บทสนทนาแสนเรียบง่ายของเรากับพี่บัวศ์ – บัวศศินิตย์ แซ่ลิ้ม เกิดขึ้นในร้านกาแฟย่านนครปฐม ไม่ไกลจากบ้านพักของผู้หญิงแกร่งคนนี้ เธอเริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงช่วงเวลาเมื่อราว 2 ปีก่อนว่าเป็นช่วงเวลาที่หินไม่น้อยสำหรับเธอเอง เพราะหลังจากการตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrioid Carcinoma, Figo Grade 2) ที่กำลังขยับจากระยะที่ 2 สู่ระยะที่ 3 ทำให้ชีวิตของเธอต้องเจอกับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังจากการรักษา ภาวะแทรกซ้อนและโรคร่วมที่มาพร้อมกับมะเร็ง การกลับมาเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกครั้งที่ 2 ไปจนถึงการต้องหยุดพักจากงานที่เป็นรายได้หลักซึ่งเธอใช้ดูแลตัวเองและครอบครัวลงชั่วคราวเพื่อกลับมารักษาตัวให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง แต่ท่ามกลางมรสุมชีวิตที่เกิดขึ้น พี่บัวศ์บอกกับเราว่า ยาชูกำลังที่ทำให้เธอยังยืนหยัดอยู่ตรงนี้ได้ นอกจากครอบครัว เพื่อนฝูง และทีมแพทย์แล้ว อีกสิ่งสำคัญคือสติและหัวใจที่ตั้งมั่นของตัวเอง นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่ไม่เพียงจะสร้างกำลังใจ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ดีไม่ว่าคุณจะอยู่ในวิกฤตใดของชีวิตก็ตาม
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก 1 ใน 5 มะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือ Endometrium Cancer ถือเป็นชนิดมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศตะวันตก รองมาจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขณะที่ประเทศไทยเอง มะเร็งชนิดดังกล่าวนับว่าพบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ในผู้หญิง โดยมักพบในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งมีสาเหตุใหญ่จากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน
“จริงๆ พี่เริ่มเห็นสัญญาณที่แปลกไปของร่างกายมาตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้ว โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือการมีประจำเดือนเยอะ และเริ่มมีเลือดปนหนองออกมา รวมทั้งการเกิดฝีขึ้นบริเวณหัวหน่าว แต่ได้มาตรวจแบบจริงๆ จังๆ คือกุมภาพันธ์ ปี 2565 กระทั่งได้รายงานการแพทย์ออกมาช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกันว่าพี่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะ 2 ที่กำลังจะลามเป็นระยะ 3
