ธวัชชัย รัตนศักดิ์ รับมือมะเร็งต่อมลูกหมากแบบรู้เขา รู้เรา และอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ยังคงเป็นวลีที่ไม่เคยล้าสมัย แต่เมื่อวันที่โรคมาเยือน นอกจาก ‘ยานอก’ ที่จะช่วยรักษากายของเราให้หายจากอาการที่เป็นอยู่แล้ว ‘สติ’ ก็เป็น ‘ยาใน’ ชั้นดีที่ช่วยให้เรากล้าเผชิญกับโรคร้ายได้อย่างตื่นรู้และจัดการมันได้อย่างเท่าทันเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดแบบเดียวกันกับที่ ธวัชชัย รัตนศักดิ์ หรือลุงยักษ์ ใช้ในการเผชิญหน้ากับโรคมะเร็งที่เขาเป็นอยู่ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘มะเร็งคือโรคโรคหนึ่งที่เราต้องรับมือและสู้กับมันอย่างมีสติและเข้าใจ’ 

สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

“ก่อนหน้าที่จะมาเป็นมะเร็ง ผมเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องการตรวจร่างกายและก็ผมหาคุณหมอเช็คด้านทางเดินปัสสาวะมาตลอด มีการเช็คสารบ่งชี้มะเร็งในต่อมลูกหมาก (Prostate-specific Antigen: PSA) ทุก 6 เดือนอยู่แล้ว ช่วงเมื่อ 10 ปีที่แล้วเจอว่าเจ้าค่านี้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดทุกครั้งที่ไปตรวจ มีครั้งนึงกระโดดจาก จาก 6 มาเป็น 13 หลังจากนั้นก็มีการตรวจละเอียดขึ้น แต่ยังไม่พบความผิดปกติใดๆ จนตัวเลข PSA ขึ้นมาเป็น 20 และ 23 จึงต้องมาตรวจละเอียดอีกครั้งและพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณปี 2554 ยังโชคดีที่โดยตัวโรคยังไม่ได้กระจายไปไหน แต่ว่าชิ้นเนื้อที่เจาะออกมาผลอยู่ในเกรดสูงประมาณระดับ 9 จาก 10 นั่นหมายความว่ามะเร็งมีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นได้ง่าย เป็นเนื้อร้ายชนิดแรง

ในการรักษาจริงๆ แล้ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือผ่าตัด แต่ในเวลานั้น ผมมีน้ำหนักตัวมาก คุณหมอที่ดูแลแนะนำว่าการผ่าตัดจะลำบากและมีความเสี่ยง เลยต้องหาวิธีอื่น ดังนั้น การรักษาหลักๆ จะเป็นการฉายแสง ซึ่งกว่าจะได้ฉายแสงก็มีกระบวนการในการเตรียมตัวหลายขั้นตอนและใช้เวลาอยู่พอสมควร ทั้งการทำ CT Scan ฝังทองล็อกจุด การทำโมล็อกตัวเพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวเวลาฉายแสงจะได้ฉายได้ตรงจุด จนทุกขั้นตอนเสร็จสิ้น จึงเข้าสู่กระบวนการฉายแสงทั้งหมด 39 ครั้ง หลังจากฉายแสงจบ คุณหมอจะเช็คดูค่า PSA ซึ่งพบว่าลดลงมาอยู่ในระดับปกติ โดยผมโชคดีไม่มีผลข้างเคียงใดๆ จากการฉายแสง ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเลย”

เมื่อร่างกายสะกิดให้เรากลับมาดูแลตัวเอง

“ถ้าย้อนกลับไปตอนหนุ่มๆ ที่ยังทำงานอยู่ ผมใช้ขีวิตแบบสุดเหวี่ยงและดื่มเหล้าเยอะมากนะ เรียกว่าดื่มทุกวัน แต่พอเจอมะเร็งปุ๊บ ผมหยุดร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็หยุดได้ทันทีแบบไม่มีอาการลงแดง ผมคิดว่าในชีวิตที่ผ่านมา เราได้ใช้ชีวิตมาเต็มที่แล้ว เมื่อวันหนึ่งร่างกายมาเตือนว่ากำลังมีปัญหา ก็ต้องกลับมาดูว่าเรากำลังทำอะไรที่มากเกินพอดีไหมและหันกลับมาดูแลตัวเองให้เต็มที่ดีกว่า แน่นอนสำหรับอายุอย่างผม ตอนนี้ 77 ปี ร่างกายมันเสื่อมไปตามอายุอยู่แล้ว ซึ่งผมเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ดี แต่อะไรที่หยุดได้และเป็นผลดีกับเรา ทำให้เราอยู่ได้อย่างแข็งแรงและมีความสุข ผมก็หยุดนะ ไม่เคยลังเลและอิดออดเลย

