย์แรกที่ให้ “วันนั้นพี่ไปซ้อมวิ่งที่สวนลุมพินี ก็รู้สึกชาๆ ที่ขา เลยไปหาคุณหมอ ตอนแรกคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ก็ได้ยามาทานเบื้องต้นเพื่อรอคิว MRI แต่ช่วงรอคิวพี่เริ่มมีอาการชาที่แขนขึ้นมา หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีอาการสมองสั่งงานไม่ปกติ พี่ยังรู้ตัว พูดจารู้เรื่อง แต่จะกลับขวาเป็นซ้ายซ้ายเป็นขวา ปิดประตูใช้มือผิด ตอนนั้นโทรคุยกับคุณหมอ คุณหมอรีบให้เข้ามา CT Scan ด่วน ผลออกมาพบว่ามีเนื้องอกที่สมอง ซึ่งต้องรีบผ่าตัดออกทันที เพราะเนื้องอกเริ่มทำให้สมองบวม เมื่อคุณหมอนำชิ้นเนื้อนี้ไปตรวจ ผลออกมาคือเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สมอง เป็นมะเร็งอีกชนิดหนึ่งเลย ซึ่งการรักษาจะต่างกัน เพราะฉะนั้น คุณหมอเรื่องโรคเลือดและต่อมน้ำเหลืองต้องเข้ามาดูแลการรักษาเพิ่มเติม
หลังจากผ่าตัดสมองไปแล้ว การรักษาที่เกิดขึ้นเริ่มจากการให้คีโม แล้วก็ฉายแสง แต่จะโหดกว่ามะเร็งเต้านมพอสมควร เพราะต้องอยู่โรงพยาบาลตำรวจตลอด 100 วัน เพราะจะเป็นการให้คีโมผ่านหลอดเลือดใหญ่ แล้วก็ให้ยาผ่านไขสันหลังด้วย เวลาให้คีโมเม็ดเลือดขาวจะต่ำมาก คุณหมอกลัวติดเชื้อ ก็เลยให้อยู่โรงพยาบาลตลอด”
มะเร็งทำให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน
“ณ วันที่เป็น พี่ไม่ได้ตื่นตูม เอาจริงๆ ตั้งแต่เป็นมะเร็ง พี่ร้องไห้หนักๆ แค่หนเดียวตอนที่ให้คีโมครั้งแรก คุณหมอให้พี่ไปแนะนำตัวกับพยาบาลในห้องเคมีบำบัด เมื่อไปถึง พี่เห็นคนไข้คนอื่นที่เขานอนให้คีโม บางท่านผมไม่มีแล้ว บางท่านใส่หน้ากาก พอเห็นภาพนั้น พี่รู้สึกขึ้นมาว่า นี่เราจะเป็นหนึ่งในนั้นแล้วเหรอ แล้ววันนั้น คุณพยาบาลดูแลพี่อย่างดีมาก ให้คำปรึกษาทุกอย่าง แต่แล้วอยู่ๆ มันก็เกิดความรู้สึกหลายอย่างปะปนกันเข้ามา พี่ร้องไห้หนักมาก และคืนนั้นเป็นคืนแรกที่พี่นอนไม่หลับนับตั้งแต่ทราบว่าเป็นมะเร็ง วันนั้นพี่นึกถึงคำพูดของพี่นง (ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์) ซึ่งเรา 2 คน เป็นพิธีกรคู่กันในงานวิ่ง สิ่งหนึ่งที่พี่นงมักจะบอกกับพี่เสมอก็คือให้อยู่กับปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นเราคุยเรื่องนี้กันมาตลอด แต่พี่ไม่เคยเข้าใจในสิ่งที่พี่นงพูดเลย พอเกิดกับตัวจริงๆ พี่เข้าใจทันทีเลยนะ แล้วมานั่งทบทวนว่าสิ่งที่เรากังวลอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วเราจะเศร้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจะไม่มีความสุขตั้งแต่ตอนนี้เลยเหรอ ในตอนที่ทุกอย่างยังไม่ร้ายแรงอะไรเลย เรากอบโกยความสุขตรงหน้าไปก่อนไม่ดีกว่าเหรอ แล้วค่อยมาแก้ปัญหา ณ ตอนที่มีจริงๆ พอคิดได้อย่างนั้นก็หลับ
เพราะฉะนั้น มุมมองเรื่องมะเร็งของพี่ตั้งแต่ก่อนเป็นจนถึงวันนี้ ไม่ได้เปลี่ยนเท่าไหร่ แต่การป่วยครั้งนี้ทำให้พี่กอบโกยทุกๆ ช่วงเวลา ทุกๆ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้เยอะขึ้นมาก ปล่อยวางได้มากขึ้น พี่นับถือศาสนาคริสต์ พอเป็นมะเร็ง พี่ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้น แล้วก็ไม่เคยสงสัยในทางเดินที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้เลย”