“ด้วยโครงสร้างของผนังกล้ามเนื้อของมดลูกจะมีทั้งหมด 3 ชั้น ของพี่เกิดจากกล้ามเนื้อมดลูกชั้นลึกสุดที่เรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) แล้วค่อยๆ ขยายออกมาชั้นกลาง คือ เปลือกกล้ามเนื้อของผนังมดลูก (Myometrium) และผนังมดลูกชั้นนอกสุด (Perimetrium) ซึ่งถ้าทะลุส่วนนี้ออกมาคือการลามออกนอกปากมดลูก โดยสามารถลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น ม้าม ถุงน้ำดี ไต กระเพาะปัสสาวะได้ พอเป็นในระยะนี้ คุณหมอไม่อยากให้รอ พี่จึงถูกกำหนดวันผ่าตัดช่วงเดือนมีนาคมเลย เป็นการรักษาแบบผ่าตัดแบบตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน ท่อนำไข่ รังไข่ทั้งสองข้าง และเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานทั้งสองข้าง (Total abdominal hysterectomy with bilateral salpingo-oophorectomy; TAH c BSO) ที่เชื้อมะเร็งจะไปแพร่ได้ออกให้หมด
“หลังจากอยู่โรงพยาบาลประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ จนแผลดีขึ้น ของเสียและน้ำเหลืองถูกขับออกจนเหลือน้อยที่สุด คุณหมอจึงอนุญาตให้กลับบ้านมาพักฟื้นหลังผ่าตัดได้ประมาณ 30 วัน จึงเข้าสู่กระบวนการรักษาขั้นต่อไป นั่นคือการฉายแสง 28 แสง เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ ต่อด้วยฝังแร่อีก 2 ครั้ง และมีการติดตามผลด้วยการ CT-scan และตรวจภายในเป็นระยะๆ เพื่อเช็กว่ายังมีอะไรผิดปกติอีกไหม ปรากฏว่าเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ผล CT-scan พบก้อนมะเร็งที่โตขึ้นอยู่ใกล้บริเวณที่ผ่าตัด คุณหมอส่งไป MRI อีกรอบหนึ่งเพื่อตรวจให้ละเอียดขึ้นจนยืนยันว่าก้อนมะเร็งโตขึ้นจริงๆ คราวนี้ คุณหมอใช้การรักษาโดยการให้เคมีบำบัด ซึ่งก่อนการให้เคมีบำบัด คุณหมอจะเตรียมความพร้อมให้ร่างกายพี่ก่อน เพราะระหว่างทางการทำเคมีบำบัดนั้น ภูมิต้านทานในร่างกายจะต่ำลง มีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ แล้วกิจกรรมการเตรียมความพร้อมก็บังเกิดทันที ทั้งฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น ทำฟัน ถอนฟัน อุดฟัน และขูดหินปูน ต้องจัดให้ครบ โปรแกรมเคมีบำบัดที่คุณหมอวางแผนไว้จะเป็นการให้เคมีบำบัด 6 ครั้ง ช่วงห่างแต่ละครั้ง 3 สัปดาห์ กินเวลา 6 เดือน พี่บัวศ์เริ่มรับเคมีบำบัดครั้งแรกช่วงกลางเดือนมกราคม ปี 2566 และครบไซเคิลสุดท้ายเดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน ถ้านับจากวันที่ผ่าตัดครั้งแรกจนถึงวันนี้ก็ราว 2 ปีกว่าได้แล้วค่ะ ระหว่างทางพี่เองได้มีโอกาสเก็บประสบการณ์ความตื่นเต้น สนุก เร้าใจ เขย่าขวัญ ต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลุ้นผลเลือดทุกรอบก่อนว่าผ่านหรือไม่ เรื่องเคมีรั่วออกมาจากเส้นเลือดในไซเคิลที่ 2 และ 3 เรื่องความไม่พร้อมของอุปกรณ์ทำให้หายใจเร็วจนเกือบจะหยุดหายใจไป ต้องวิ่งหาออกซิเจนด่วน ในไซเคิลที่ 4 เรื่องค่าไตไม่ผ่าน เกร็ดเลือดต่ำเกินไปต้องรับเลือดก่อนให้เคมีบำบัดในไซเคิลที่ 5 และ 6 สำหรับพี่ นี่ถือเป็นประสบการณ์แบบครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว (หัวเราะ)”
