ให้ภาษารักช่วยสร้างพลังใจกับผู้ป่วยมะเร็ง

“ผู้ป่วยมะเร็งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายมิติ และต้องใช้ความเข้มแข็งทางจิตใจในการก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ผู้ป่วยหลายคนคงเคยได้รับคำถามที่ชวนให้ยิ่งหดหู่ กังวลมากขึ้น และอาจยิ่งบั่นทอนจิตใจในเวลานั้น  จนบางครั้งคนข้างๆ หรือคนดูแลหลายคนเริ่มเกิดความกังวล สงสัยและกลัวว่าความหวังดีหรือความห่วงใยของเราอาจจะเผลอไปกระทบใจผู้ป่วยได้ เลยเกิดข้อสงสัยว่าแบบไหนกันนะที่เหมาะสมและพอเหมาะกับผู้ป่วย”

บนโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน…ความจริงในชีวิตที่เราได้เรียนรู้กันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประสบการณ์ชีวิตของเรา ผ่านช่วงวัยที่มากขึ้น  แม้แต่การเรียนรู้ทางอ้อมผ่านคนข้างๆก็ช่วยให้เราได้เห็นตามจริง ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิดที่ยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องมาเวลานี้ ย่อมทำให้เราได้รับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงกันอยู่เสมอ  เวลาคนเราพบเจอเหตุการณ์ที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวจากชีวิตที่ปกติธรรมดา เรามักเปราะบางและอ่อนไหวได้ง่าย ทั้งการรับมือกับอาการทางกายที่อาจเปลี่ยนแปลงแต่ละขณะ การรับมือภายในจิตใจที่เกิดความทุกข์ วิตกกังวล กลัว เครียด หรือเศร้าเสียใจ ที่เข้ามาพร้อมกันในเวลานี้  อาจจะมีความหวัง สลับกับหมดหวัง บางช่วงรับมือได้ดี บางช่วงอาจรับมือได้ยากกว่าเดิม 

กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายมิติ และต้องใช้ความเข้มแข็งทางจิตใจในการก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา  ผู้ป่วยหลายคนคงเคยได้รับคำถามที่ชวนให้ยิ่งหดหู่ กังวลมากขึ้น และอาจยิ่งบั่นทอนจิตใจในเวลานั้น จนบางครั้งคนข้างๆ หรือคนดูแลหลายคนเริ่มเกิดความกังวล สงสัยและกลัวว่าความหวังดีหรือความห่วงใยของเราอาจจะเผลอไปกระทบใจผู้ป่วยได้ เลยเกิดข้อสงสัยว่าแบบไหนกันนะที่เหมาะสมและพอเหมาะกับผู้ป่วย ความจริงแล้วคนเรามีมุมมองและให้คุณค่าและความหมายในแต่ละเรื่องต่างกันไป แต่ละคนไม่ได้ยืนอยู่ที่จุดเดียวกัน ดังนั้น คำถามหนึ่งคำถามอาจจะใช้ได้กับบางคน อย่างไม่ส่งผลอะไร แต่กับบางคนอาจจะเป็นคำถามที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะมีผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วย แต่สิ่งสำคัญกว่าที่ คือ เริ่มจากเรามีความปรารถนาดีในใจ พร้อมเข้าใจและให้เป็นไปอย่างเกื้อกูลแต่ไม่ก้าวก่าย จะส่งผลให้ทุกถ้อยคำและการกระทำของเราเป็นไปอย่างละเมียดละไมมากขึ้น 


หลักการพื้นฐานสำหรับคนดูแลหรือคนรอบข้างผู้ป่วยจะช่วยดูแลใจผู้ป่วยได้ดี คือ การสื่อสารที่เหมาะสม และการรับฟังอย่างใส่ใจ

1. การสื่อสารที่เหมาะสม  

ภาษาที่ใช้สื่อสารมีทั้งภาษาพูด คือ ถ้อยคำที่เราพูดออกมา การสอบถามอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วย เลือกถามคำถามที่แสดงความห่วงใยมากกว่าคำถามที่มุ่งอยากรู้ข้อมูลเพียงแบบเดียว เช่น

 “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง อยากให้เราช่วยอะไรไหม”  
 “มีอะไรที่เราพอช่วยแบ่งเบาได้บ้างหรือเปล่า”   
“อยากให้เราอยู่ด้วยก่อนไหม”  
“มีอะไรอึดอัดอยากระบายไหม เราพร้อมรับฟังเสมอนะ”
“ไม่สบายใจเมื่อไหร่ โทรหาเราได้เสมอนะ”   



ภาษาท่าทาง เช่น การโอบกอด สัมผัส บีบมือ สายตาที่แสดงออกถึงความห่วงใย รวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ  ก็เป็นการสื่อสารที่ช่วยเสริมแรงผู้ป่วยได้ดีเช่นกันโดยไม่ต้องพูดอะไร   
การหมั่นสังเกตก็ช่วยให้เราดูแลใจผู้ป่วยได้ดี เช่น สีหน้าท่าทางสดชื่นหรือเหม่อลอย ก้มหน้าหรือปกติ ต่างจากเดิมหรือเปล่า 


