“เราไม่ได้เป็นคนป่วย เราแค่เป็นมะเร็ง” อัญชลี จตุรานน ผู้มุ่งมั่นรักษามะเร็งเพื่อจะได้วิ่งกับพี่ตูน

พี่ตูนผู้ทำให้เธออยากวิ่ง แต่ไม่ได้วิ่ง

อัญชลี จตุรานน (อัน) เรียนจบคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดที่เยอรมนี เติบโต เล่าเรียน และใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ หลังจากผ่านงานมาหลายอาชีพ เธอก็พบงานที่ใช่จากการเป็นนักออกแบบข้อมูลให้บริษัทในสหรัฐอเมริกา แปลงข้อมูลที่ลูกค้าให้มาเป็นพรีเซนเทชั่นที่สวยสะดุดตาและเข้าใจง่าย เธอบอกว่าเป็นงานที่ชอบ แต่ก็ไม่ใช่งานที่ง่าย เพราะก่อนหน้าที่เธอจะได้สัมปทานกับบริษัทประจำอย่างทุกวันนี้ ฟรีแลนซ์อย่างเธอจำต้องหามรุ่งหามค่ำเพื่อประมูลงานแข่งกับนักออกแบบรายอื่นๆ อยู่เสมอ ขณะเดียวกันอาจเพราะเป็นงานที่ทำได้จากที่บ้าน เส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนจึงพร่าเลือน เธอบอกในบางวันเธอเผลอรวดทำงาน 14 ชั่วโมงต่อวัน หรือในบางสัปดาห์ เธอทำงานติดกันทั้ง 7 วันเลยก็มี

อัญชลีไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว แต่เธอก็รู้ตัวดีว่าเพราะเอาแต่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ และไม่เคยออกกำลังกาย จึงไม่ใช่คนแข็งแรงนัก กระทั่งเมื่อสองปีที่แล้ว โครงการก้าวคนละก้าวของพี่ตูน-บอดี้สแลม (อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำวงบอดี้สแลม) จุดประกายให้เธออยากเข้าร่วมโครงการ เธอซื้อรองเท้าวิ่ง และเริ่มฝึกซ้อมเพื่อจะได้ออกวิ่งพร้อมกับพี่ตูน กระนั้นทันทีที่เริ่มซ้อมวิ่ง ก็พบว่าร่างกายกลับเหนื่อยล้ากว่าปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และนั่นทำให้ผู้หญิงที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องสุขภาพตัดสินใจไปตรวจสุขภาพอย่างจริงจัง

และนั่นทำให้เธอพบกับเนื้อร้ายในทรวงอกขึ้นมาจริงจริง

การวิ่งอย่างเด็ดเดี่ยว

เวลานั้นคือเดือนพฤศจิกายน 2560 อัญชลีอายุ 37 ปี แตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ที่เมื่อพบมะเร็งในวัยที่ไม่ควรจะพบ แทนที่ความรู้สึกหดหู่หรือตีโพยตีพายต่อโชคชะตา อัญชลีกลับยอมรับอย่างเรียบง่าย พร้อมเตรียมกายและใจเพื่อจะที่ฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต

“จำได้ดีว่าวันนั้นคือวันที่ 10 พฤศจิกายน หลังจากอัลตราซาวด์แล้วพบก้อนเนื้อขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ปกติการจะยืนยันว่าเป็นมะเร็งเนี่ยจะต้องผ่าเพื่อเอามาวินิจฉัยก่อน แต่เราเห็นสีหน้าคุณหมอ ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเราเป็นมะเร็ง เรานัดผ่าตัดเดือนธันวาคม ก็พบว่าเป็นมะเร็งขั้นที่ 1 ซึ่งโชคดีที่ยังไม่ลามไปยังต่อมน้ำเหลือง จากนั้นคุณหมอก็วางแผนรักษา ด้วยการให้ยาคีโม 4 เข็มและฉายแสงอีก 31 ครั้ง สรุปว่าปลายปีนั้น เราซื้อรองเท้าวิ่งมาไม่ได้วิ่งเลย ใส่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแทน”

อัญชลีเล่าเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อนให้ฟังด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม ซึ่งหากพิจารณากันตอนนี้ เราจะเห็นหญิงสาวร่างสูงโปร่ง ท่าทีกระฉับกระเฉง แข็งแรง และอารมณ์ดีอยู่เสมอ ใครจะเชื่อว่าปีที่แล้วตลอดทั้งปี เธอทุ่มร่างกายทั้งหมดต่อสู่กับมะเร็ง แถมสู้กับมันเพียงลำพังเสียด้วย… อ่านไม่ผิดหรอก ตลอดเวลาการรักษา เธอไม่บอกคนรอบข้างเลยว่าเป็นมะเร็ง