คนข้างกายคือลมใต้ปีก
“ในระหว่างการรักษา คนที่ยึดเหนี่ยวพี่ในวันที่พี่เหนื่อย คือสามี ครอบครัว และเพื่อนๆ พี่โชคดีมากที่คนใกล้ชิดเข้าใจและให้กำลังใจมากๆ พี่นึกไม่ออกเลยว่าใครไม่ให้กำลังใจ สามีพี่ไปโรงพยาบาลกับพี่แบบ 100% จริงๆ ทุกครั้งที่พี่อยู่โรงพยาบาล ก็จะมีเขาที่อยู่ด้วยตลอด โดยเฉพาะในบางช่วงของการเป็นมะเร็งที่พี่จะมีอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นผลมาจากยา เขาจะเป็นคนที่คอยให้กำลังใจ เขารู้แหละว่าสิ่งที่เขาพูด บางทีไม่ได้ซึมเข้าไปหรอก แต่เขาไม่เบื่อที่จะพูด ไม่ยอมแพ้ที่จะทำให้พี่รู้สึกดีขึ้น สำหรับครอบครัวพี่ พวกเราสนิทกันมาก ถึงอยู่กันคนละที่ ที่บ้านพี่อยู่ลำลูกกา แต่ก็มาเยี่ยมพี่ที่โรงพยาบาลตำรวจตลอด หาอาหารอร่อยๆ มาให้ แล้วพี่ก็มีเพื่อนๆ อยู่หลายกลุ่ม ทุกๆ คน รวมไปถึงคุณครูและลูกศิษย์ของพี่ก็ส่งกำลังใจมาให้ไม่ขาด
แม้จะมีช่วง tough มากๆ กับตอนที่เป็นมะเร็งครั้งแรก พี่ให้คีโมประมาณเข็มกลางๆ คุณพ่อพี่ก็เสียด้วยการติดเชื้อที่ปอด มันเป็นช่วงที่ยากมากเหมือนกันนะ เพราะไหนจะเรื่องงานศพ ไหนจะเรื่องการให้คีโม แต่โชคดีที่พี่มีครอบครัว มีสามี มีพี่น้อง และเพื่อนที่ดี เลยผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้อย่างไม่ทุลักทุเล คนจะชอบถามพี่ว่าทำไมกำลังใจดีขนาดนี้ นี่แหละเหตุผล”
ทุกกำลังใจจะไม่เสียเปล่า
“ถ้าจะบอกอะไรกับพวกเขานะเหรอ พี่อยากจะบอกว่ากำลังใจที่ทุกคนส่งมาให้จะไม่สูญเปล่า ไม่เสียไปไหนแน่นอน ซึ่งพี่ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่ากำลังใจของพวกเขาสำคัญมากขนาดไหนและเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้พี่มาอยู่ถึงวันนี้ มะเร็งเป็นเรื่องไม่ง่ายนะ แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าเราได้กำลังใจที่ดี แล้วตัวเราเองพยายามด้วย อยากให้ทุกคนที่ให้กำลังใจพี่มารับรู้ว่าพี่ดีใจ ยินดี และซาบซึ้งมากๆ ในการที่ทุกคนให้กำลังใจมากขนาดนี้ และพี่กำลังพิสูจน์สิ่งนี้ให้ทุกคนดูอยู่ อนาคตจะเป็นไงไม่รู้ แต่พี่จะทำให้เห็น มีคนเคยถามนะว่า แล้วถ้าเป็นขึ้นมาอีกล่ะ? พี่ก็บอกเขาไปว่าก็รักษาอีกสิ แล้วพี่ก็เชื่อว่าทุกคนก็จะให้กำลังใจอยู่ ไม่หายไปไหนแน่นอน”
เลือกทำในสิ่งที่ชอบ = วิตามินบำรุงใจชั้นดี
“จริงๆ ต้องบอกก่อนว่า พี่เป็นคนที่ถ้าไม่ชอบอะไร เลี่ยงได้ พี่จะไม่ทำสิ่งนั้นเลย แต่ถ้าเกิดความอยากจะทำอะไร เมื่อไหร่ พี่จะหาทางทำเมื่อนั้นเหมือนกัน จะพยายามทำให้ความอยากนั้นเกิดขึ้นให้ได้ มีบางคนเคยถามพี่ว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย พี่อยากจะทำอะไร พี่ก็บอกเขาไปว่าพี่ได้ทำมาหมดแล้ว สิ่งที่อยากทำ ได้ทำมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น พี่จะไม่เสียใจเลยถ้าเผื่อวันพรุ่งพี่จะจากโลกนี้ไป เพราะพี่มีความสุขกับทุกวันที่ได้ใช้ชีวิตแล้ว”
สร้างปราการกันโรค