นอกจากนั้นยังมีภาษาข้อความที่เราใช้สื่อสารกันมากขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่อาจมีผลต่อจิตใจได้เช่นกัน เราอาจจะต้องระมัดระวังการพิมพ์ข้อความเพราะยิ่งไม่ได้ยินน้ำเสียง ไม่เห็นภาษาท่าทางสีหน้าแววตา ผู้รับสารอาจจะไม่เข้าใจหรือตความหมายผิดไปจากความตั้งใจผู้ส่งสารได้ 
คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยงในการคุยกับผู้ป่วย ได้แก่ 
– ระยะขั้นของอาการ การแพร่กระจาย 
– การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ชัดเจน
เช่น ผมร่วง สีผมเปลี่ยนไป ซูบ ไม่มีเรี่ยวแรง เป็นต้น 
– คำแนะนำที่เกินเลย
เช่น อาหารเสริม แพทย์ทางเลือก ช่องทางรักษาอื่น 
– ที่มาของโรค
เช่น เกิดได้อย่างไร ทำไมถึงเป็น 
– ผลการรักษา
เช่น ทำไมยังไม่หาย ทำไมเป็นขึ้นมาอีก อยู่ได้นานเท่าไหร่  
– คำพูดให้กำลังใจที่มีเจตนาที่ดี แต่อาจกระทบความรู้สึกได้ในบางคนและบางจังหวะเวลา
เช่น สู้ๆนะ หรือ เดี๋ยวก็หาย อย่าเครียดนะ  เป็นต้น  

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่จังหวะเวลา สถานการณ์และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้พูดกับผู้ป่วยด้วย 

 2. การรับฟังอย่างใส่ใจ  

 การรับฟังอย่างใส่ใจ คือ การเอาใจไปใส่ในการฟังสิ่งที่ผู้ป่วยเล่า หรือแสดงออกมา ไม่ว่าจะคำพูด น้ำเสียงสีหน้าแววตาท่าทาง อารมณ์ความรู้สึกและสิ่งที่อยู่ภายในใจ สภาพจิตใจขณะนั้นเป็นอย่างไรและต้องการให้เราช่วยอะไรบ้างหรือเปล่า 
หรืออะไรที่ผู้ป่วยกังวลและต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม      
การฟังอย่างตั้งใจ ฟังในสิ่งที่ผู้ป่วยเล่า ระวังการเผลอให้คำแนะนำในขณะนั้น ลองฟังอย่างไม่ต้องตัดสิน ไม่ประเมินถูกหรือผิดใดใด  ฟังเพื่อเข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้าเรา คนที่เราห่วงใยใส่ใจ หากมีเวลาและพร้อมรับฟัง ควรให้เวลาไปที่ความคิด ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นมากกว่าการซักถามข้อมูลอาการของโรคหรือเพียงข้อมูลที่อยากรู้   

การได้พูดความคิด ความกังวล อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่มีออกมาให้ผู้ที่พร้อมรับฟังได้ฟังเป็นการเยียวยาไปในเวลาเดียวกัน แม้ว่าปัญหาหรือความกังวลนี้จะยังไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ในเวลานั้น แต่การที่ผู้ป่วยได้มีพื้นที่ปลอดภัยกับคนที่มีใจเมตตา ได้มีโอกาสระบายความคิดที่สับสนมากมายออกมา ได้แบ่งเบาความรู้สึกข้างในใจให้คนอื่นรับรู้บ้างจะช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายลงได้  บางครั้งคนเราก็เพียงต้องการคนที่อยู่เคียงข้าง ให้เวลา พร้อมรับฟัง พร้อมเข้าใจและยอมรับ มากกว่าคนที่มาเพื่อจัดการ แนะนำ หรือแก้ไขปัญหาเท่านั้น  

การสื่อสารที่เหมาะสมและการรับฟังอย่างใส่ใจ เป็นภาษารักง่ายๆที่ช่วยสร้างสัมพันธภาพ ช่วยเยียวยาจิตใจและสร้างพลังใจให้กับเราอย่างดี อยากเชิญชวนทุกคนลองปรับประยุกต์ใช้กันนะคะ 
เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยใด ประสบเหตุการณ์ใด จะอยู่ในสถานะไหนหรือสถานภาพใดก็ตาม เชื่อว่าทุกคนบนโลกใบนี้ต้องการคนที่เข้าใจและรับฟังสิ่งที่เป็นตัวเรานะคะ 🙂 

  

ขอขอบคุณ : วิมลรัตน์ ปฏิพัทธ์วุฒิกุล นักเขียนจิตอาสา

Share To Social Media