ส่วนเรื่องสุขภาพใจก็มีภรรยา ลูกๆ และกัลยาณมิตรส่งกำลังใจมาให้ตลอด ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงและคอยดูแลอยู่ เพราะถ้าเราตัวคนเดียวไม่มีครอบครัวมาคอยดูก็คงลำบากเลยล่ะ ส่วนการดูแลเรื่องอื่นๆ ในเวลานี้ผมมีกิจกรรมที่ทำตามปกติกับเพื่อนๆ อยู่ ทั้งจัดทริปเที่ยว ตีกอล์ฟ ร้องเพลง ตรงนี้ก็ทำให้ชีวิตวัยเกษียณมีชีวิตชีวา ผมจะไม่จมอยู่กับความคิดว่าเราป่วยสักเท่าไหร่ แต่จะใช้ชีวิตให้ปกติและมีความสุขเท่าที่เราทำได้ในวันนี้ แต่ตอนนี้ก็อย่างที่เห็นว่าพวกเราเจอกับวิกฤต COVID-19 กันอยู่ ดังนั้น ทุกกิจกรรมที่ทำเลยต้องพักไว้ก่อน ที่สำคัญคือผมเองก็ต้องระวังตัวมากขึ้นด้วยเพราะด้วยสุขภาพ ผมจะเซนซิทีฟกว่าคนอื่นๆ เขา”

เปลี่ยนลิ้นหัวใจ – เปลี่ยนไต – ติดเชื้ออะดีโนไวรัส กับความสัมพันธ์ต่อโรคและการรักษามะเร็ง 

“ผมเปลี่ยนลิ้นหัวใจเมื่อปี 2536 ตอนนั้นก็อายุราว 50 กว่าๆ ก่อนที่จะมาพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและรักษาด้วยการฉายแสงในปี 2555 ซึ่งคุณหมอต้องเช็คก่อนว่า เมื่อมีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้วเราสามารถทำการฉายแสงได้ไหม ซึ่งก็โชคดีที่ไม่มีปัญหาอะไร เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ไม่มีผลอะไรกับการรักษาโรคมะเร็ง

แต่เนื่องด้วยผมมีภาวะไตเสื่อมถอยมาเป็นระยะๆ เป็นความเสื่อมตามวัยนี่แหละ ผมก็เข้ารับการรักษาตามอาการมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันหนึ่งที่ค่าการกรองของไตลดลงเหลือเพียง 5% (ค่าการกรองของไต [estimated Glomerular Filtration Rate: eGFR, GFR] หรือทั่วไปเรียก ‘ค่าไต’ ปรกติคือ 90-125 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร หากต่ำกว่านี้ หมายความว่าบุคคลนั้นมีภาวะไตเสื่อม เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ค่าไตจะลดลง 1 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร และเมื่ออายุ 70 ปี ค่าไตจะลดลง 50 % หรือมากกว่านั้น เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ไตก็มีแนวโน้มทำงานลดลง – ที่มา: MedThai) ประมาณปี 2561 จึงต้องทำการเปลี่ยนไต โดยรับไตข้างหนึ่งมาจากลูกชายของผมที่แมชกันพอดี ในเวลานั้นก็มีเรื่องที่ต้องพิจารณามากพอสมควร เอาจริงๆ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเป็นเรื่องซีเรียสมาก น่าจะพอๆ กับการเป็นมะเร็งเลยนะ โดยการเปลี่ยนไตจะมีผลกระทบกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ผมรักษาไปด้วย เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนอวัยวะ เราต้องทานยากดภูมิซึ่งจะทำให้มะเร็งมีโอกาสกลับมาได้ง่ายขึ้น เพราะไม่มีภูมิต้านทานของเราสู้เจ้ามะเร็งนี้ไว้ แล้วถ้ามะเร็งกลับมา วิธีการรักษาก็อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ผมและครอบครัวก็กังวลตรงนั้นเหมือนกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราลังเลว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนดี จนกระทั่งร่างกายเริ่มไม่ไหว เลยต้องชั่งน้ำหนักดูความเป็นไปได้และความเสี่ยงตอนนั้น ทำให้กระบวนการทุกอย่างจึงต้องมีการตรวจเช็คอย่างละเอียด ตั้งแต่หัวใจ มะเร็ง และโรคอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยมากที่สุด ผมต้องให้คุณหมอที่ดูแลต่อมลูกหมากประเมินและทำจดหมายยืนยันมาว่า ผมได้ฉายแสงมาเกิน 5 ปีแล้วและไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องเปลี่ยนไต หมอเขาถึงยอมเปลี่ยนไตให้