“โชคดีว่าก่อนที่พี่จะมาเป็นมะเร็งครั้งแรก พี่เริ่มวิ่งมาได้ประมาณ 2 ปี และพี่ไม่เคยหยุดวิ่ง แม้จะอยู่ในช่วงรักษาตัวก็ตาม ซึ่งพี่มาค้นพบว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะไม่ว่าจะหลังผ่าตัด ให้คีโม หรือว่าไม่สบาย ร่างกายพี่ฟื้นตัวไวมาก เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่พี่อยากแนะนำคือออกกำลังกายเพื่อที่จะให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น เลือกกิจกรรมที่ชอบและทำไหว ออกไปเจอลม เจออากาศ เหยียบดินบ้าง
นอกจากนี้ พี่ทานอาหารเยอะมาก ต่อให้ร่างกายบอกว่าไม่อยากทาน พี่ก็จะพยายามทาน คนป่วยทุกคนรู้ว่าคีโมสำคัญ แต่บางคนไม่อยากทาน เพราะคีโมทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหาร พอทานไม่ได้ ผลก็ต่อเนื่องกันเป็นโดมิโน่เลย เม็ดเลือดขาวตก ให้คีโมไม่ได้ ซึ่งก็จะยืดระยะเวลาการให้คีโมออกไป ประสิทธิภาพการให้คีโมก็จะลดถอยลงด้วย ถ้าร่างกายเราได้รับสารอาหารที่เพียงพอ จะทำให้เรารับคีโมได้ตามที่คุณหมอวางแผนไว้ ซึ่งผลที่ได้ก็จะดีกว่า
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพักผ่อน คนที่เม็ดเลือดขาวตก อ่อนแอ หรือช่วงที่ต้องให้คีโม เราจะรู้ร่างกายตัวเองว่าช่วงไหนที่เพลีย เพราะฉะนั้น อย่าฝืน ถ้าเหนื่อย ถ้าเพลีย คุณต้องหลับ แล้วพี่ก็อยากให้ฟังคุณหมอเวลาเราป่วย พี่มองว่าสามสี่อย่างนี้สำคัญกับทุกคนนะ ไม่ต้องรอให้ป่วย ทุกคนสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย”
แสวงหาความสุขจากความเรียบง่ายของชีวิต
“เอาจริงๆ ความสุขสูงสุดของพี่คือยังได้ใช้ชีวิตปกติ ถ้าไม่นับว่าเคยอยู่โรงพยาบาลมา ทุกวันนี้พี่ยังใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมทุกอย่าง ได้ทำงานที่รัก ได้อยู่กับครอบครัว กับเพื่อน ทุกอย่างปกติหมด พี่ไม่แตกตื่นหรือตื่นตูมกับคำว่า new normal เลยนะ เพราะพี่มีความรู้สึกว่าทุกคนต้องปรับตัว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องมะเร็งหรือโควิดหรอก การเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนอาหาร แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเปลี่ยนเสื้อผ้า พี่แนะนำจากประสบการณ์ ถ้าคุณชอบอะไร ให้ทำไปเลย ไม่ต้องรอ แต่อะไรที่รู้สึกฝืนและทำให้เราเครียด เลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าไม่ได้ เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ คุณก็ทำ เพียงแต่ก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย อย่างถ้าสมมุติเราต้องงดในสิ่งที่เราชอบกิน สำหรับพี่ พี่ว่าพี่เครียด ดีไม่ดีกลับมาป่วยอีก สู้พี่ทำอะไรที่เรามีความสุขดีกว่า หรืออย่างเวลาที่พี่ซ้อนมอเตอร์ไซค์แฟนพี่ บางคนจะเป็นห่วงเรา อยากให้เราพักผ่อนอยู่บ้าน แต่พี่ก็มานั่งนึก แต่ก่อนตอนที่ยังไม่ได้นั่งมอเตอร์ไซค์ยังเป็นมะเร็งเลย ถ้าตอนนี้นั่งแล้วจะเป็นอีกรอบก็ให้มันเป็นแล้วกัน อยู่อย่างมีความสุขกับสิ่งที่เราชอบ เพราะพี่เองก็มีความสุขแบบนั้นอยู่”
เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์
ภาพบางส่วน: หทัยทิพย์ จิระธันห์