เจ็บกายแต่ปวดที่ ‘ใจ’

👩‍🔬 การรักษาโรคใดๆ จะให้ได้ผลดีจำเป็นต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป เช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น นอกเหนือจากการวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง สภาพจิตใจของผู้ป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทางการแพทย์นั้นได้แบ่งการดูแลตามสภาพการเกิดผลกระทบทางจิตใจของผู้ป่วยไว้ดังภาพนี้


ระยะที่ 1: ระยะก่อนและขณะรับทราบการวินิจฉัย

ส่วนใหญ่มักเครียดและกังวลต่อการวินิจฉัยโรคของแพทย์ โดยก่อนทราบผลนั้นมักจะมีความสับสนและขัดแย้งในอารมณ์ตัวเอง เช่นใจหนึ่งอยากรู้ผลการวินิจฉัย แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวที่จะเป็นมะเร็ง ยิ่งพอได้รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยจะแสดงพฤติกรรมออกมาใน 5 ระยะได้แก่

01 การปฏิเสธความจริงและการแยกตัว (The stage of denial isolation) 

ในระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่ยอมพูดหรือรับฟังเรื่องโรคที่เป็นอยู่ ปฏิเสธความจริง ปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นมะเร็งผ่านหลากหลายปฏิกิริยา เช่น เศร้าโศกร้องไห้ที่ชีวิตกำลังจะสิ้นสุดลง เมื่อมีผู้พูดถึงโรคที่เป็นอยู่จะซึมเศร้าเฉยเมย ไม่พูดจากับใคร แยกตัวเองจากสิ่งแวดล้อม จะพูดเฉพาะกับผู้ที่เข้าใจเท่านั้น บางรายเอะอะโวยวายควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรือโทษว่าแพทย์ตรวจผิด ผู้ป่วยจะพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อลบล้างผลการตรวจของแพทย์

==TIPS== 
ผู้ป่วยควรเรียนรู้เกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่เพื่อลดความกลัว รวมทั้งพูดคุยและปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อให้รู้ถึงแผนการรักษาและไขข้อสงสัยต่างๆ

02 โกรธก้าวร้าวกังวลและสับสน (The stage of anger)

เมื่อไม่สามารถปฏิเสธความจริงต่อไปได้ ผู้ป่วยจะเริ่มมีความกังวลสับสนทางความคิดมีอารมณ์ขุ่นมัวใครทำอะไรก็ไม่ค่อยถูกใจ รู้สึกอึดอัดและหาทางออกไม่ได้ รู้สึกโกรธที่ตนต้องเผชิญกับโรคร้ายและกำลังจะสูญเสียทุกอย่างในชีวิต อาจจะถึงขั้นแสดงวาจาหรือกิริยาก้าวร้าวต่อต้านการตรวจหรือคำแนะนำของแพทย์หรืออาจโกรธคนรอบข้างที่ดูแลใกล้ชิด

==TIPS==
ครอบครัวจำเป็นต้องทำความเข้าใจที่จะทำงานด้านอารมณ์กับผู้ป่วย ไม่แสดงอาการโกรธตอบ ให้อภัยเห็นอกเห็นใจ พยายามแสดงความรักความห่วงใย หรือพยายามหาทางให้ผู้ป่วยได้ระบายออกผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ อาทิงานอดิเรกออกกำลังกายหรือศิลปะเพื่อคลายความขุ่นมัวหงุดหงิดนั้น

03 การต่อรอง (The stage of bargaining)

เมื่อไม่สามารถปฏิเสธความจริงต่อไปได้ ผู้ป่วยบางรายก็อาจจะต่อรองขอให้ได้มีชีวิตอยู่ต่อไปผ่านการบนบานศาลกล่าวทำบุญเข้าวัด ฯลฯ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะกลับไปสู่ระยะ ‘การปฏิเสธความจริงและการแยกตัว’ อีกครั้ง เช่นตระเวนตรวจโรคกับแพทย์หลายคนเพื่อให้ยืนยันว่าตนไม่ป่วย ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง หรือเพิ่มความหวังให้กับตัวเองยืดเวลาที่จะยอมรับความจริงออกไปอีกสักระยะ

==TIPS==
ผู้ป่วยจำเป็นต้องสลัดความคิดลบร้ายออกไปให้หมด พยายามดันตัวเองไปอยู่ในที่ที่แวดล้อมไปด้วยคนคิดบวก และหาเพื่อนคุยที่ช่วยยกระดับจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้

04 การยอมรับความจริง (The stage of acceptance) 

ระยะนี้ผู้ป่วยยอมรับความจริงที่ตนหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาการโกรธและโศกเศร้าเริ่มลดลง ผู้ป่วยเริ่มปรับตัวรับฟังคำแนะนำของแพทย์และให้ความร่วมมือในการรักษา รวมถึงพยายามหาแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป ขณะที่บางรายก็อาจเฉยๆ นิ่งเงียบและแสดงความไม่สนใจ ปล่อยให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของแพทย์และญาติในเรื่องการรักษา

==TIPS==
ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่คนเดียวคิดคนเดียว แต่ควรมองหาสังคมใหม่ๆ สื่อสารกับคนใกล้ชิด หรือเลือกทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในระหว่างการรักษา

05 ภาวะซึมเศร้าหมดหวัง (The stage of depress)