ดีเอ็นเอนักสู้
“ระหว่างการรักษาพี่เจอความท้าทายอยู่ตลอดอย่างที่เล่าไป รวมถึงการได้รับผลกระทบจากการฉายรังสีซึ่งมีผลต่อระบบขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นอุจาระหรือปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยแบบทุกๆ ครึ่งชั่วโมง อุจจาระเยอะ หรือหลังจากการผ่าตัดมะเร็งออกไป ก็ได้โรคความดันโลหิตสูงมาอีกหนึ่งโรค เรียกว่าต้องไปโรงพยาบาลแทบทุกสัปดาห์ พอช่วงคีโม พี่โชคดีที่มีอาการแพ้ไม่มาก กินอะไรได้หมด ขับรถไปให้คีโมเองได้ แต่ระหว่างทางของการให้คีโมก็มีเรื่องตื่นเต้นอยู่เหมือนกัน อย่างไซเคิลที่ 2 ด้วยความที่เราเป็นคนที่เส้นเลือดเล็กมาก เลยมีเคมีรั่วซึมออกจากเส้นเลือดระหว่างให้คีโม ทำให้มีอาการบวมแดง ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนถึงจะดีขึ้น หรือบางครั้งเส้นเลือดตัน ซึ่งเป็นชีวิตปกติของคนให้คีโม
“แต่สิ่งที่ยากที่สุดคงเป็นเรื่องของการทำใจยอมรับ คิดว่าเป็นความโชคดีของตัวเองที่ได้อยู่กับธรรมะมาตลอด พอรู้ว่าเป็นมะเร็ง อย่างแรกที่ธรรมะเข้ามาช่วยคือการตั้งสติและทำใจยอมรับกับสิ่งที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกัน พี่คิดว่า ช่างเถอะ คนเราเกิดมาไม่ว่าใครก็ต้องตาย แล้วด้วยความที่เป็นหัวหน้าครอบครัวด้วย เลยยิ่งต้องกลับมาตั้งสติหนักๆ เลยว่าจะต้องทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ เพราะพี่มีทั้งแม่และน้องที่ต้องดูแล ซึ่งคนเป็นแม่ ไม่ว่าลูกจะอายุเท่าไหร่ ท่านจะเป็นห่วง เวลาเห็นลูกป่วย เห็นพี่อาเจียน แน่นอนว่าท่านอยากดูแลให้ดีที่สุด แต่พี่จะบอกแม่ให้หมดห่วงว่า ‘ไม่เป็นไรเดี๋ยว 10 นาทีก็ผ่านไปได้แล้ว’ ดังนั้น พี่จึงพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุดและเลือกที่จะทำทุกอย่างที่ทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ให้ใครมาทำให้รู้สึกว่าป่วยจนกลายเป็นความเฉาและหมดกำลังใจ เช่น พี่จะขับรถไปหาหมอเอง ซึ่งโชคดีที่สภาพร่างกายเอื้ออำนวยให้ทำแบบนั้นได้ พี่พยายามทำอะไรให้ปกติเหมือนคนไม่ป่วยเพื่อที่ครอบครัวและเพื่อนๆ จะได้สบายใจ ส่วนอะไรที่จะมากระทบใจ พี่จะหลีกเลี่ยงไปก่อน
“หลังจากตั้งสติได้และดูแลตัวเองอย่างดีแล้ว พี่เริ่มมาสำรวจว่า แล้วตอนนี้มีอะไรบ้างที่กังวลใจอยู่บ้าง ตอนนั้น พี่เลี้ยงน้องหมาอยู่ตัวหนึ่ง อยู่ด้วยกันมา 16 ปี แล้ว และเขาเป็นหมาที่ป่วยติดเตียง เป็นโรคไตระยะสุดท้าย ต้องให้ยาและน้ำเกลือทุกวัน ตัวพี่กังวลใจเรื่องนี้มากเพราะถ้าต้องไปนอนโรงพยาบาลหลายๆ วัน จะไม่มีใครดูแลเขา คุณแม่และน้องไม่สบายอยู่ด้วย จึงไม่อยากทิ้งภาระให้คนในครอบครัว พี่จึงไปปรึกษากับทางสัตวแพทย์ ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า โรคที่เขาเป็นไม่มีทางรักษาแล้วนะ ขณะเดียวกัน คุณหมอเองก็ให้หลักการมา 3 เรื่อง