หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึก… o เกลียดวันจันทร์เข้าไส้ o ไม่รู้จะลืมตาตื่นเช้า รีบเร่งไปทำงานทำไม o งานที่ทำอยู่เป็นภาระที่หนักอึ้งเกินรับไหว o ปริมาณงานแปรผกผันกับรายได้ ไม่คุ้มกับสิ่งที่ทุ่มเทไป o ไร้ตัวตน ไม่เป็นที่ยอมรับ ปรับตัวเข้ากับทีมงานไม่ได้ o เริ่มทำงานไม่เอาไหน ผิดพลาดซ้ำๆ ซากๆ o ไม่มั่นใจในการทำงาน ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องงานได้ o บางทีก็อยากวาร์ปหายตัวไปจากออฟฟิศเฉยๆ ฯลฯ
อาการข้างต้นเป็นอาการส่วนหนึ่งของ ‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’ (Burnout Syndrome) คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ซึ่งนับเป็นภาวะทางการแพทย์ และจัดอาการนี้อยู่ในบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ICD-11) ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อกลางปี พ.ศ. 2562 นั่นหมายความว่า แพทย์สามารถระบุสาเหตุการป่วยว่า “#หมดไฟในการทำงาน ” ผ่านใบรับรองแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและลาป่วยอย่างเป็นกิจจะลักษณะได้ โดยต้องมีลักษณะอาการหลัก 3 ประการ ได้แก่
☝️ ความรู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้า ไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย ✌️ มีทัศนคติด้านลบต่องาน จิตใจเหินห่างจากงานที่ทำ อยากปฏิเสธงาน 👌 ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
ทั้งนี้ เพราะอาการเบิร์นเอาต์ ซินโดรม เป็นภาวะที่ต้องได้รับการเยียวยารักษาอย่างทันท่วงที หากปล่อยไว้ให้เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือเป็นอาการเรื้อรัง อาจจะเพิ่มระดับความรุนแรงถึงขั้นนำไปสู่ ‘ภาวะซึมเศร้า’ ได้
ลองมาสำรวจกันหน่อยว่า ‘หมดไฟในการทำงาน’ กันหรือยัง ? ด้านอารมณ์ : o อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย o หดหู่ เศร้า หงุดหงิด o ไม่พอใจในงานที่ทำด้านความคิด : o เริ่มมองงานหรือเพื่อนร่วมงานในแง่ร้าย o หวาดระแวงง่ายขึ้น โทษคนอื่นบ่อยขึ้น o บางครั้งสงสัยความสามารถของตน o อยากหนีปัญหามากกว่าเผชิญหน้าด้านจิตใจ : o สูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น o มีอาการของภาวะซึมเศร้า o นอนไม่ค่อยหลับ o บางครั้งใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์ด้านร่างกาย : o เหนื่อยล้าเรื้อรัง o ปวดเมื่อยตามร่างกาย o ปวดศีรษะเรื้อรังด้านพฤติกรรม : o มาสายหรือขาดงานบ่อยขึ้น o บริหารจัดการเวลาแย่ลง ผัดวันประกันพรุ่ง o หุนหันพลันแล่น o ประสิทธิภาพการทำงานลดลง o ทำกิจกรรมสร้างความสุขลดลง o อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด หากพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการต่างๆ ข้างต้น คุณอาจกำลังเข้าข่ายผู้ประสบภาวะหมดไฟในการทำงาน ขอให้หาทางเยียวยาตนเองโดยด่วน อย่าปล่อยไว้จนเรื้อรังสะสม และถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มมีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ โดยไม่สามารถจัดการดูแลตนเองได้ อาจสงสัยได้ว่า #คุณอาจกำลังประสบกับภาวะซึมเศร้า แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ อาการของภาวะหมดไฟในการทำงานนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน หากแต่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นระยะ โดย Miller & Smith (1993) ได้แบ่งระยะต่างๆ ในการทำงานก่อนจะนำไปสู่ภาวะหมดไฟไว้ ดังนี้1. ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมักมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานและองค์กร2. ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานจะเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการทั้งในแง่การตอบแทนและการเป็นที่ยอมรับ คนทำงานอาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาดและไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความคับข้องใจและเหนื่อยล้า3. ระยะไฟตก (brownout) คนทำงานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความคับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ฯลฯ ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง และอาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรและเจ้านายของตนเอง4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หาก #ระยะไฟตก (brownout) ไม่ได้รับการแก้ไข คนทำงานจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเอง มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่5. ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลายและพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตนเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจและเป้าหมายในการทำงานด้วย จากระยะดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการก่อตัวของ ‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’ จะเริ่มก่อตัวตั้งแต่ระยะที่ 2 และชัดเจนมากขึ้นในระยะที่ 3 และ 4 หากปล่อยให้ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซ้ำๆ ซากๆ จนเรื้อรังเป็นปีๆ ก็จะนำไปสู่ #ภาวะซึมเศร้า ได้ในที่สุด ปกติแล้วภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น หากไม่รุนแรงเรื้อรังถึงขั้นซึมเศร้า เราสามารถจัดการเยียวยาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ดังนี้1. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งเสพติด หรือดื่มกาแฟมากจนเกินไป2. การลาพักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย อารมณ์ และจิตใจได้3. จัดระเบียบการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำงาน4. สร้างกฎเหล็กให้ตัวเองได้มีความสุขขึ้น เช่น ไม่หอบงานกลับมาทำที่บ้าน5. ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด รวมถึงจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อปิดช่องทางสื่อสาร เปลี่ยนมาใช้เวลาอยู่กับตัวเองบ้าง6. จัดการความเครียด ต้นเหตุสำคัญของภาวะ Burnout ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เครียดได้แต่ควรรักษาไว้ในระดับที่พอดีๆ7. พัฒนาทักษะการปรับตัว การสื่อสาร การแก้ปัญหา และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น8. เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและสร้างขอบเขตในการทำงาน เพื่อให้ตัวเองไม่แบกภาระงานมากเกินไปจนทำให้เครียด9. รู้จักขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างบ้างในยามจำเป็น10. พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนากับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย หันไปใช้เวลากับคนที่เข้าใจและมองเห็นคุณค่าในตัวคุณให้มากขึ้น11. การออกกำลังกายช่วยได้ นอกจากร่างกายแข็งแรง จิตใจปลอดโปร่งแล้ว การเปลี่ยนสถานที่ออกกำลังกาย หรือเจอเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน ยังช่วยคลายความเครียดจากการทำงานได้อีกด้วย12. เติมพลังด้วยการทำกิจกรรมที่คุณชอบ เช่น ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ท่องเที่ยว งานอดิเรก ฯลฯ13. ผ่อนคลายความเครียดด้วยการใช้ #ชุดศิลปะดูแลใจ ตัวช่วยในการสำรวจและโอบอุ้มหัวใจผ่านกระบวนการทางศิลปะ ซึ่งออกแบบและกลั่นกรองโดยนักศิลปะบำบัดวิชาชีพ เพื่อที่สุดแล้วคุณจะได้ค้นพบคำตอบให้ชีวิตได้ Move on ต่อด้วยหัวใจที่สมดุลกว่าเดิม 🛒 สั่งซื้อได้ที่ >> bit.ly/preorderartkit
ขอบคุณข้อมูลจาก – https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1385 – บทความวิชาการ ‘ภาวะหมดไฟในการทำงาน’ โดยศรีสกุล เฉียบแหลม และเพ็ญนภา แดงด้อมยุทธ์ – วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี, คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – ขอบคุณที่ปรึกษาข้อมูล #istrongmentalhealth Istrong Mental Health
Share To Social Media