หลังจากที่การปฏิเสธและการต่อรองไม่เป็นผลสำเร็จ ผู้ป่วยจะยอมรับความจริงของการเป็นโรคร้ายซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกหมดหวังและเศร้าโศกเสียใจเพราะยังไม่สามารถยอมรับได้ มีอารมณ์ซึมเศร้าต่อการสูญเสียมีความรู้สึกผิดรู้สึกอ้างว้างพูดและทำสิ่งต่างๆ น้อยลง แยกตัวชอบอยู่คนเดียวเหม่อลอยกินไม่ได้นอนไม่หลับ อาจมีความรู้สึกอยากตายหรือถ้าอาการรุนแรงอาจมีประสาทหลอนหูแว่วระแวงได้

==TIPS==
ระยะนี้หากรุนแรงจนถึงขั้นจัดการตัวเองไม่ได้ แนะนำให้พบแพทย์หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางออกต่อภาวะซึมเศร้าอย่างเร่งด่วน

พฤติกรรมข้างต้นไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ เช่นผู้ป่วยอาจมีภาวะซึมเศร้าก่อนหรือหลังภาวะการยอมรับก็ได้ เป็นต้น #ข้อควรระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์ อาจจะมีอัตราเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและมีโอกาสจะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป จึงต้องเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด

ระยะที่ 2: ระยะการรักษา

เพราะการรักษาโรคมะเร็งนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจยาก ทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสนกังวลกระทั่งกลัวไปต่างๆ นานา ทั้งกลัวการรักษา กลัวผลข้างเคียงจากการรักษา กลัวภาวะแทรกซ้อน กระทั่งกลัวเสียชีวิต ฯลฯ แต่ความกลัวเหล่านี้สามารถบรรเทาเบาบางลงได้ด้วยการขอข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นแผนการรักษาวิธีการรักษาและภาวะแทรกซ้อน รวมถึงวิธีการดูแลตัวเองระหว่างการรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจมากขึ้น

ระยะที่ 3: ติดตามการรักษา

หลังการรักษาผ่านไปด้วยดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีความมั่นใจและสบายใจมากขึ้น แต่ก็มีบ้างที่ยังกังวลใจกับ ‘การกลับมาเป็นซ้ำ’ ของโรคมะเร็ง จึงมักจะแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อมาเสริมสร้างกำลังใจให้ตัวเองด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป เช่น บางรายอาจจะเข้าวัด ทำบุญ ฟังธรรม หรือบางรายก็อาจจะหันไปพึ่งยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาผีบอกที่คนรอบข้างแนะนำมาว่า กินแล้วจะหายขาด ไม่กลับมาเป็นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระวังเป็นอย่างมาก เพราะหากเป็นสมุนไพรที่เป็นอันตรายต่อร่างกายก็จะยิ่งทำให้เกิดผลเสียมากกว่าจะช่วยเยียวยาหรือรักษา จะเห็นได้ว่า แม้จะหายจากโรคมะเร็งแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังต้องการกำลังใจ และการประคับประคองความรู้สึก คนรอบข้างจึงควรเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินบางการกระทำที่อาจจะไม่เห็นด้วย และอาจจะใช้วิธีชวนไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ หาวิธีเยียวยาจิตใจให้ผู้ป่วยผ่านงานอดิเรกที่เขาชอบ เป็นต้น เพื่อดึงผู้ป่วยออกจากการหมกมุ่นอยู่กับตัวโรค หรือร่างกายที่อาจจะไม่เหมือนเดิมจากการรักษานั่นเอง

ระยะที่ 4: ระยะโรคลุกลาม

นับเป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการท้อแท้หมดหวังมากที่สุด มีความรู้สึกอยากตายสลับกับความรู้สึกไม่อยากตายเพราะยังห่วงบางสิ่ง หรือคนรอบข้าง จึงจำเป็นต้องทำทุกอย่างให้ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจที่สุด เพื่อปรับตัวและจิตใจให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการค้นหาความหมายของชีวิต

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าไม่ว่าผู้ป่วยจะตกอยู่ในภาวะไหนหรืออยู่ในการรักษาระยะใดก็ตาม การดูแลใจผู้ป่วยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากคนใกล้ชิดและบุคลากรทางการแพทย์ที่จะช่วยผู้ป่วยได้แล้ว ปัจจุบันยังมีกิจกรรม กระทั่งเครื่องมือต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘ชุดศิลปะดูแลใจ’ ตัวช่วยในการสำรวจโอบอุ้มหัวใจให้ผู้ป่วยสามารถสะท้อนอารมณ์ เข้าใจจิตใจ รวมถึงค้นพบความหมายของชีวิต และสามารถก้าวต่อไปได้ด้วยตัวเอง ใช้ควบคู่ไปกับการรักษากายได้เป็นอย่างดี

❤️ มาฟื้นฟูคุณค่าภายในและเสริมสร้างพลังใจให้กับตัวเอง ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะกับตน หรือง่ายกว่านั้น แค่ปล่อยใจเข้าสู่โลกของศิลปะ ผ่าน ‘ชุดศิลปะดูแลใจ’ 🤍🎨 ที่ถูกออกแบบโดยนักศิลปะบำบัดวิชาชีพ เพื่อโอบอุ้ม ดูแล และเยียวยาความอ่อนล้าของหัวใจด้วยตัวเอง…เพียงแค่ ‘เล่น’ ด้วยใจที่เป็นอิสระ

🛒 สั่งซื้อได้แล้วที่ >> bit.ly/preorderartkit

👉🏼 คลิกดู VDO ตัวเต็มเกี่ยวกับชุดศิลปะและเสียงจากผู้ใช้งานได้ที่ >> bit.ly/afcartkitfull

ขอบคุณข้อมูลจาก :

– สำนักส่งเสริมสุขภาพกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

-ศูนย์องค์รวมเพื่อการศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งคณะแพทยศาสตร์

-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน่วยสารสนเทศมะเร็งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

-The Renal Support Network (www.rsnhope.org)

Share To Social Media