ข้อหนึ่ง ให้ยึดตัวเราเป็นหลัก อย่าให้เขาเป็นภาระกับเรา ขัอสอง อย่าให้เราเป็นภาระกับเขา และข้อสุดท้ายคือ เขาเป็นโรคที่รักษาไม่ได้แล้ว อยู่ประคับประคองรอวันที่จากไป สุดท้ายและท้ายสุด สิ่งที่ยากที่สุดอีกเรื่องก็เกิดขึ้น คือการต้องตัดสินใจทำการุณยฆาตให้เขาหลับไป คุณหมอบอกกับเราว่าต้องทำใจนะ เพราะไม่อย่างนั้น ทั้งเราและเขาจะเป็นภาระซึ่งกันและกัน และนั่นจะยิ่งเพิ่มความเครียดเข้าไปอีก นี่คืออีกจุดที่ยากมากๆ แต่เมื่อเราตัดความกังวลออกจากตัวได้ มันทำให้เราไปผ่าตัดได้แบบสบายใจขึ้น และแม้เขาจะไม่อยู่แล้ว แต่ 16 ปีที่ผ่านมาคือความทรงจำที่ดีระหว่างเราทั้งคู่ (ยิ้ม)”
ประตูสู่การเติบโตของชีวิต
“2 ปีที่ผ่านมา ทุกเรื่องราวสอนพี่ในฐานะการเป็นมนุษย์เยอะเลย หนึ่งในนั้นคือ การปล่อยวาง พี่พบว่าพอปล่อยวางได้ พี่แทบจะไม่เครียดเลยนะ อย่างตอนที่มารู้ว่าเป็นมะเร็งรอบสอง พี่ไม่ได้ตกใจว่ามะเร็งกลับมา แต่แอบจะมีต่อรองกับคุณหมอนิดหนึ่ง เพราะด้วยอารมณ์และความเชื่อแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับการรักษาตัวการรับคีโม บวกกับฟังคนที่หวังดีเล่ามา พี่เลยไม่อยากรับเคมีบำบัด แต่โชคดีมากๆ ที่คุณหมอเจ้าของไข้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ยาเคมีบำบัดถูกพัฒนาไปไกลมาก ไม่ต้องกังวล แถมยังให้กำลังใจ แนะนำ และหาวิธีป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการรับเคมีบำบัดเพื่อให้พี่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วย
“แต่ก่อนพี่เป็นคนทำงานหนักมาก เรียกว่าอะไรที่เป็นเงินจะทำหมด แต่เดี๋ยวนี้พี่ช่างมันและปล่อยได้มากขึ้นเยอะ ถามว่า 2 ปีที่ไม่ได้ทำงานเลย พี่คิดว่าคนส่วนใหญ่คงจะเครียดว่า แล้วฉันจะเอาอะไรกิน พี่เองก็เครียดนะแต่มองว่าช่างมันเถอะ เดี๋ยวรอหายก่อนแล้วค่อยทำก็ได้ แล้วพอไม่มีรายได้ พี่เลือกใช้วิธีคิดง่ายๆ คือกินและใช้เท่าที่มี อะไรที่ไม่จำเป็นจะไม่ทำ ไม่สร้างเงื่อนไขกับตัวเอง พอทำแบบนี้ พี่เลยใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นเยอะ
“นอกจากนี้ การมีครอบครัวและกัลยาณมิตรที่ดีก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่มีกำลังใจที่ดีมากๆ จนถึงวันนี้ พี่ได้เห็นน้ำใจและความห่วงใยส่งมาให้ตลอด ทั้งหยูกยา อาหารเสริมที่จะมาช่วยให้เราแข็งแรง อีกอย่างที่บอกไป พี่คิดว่าตัวเองโชคดีที่อยู่กับธรรมะและการทำจิตอาสามาก่อนหน้า เวลามีอะไรไม่สบายใจ พี่จึงมีที่พึ่งทางใจ นั่นคือการสร้างกำลังใจที่มาจากตัวเองได้ แล้วที่มาช่วยเสริมทัพที่ทำให้ผ่านวันยากๆ ไปได้อีกอย่างคือการดูซีรีส์ ตอนนี้พี่เป็นแฟนตัวยงของซีรีส์ทั้งจีนและเกาหลีไปแล้วนะ (หัวเราะ) เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ยังมีพี่บัวศ์ในวันนี้ได้”
จงเชื่อมั่นว่าฉันทำได้