หลังจากนั้น การเปลี่ยนอวัยวะและการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยังมีผลกระทบกับผมอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากผมต้องทานยากดภูมิหลังจากเปลี่ยนไต ก็เลยเกิดการติดเชื้ออะดีโนไวรัสที่ระบบทางเดินปัสสาวะทำให้ถ่ายเป็นเลือดและมีลิ่มเลือดอุดตัน วิธีการรักษาในเวลานั้นมีความซับซ้อนและยากอยู่มากทีเดียว เพราะเมื่อเคยฉายแสงที่ต่อมลูกหมากมาก่อน จึงทำให้เส้นเลือดบริเวณที่ถูกฉายแสงมีความเปราะบาง การรักษาเลยไม่สามารถทำได้เต็มที่และยากกว่าคนอื่น บางวันผมต้องสวนปัสสาวะวันละหลายครั้งเลยนะ เรียกว่าติดเชื้อครั้งนี้เจ็บมากกว่าเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เปลี่ยนไต และรักษามะเร็งอีก แต่ผมก็ผ่านมันมาได้”  

เมื่อเข้าใจโรค…ก็จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยสติ

“ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเจ็บป่วยอะไรก็ตาม ผมองว่านั่นเป็นโรคโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อคุณหมอมาดูแล เราก็รักษาไป อาจเพราะผมเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก แน่นอนว่าความกังวลย่อมมีอยู่แล้ว เพียงแต่จะไม่ค่อยเก็บมาคิดและไม่ค่อยกลัวเรื่องการรักษา แล้วผมจะค้นหาความรู้เกี่ยวกับโรคนั้นๆ อยู่เสมอ ไม่ได้ปล่อยให้คุณหมอดูแลเราฝ่ายเดียว อย่างมะเร็งต่อมลูกหมาก ผมก็หาข้อมูลไว้ จะทำตัวเองให้มีความรู้เพียงพอเพื่อที่จะคุยกับหมอให้รู้เรื่องด้วย

จากประสบการณ์ของผม โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าดูแลและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ดูเขาให้ทัน มันก็เป็นมะเร็งที่รักษาได้ไม่ซับซ้อน เพียงแต่เวลาป่วย คนที่เข้ารับการรักษาก็จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน บางคนก็เครียด บางคนทำใจได้ สิ่งที่ผมอยากแนะนำก็คือ อยากให้คนที่กำลังเป็นโรคอะไรก็ตาม ขอให้ทำใจสบายๆ เอาไว้ ลองหาความรู้เกี่ยวกับโรคที่เราเป็น เพื่อที่เวลารักษาหรือดูแลตัวเอง เราจะตามโรคได้ทันและเข้าใจที่คุณหมออธิบาย เมื่อเรามีความรู้ เราจะเริ่มมีสติว่าเรากำลังเจอกับอะไรอยู่ อย่าปล่อยปละละเลย ผมเข้าใจว่าทุกคนกังวล ผมเองก็กังวล แต่อยากให้ทุกคนมีกำลังใจในการรักษา มีกำลังใจในการที่จะมีชีวิตต่อ เพราะคุณหมอที่ดูแลเราเขาได้รับการฝึกฝนให้ทำงานด้านนี้มาแล้ว อยากให้สู้และอย่าเพิ่งยอมแพ้ไปเสียก่อน”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: วริษฐ์ สุมนันท์
ภาพเพิ่มเติม: ธวัชชัย รัตนศักดิ์

Share To Social Media