“พ่อแม่เสียตั้งแต่เราเป็นเด็ก เราโตมากับครอบครัวพ่อ มีคุณอาเลี้ยงเรามา ที่ตัดสินใจไม่บอกใครเพราะเราคิดว่าจะสู้เองคนเดียวดีกว่า ไม่บอกทั้งอาและเพื่อนสนิท ไม่อยากให้ใครเป็นห่วง กลัวเขาจะจิตตก ซึ่งถ้าเขาจิตตก ก็อาจทำให้เราจิตตก หรือเราต้องไปปลอบเขา เราก็จะเหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็น

มีบอกอยู่รายเดียวคือบริษัทที่เราทำงานด้วยที่อเมริกา เพราะเราจะต้องจัดตารางการทำงานใหม่เพื่อเอาเวลาไปรักษาตัว ทางนั้นเขาก็กังวลใจ แต่เราก็ยืนยันว่าฉันทำงานต่อได้ ไม่ต้องห่วง แล้วก็ไปบอกคุณหมอว่าให้บอกขั้นตอนการรักษาและอาการที่เราต้องประสบมาให้หมดทีเดียว ไม่ต้องทยอยบอกเป็นขั้นตอน เพราะเราจะออกแบบการใช้ชีวิตของเราหลังจากนี้”

ตั้งสติก่อนสตาร์ท

ฟังดูเหมือนง่าย กระนั้นอัญชลีก็ยืนยันว่าตลอดหนึ่งปีของการรักษานั้นแสนยากเย็น เธอทรมานกับผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ต่างจากคนอื่น และมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำ หากเธอก็ยืนยันว่าในห้วงเวลาที่ผ่าน เธอไม่เคยร้องไห้ หรือนึกท้อต่อการมีชีวิต อัญชลีมองว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้เธอผ่านความเจ็บปวดมาได้คือการตั้งสติ

“ถามว่าตกใจไหมตอนทราบผลก็ตกใจ และเสียใจแหละ แต่จะทำไงได้ มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ก็ยอมรับสิ่งที่เกิด และวางแผนรักษาตัวให้ดีที่สุด”เธอกล่าว

อัญชลีมองว่าอาจเพราะก่อนหน้านี้เธอฝึกปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ เลยตระหนักในความสำคัญของการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์และพยายามปรับใช้ในชีวิตประจำวันเสมอ เธอว่าหากใครสักคนยอมรับความจริงได้ แม้ความจริงจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ใครคนนั้นจะไม่เหนื่อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น…

เธอยังเล่าติดตลกอีกว่า ระหว่างที่ป่วยและต้องทำงานไปด้วย กลับเป็นช่วงที่ผลงานออกมาดีเป็นพิเศษ

“เรารู้ทันร่างกายด้วยน่ะ อย่างวันนี้หัวตื้อมาก ทำงานไม่ได้ งั้นพักก่อน แล้วตื่นมาเช็คงาน หรือดีไซน์ซ้ำอีกรอบ เรารู้ตัวว่าเราอ่อนแอ ซึ่งมันส่งผลต่อคุณภาพงาน เราก็เลยไม่ปล่อยผ่านง่ายๆ กลายเป็นว่าลูกค้าที่เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเราเป็นมะเร็ง ก็ชื่นชมผลงานผ่านบริษัทที่เราทำงานให้มา แต่ช่วงที่ร่างกายเราอ่อนล้าหนักๆ แค่ยกแขนยังทำไม่ได้ หรือตาแสบจนแทบลืมไม่ได้นี่ เราก็แจ้งเขาไปตรงๆ แล้วก็ขอลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างไปสองอาทิตย์เลยนะ ไม่ฝืน”

อัญชลีใช้เวลา 6 เดือนเต็มในการรักษาตัว และอีกราว 4 เดือนกับการพักฟื้นร่างกาย เธอจำได้ดีว่าวันที่ร่างกายเธอกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งคือวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ครบรอบหนึ่งปีพอดีนับจากวันที่เธอค้นพบก้อนเนื้อในทรวงอก เธอฉลองช่วงเวลาดังกล่าวด้วยการเดินทางไปจังหวัดนครปฐม และร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนการกุศลเพื่อนำเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลศิริราช ร่วมรายการเดียวกับพี่ตูน-บอดี้สแลม และนั่นเป็นการออกวิ่งครบ 10 กิโลเมตรครั้งแรกในชีวิต

หากมีห้วงเวลาไหนที่คนหนึ่งคนตราตรึงและจะจดจำมันไปตลอดชีวิต อัญชลีบอกว่าการวิ่งครั้งนี้ของเธอคือหนึ่งในนั้น 