“ในเรื่องของการรักษา พี่มองว่าการฟังคนอื่นจะได้ประโยชน์ในแง่ของการเป็นแนวทางให้เราได้ เช่น ถ้าเราให้คีโมจะมีอาการอะไรเกิดขึ้นบ้างนะ เมื่อได้รู้ก่อน เราจะสามารถเตรียมตัวเตรียมใจได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคืออย่ากังวลจนเกินไป เพราะแต่ละคนมีสภาวะร่างกายที่แตกต่างกัน บวกกับเวลานี้วิทยาการด้านการแพทย์ไปไกลมากๆ แล้วอย่างที่บอก รวมไปถึงคุณหมอและทีมรักษาจะมาช่วยเราเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนเสมอ ทั้งการตรวจร่างกาย การให้ยาป้องกันเพื่อให้เราได้รับผลกระทบน้อยลง ดังนั้น ถ้าเราทำจิตใจให้ดี เราก็จะมีกำลังใจสู้กับมะเร็งได้
“และอย่างที่บอกว่าจุดที่ยากที่สุดคือการยอมรับ ทำใจ และปล่อยวาง จากประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าเราปล่อยวางได้เร็ว ได้เยอะ รวมถึงพยายามอย่าให้อารมณ์ความเครียดและวิตกกังวลเข้ามาสุม มองอะไรให้เป็นบวกตลอด จะเป็นตัวช่วยอย่างดีที่ทำให้เราไปต่อได้และไหวในทุกจุดการรักษา สิ่งหนึ่งที่พี่พบว่าดีมากๆ คือการได้แบ่งปันประสบการณ์และให้กำลังใจระหว่างผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัน พี่พบว่าวิธีนี้ช่วยตัวพี่เองได้เยอะเลยนะ เหมือนกับว่าเราได้คุยกับคนภาษาเดียวกัน คนที่ผ่านความยากลำบากมาคล้ายๆ กัน จะมีความเข้าอกเข้าใจกัน แต่ไม่ใช่ว่าคนอื่นๆ ไม่ดีอะไรนะคะ เพียงแค่บางครั้ง มันเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันที่คนไม่ป่วยจะซึมซับถึงความเจ็บปวดของคนที่เป็นมะเร็ง
“ไม่นานมานี้ พี่มีโอกาสได้เข้าคอร์สกับทาง Art for Cancer ได้ฟังธรรมะจากพระอาจารย์ไพศาล มีหลายๆ สิ่งที่ท่านสอนและเป็นประโยชน์กับตัวพี่มากและอยากแบ่งปันคือ ท่านบอกว่า ‘คนที่เป็นมะเร็ง อันดับแรกที่ท่านอยากแนะนำคือการปรับความคิดให้ค่อยๆ ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อใดที่ใจเรายอมรับได้แล้ว ลองเรียนรู้ที่จะอยู่กับเขา ไม่ไปต้านกัน และเมื่อเรายอมรับได้ เราจะหาวิธีที่จะรับมือกับมะเร็งที่เราเผชิญอยู่ เมื่อเรารับมือได้ในแนวทางของเรา เมื่อนั้นเราจะทุกข์น้อยลง’ พี่รู้ว่าการยอมรับเป็นเรื่องไม่ง่ายหรอก เพราะพี่บัวศ์เองกว่าจะผ่านมาได้ก็ใช้เวลาไม่น้อยเลย เหมือนที่บอกว่าตอนแรกพี่เองก็ไม่อยากรับการรักษาด้วยคีโม แต่พอยอมรับว่านี่คือกระบวนการรักษาที่จะทำให้หายป่วยได้ แป๊บๆ จากครั้งที่ 1 ก็ไปสู่ครั้งที่ 6 แล้ว พี่จึงอยากให้ใครก็ตามที่ได้อ่านสัมภาษณ์นี้ เชื่อมั่นในความก้าวหน้าของการรักษา เชื่อมั่นในคุณหมอที่รักษาเรา ที่สำคัญที่สุดคือการเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราจะหายได้ และพี่จะเป็นหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนผ่านความท้าทายนี้ไปให้ได้ค่ะ (ยิ้ม)”
เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร