“ผู้ป่วยมะเร็งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายมิติ และต้องใช้ความเข้มแข็งทางจิตใจในการก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ผู้ป่วยหลายคนคงเคยได้รับคำถามที่ชวนให้ยิ่งหดหู่ กังวลมากขึ้น และอาจยิ่งบั่นทอนจิตใจในเวลานั้น จนบางครั้งคนข้างๆ หรือคนดูแลหลายคนเริ่มเกิดความกังวล สงสัยและกลัวว่าความหวังดีหรือความห่วงใยของเราอาจจะเผลอไปกระทบใจผู้ป่วยได้ เลยเกิดข้อสงสัยว่าแบบไหนกันนะที่เหมาะสมและพอเหมาะกับผู้ป่วย”
บนโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน…ความจริงในชีวิตที่เราได้เรียนรู้กันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากประสบการณ์ชีวิตของเรา ผ่านช่วงวัยที่มากขึ้น แม้แต่การเรียนรู้ทางอ้อมผ่านคนข้างๆก็ช่วยให้เราได้เห็นตามจริง ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิดที่ยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องมาเวลานี้ ย่อมทำให้เราได้รับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงกันอยู่เสมอ เวลาคนเราพบเจอเหตุการณ์ที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวจากชีวิตที่ปกติธรรมดา เรามักเปราะบางและอ่อนไหวได้ง่าย ทั้งการรับมือกับอาการทางกายที่อาจเปลี่ยนแปลงแต่ละขณะ การรับมือภายในจิตใจที่เกิดความทุกข์ วิตกกังวล กลัว เครียด หรือเศร้าเสียใจ ที่เข้ามาพร้อมกันในเวลานี้ อาจจะมีความหวัง สลับกับหมดหวัง บางช่วงรับมือได้ดี บางช่วงอาจรับมือได้ยากกว่าเดิม
กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายมิติ และต้องใช้ความเข้มแข็งทางจิตใจในการก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ผู้ป่วยหลายคนคงเคยได้รับคำถามที่ชวนให้ยิ่งหดหู่ กังวลมากขึ้น และอาจยิ่งบั่นทอนจิตใจในเวลานั้น จนบางครั้งคนข้างๆ หรือคนดูแลหลายคนเริ่มเกิดความกังวล สงสัยและกลัวว่าความหวังดีหรือความห่วงใยของเราอาจจะเผลอไปกระทบใจผู้ป่วยได้ เลยเกิดข้อสงสัยว่าแบบไหนกันนะที่เหมาะสมและพอเหมาะกับผู้ป่วย ความจริงแล้วคนเรามีมุมมองและให้คุณค่าและความหมายในแต่ละเรื่องต่างกันไป แต่ละคนไม่ได้ยืนอยู่ที่จุดเดียวกัน ดังนั้น คำถามหนึ่งคำถามอาจจะใช้ได้กับบางคน อย่างไม่ส่งผลอะไร แต่กับบางคนอาจจะเป็นคำถามที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะมีผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วย แต่สิ่งสำคัญกว่าที่ คือ เริ่มจากเรามีความปรารถนาดีในใจ พร้อมเข้าใจและให้เป็นไปอย่างเกื้อกูลแต่ไม่ก้าวก่าย จะส่งผลให้ทุกถ้อยคำและการกระทำของเราเป็นไปอย่างละเมียดละไมมากขึ้น
ขอขอบคุณ : วิมลรัตน์ ปฏิพัทธ์วุฒิกุล นักเขียนจิตอาสา
Share To Social Media