กลับมาวิ่งเพราะพี่ตูน

            ในขณะที่ความปรารถนาจะร่วมวิ่งเพื่อระดมทุนให้โรงพยาบาลในโครงการก้าวคนละก้าว ทำให้เธอค้นพบเนื้อร้ายในร่างกาย ความปรารถนาจะได้กลับมาวิ่งอีกครั้ง ก็เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เธอเอาชนะโรคร้าย

            เช่นเดียวกับความศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล อัญชลีมองว่าความมุ่งมั่นในการออกวิ่งทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือคนอื่นของพี่ตูน ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่เธอใช้ยึดเหนี่ยวให้ผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายมาได้

            “หมอเมย์ (พญ.สมิตตา สังขะโพธิ์ – คุณหมอที่ออกวิ่งพร้อมกับพี่ตูนในโครงการก้าวคนละก้าว) คือคนแรกที่เราบอกเขาไปว่าเราเป็นมะเร็ง บอกแบบไม่ได้ตั้งใจหรอก บังเอิญเจอเขาที่สนามบิน แล้วเราก็บอกเขาว่าเรามีแรงบันดาลใจในการวิ่งมาจากพี่ตูน แต่เจอมะเร็งเสียก่อน คือเล่าแบบธรรมดามาก เพราะตอนนั้นเราหายแล้ว และพอมาย้อนคิดอีกที ก็นึกขึ้นได้ว่าเราไม่เคยบอกใครเรื่องเราเป็นมะเร็งมาก่อนเลยนี่” อัญชลีกล่าว

            หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่อัญชลีได้คุยกับหมอเมย์ หมอเมย์และคุณป๊อก (อิทธิพล สมุทรทอง นักวิ่งผู้วิ่งเคียงข้างพี่ตูนตลอด 2,215 กิโลเมตรจากเบตง-แม่สาย) ได้ช่วยประสานทำให้เธอก็ได้พบกับพี่ตูนตัวจริงที่เชียงใหม่ นั่นเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน 2561 การพบกับไอดอลครั้งนั้น จุดประกายให้อัญชลีเริ่มวิ่งอย่างจริงจัง และแม้เธอไม่ทันได้วิ่งในโครงการก้าวคนละก้าวพร้อมกับพี่ตูน แต่ดังที่กล่าว การวิ่งครบ 10 กิโลเมตรในวันครบรอบขวบปีของการค้นพบมะเร็งในวันที่ 10 พฤศจิกายน หาใช่เพียงการวิ่งระยะไกลสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ยังเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองครั้งแรกในชีวิต

            “ตอนหายจากมะเร็งก็ดีใจ แต่เราพบว่าเราดีใจมากกว่าตอนสามารถวิ่งได้ครบ 10 กิโลเมตรนี่แหละ จากคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย ถือว่ามาไกลมากเลยนะ” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิ

            ปัจจุบันอัญชลียังคงทำงานออกแบบพรีเซนเทชั่นให้บริษัทที่อเมริกาเช่นเดิม แตกต่างก็ตรงเธอเป็นคนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนในบางวาระ (เธอวางแผนจะเข้าร่วมวิ่งมาราธอนในเร็ววันนี้) เล่นโยคะ สลับกับการเข้าฟิตเนส เลือกสรรในอาหารการกินมากขึ้น และเผื่อเวลามาเขียนเพจเฟซบุ๊ค ‘อันเล่าเรื่อง’ เล่าประสบการณ์การรับมือกับมะเร็งที่ผ่านมา เขียนบทความให้กำลังใจผู้ที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเธอ รวมถึงบทความสร้างแรงบันดาลใจผ่านการวิ่ง      

“อาจเป็นเพราะเรามุ่งมั่นจะกลับมาเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมให้ได้ ทุกอย่างมันเลยผ่านมาอย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่ เราไม่เคยท้อแท้ ไม่คิดด้วยว่าเราเป็นคนป่วย เราแค่เป็นมะเร็ง (ยิ้ม)

 ซึ่งถ้ามองย้อนกลับมา ข้อดีของมันก็ยังมีอยู่บ้างนะ คือมันทำให้เรากลับมารักตัวเองอย่างถูกทาง ทำให้เราอยากเป็นคนแข็งแรง แล้วก็พบว่าชีวิตที่มีสุขภาพดี หรือการได้ออกวิ่งเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ช่างเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขจริงๆ” อัญชลีทิ้งท้าย 

เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: กรินทร์ มงคงพันธ์
ภาพบางส่วน: อัญชลี จตุรานน

Share To Social Media