ก่อนที่บทความนี้จะพาไปรู้จักชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ขอแนะนำให้รู้จักประธานและผู้ก่อตั้ง อรวรรณ โอวรารินท์ อดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจ การประปานครหลวง ผู้พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมในวัยที่กำลังจะเกษียณ เธอทำใจไม่ได้ที่ต้องผ่าตัดเอาเต้านมออก แต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับ เข้ารับการรักษา ก่อนจะหายขาด
สิ่งหนึ่งที่เธอค้นพบระหว่างการรักษาตัวและพักฟื้น คือกำลังใจและการให้คำปรึกษาของผู้ป่วยด้วยกัน และนั่นบันดาลใจให้เธอก่อตั้งชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย การให้คำปรึกษาและกำลังใจเป็นยารักษามะเร็งอย่างไร ไปฟังจากปากของหญิงแกร่งในวัย 76 ที่ยังคงกระฉับกระเฉงและเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาผู้นี้กัน
พบเจอมะเร็งในร่างกายได้อย่างไร
ตอนนั้นปี 2545 เรานอนดูโทรทัศน์อยู่ จำได้ว่าในโทรทัศน์กำลังนำเสนอข่าวว่าหมอพรทิพย์ (แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์) เป็นมะเร็ง เราก็คิดในใจว่าคุณหมอพรทิพย์เป็นมะเร็งด้วยหรือนี่ และเราก็เอามือไปป่ายที่หน้าอกของตัวเอง และพบก้อนแข็งๆ ทีนี้นอนไม่หลับเลย วันรุ่งขึ้นไปให้หมอตรวจ ก็พบว่าเป็นมะเร็งจริงๆ หมอบอกว่าเป็นมะเร็งระยะสอง มีก้อนเนื้อขนาดสองเซนติเมตรครึ่ง
มีเค้าลางมาก่อนไหมว่าจะเป็นมะเร็ง
ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นมาก่อนเลย เพราะเป็นคนแข็งแรง เป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็ก และเราก็อารมณ์ดี เป็นคนสนุกๆ ลุยๆ เลยไม่คิดว่าชีวิตจะป่วยด้วยโรคนี้ แต่เค้าลางจริงๆ ก็มีนะ เพราะก่อนหน้านี้ แม่สามีเพิ่งเสียชีวิตจากมะเร็งเหมือนกัน ทราบข่าวเราก็เป็นลม จึงไปหาหมอ ตอนแรกเข้าใจว่าพักผ่อนน้อย จนคลำมาเจอก้อนเนื้อนี่แหละ
เราเล่นบาสเกตบอลตั้งแต่สมัยเรียนสตรีวิทยา พอเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังเล่นอยู่ เราเป็นคนบู๊ๆ ชอบทำกิจกรรม แล้วก็ค่อนข้างไม่ยอมคน คิดว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก แต่ขณะเดียวกันความที่เราไม่ยอมใคร จบมาก็ทำงานที่การประปานครหลวงซึ่งยุคแรกๆ เป็นหน่วยงานที่มีแต่ผู้ชายด้วย จึงสะสมความเครียดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งคิดว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเป็นมะเร็ง
เครียดอย่างไร
ย้อนกลับไปสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เราเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำงานการประปานครหลวง ก็จะมีทัศนคติแบบผู้ชายสมัยก่อนอยู่ ขณะเดียวกัน เราทำหน้าที่เก็บเงินขององค์กรด้วย ตอนนั้นไม่มีธนาคารไหนเปิดวันเสาร์-อาทิตย์ พอวันศุกร์เราก็ต้องเก็บเงินที่ประชาชนเอามาจ่ายไว้ที่เราเองเพื่อรอเอาเข้าธนาคารวันจันทร์ ถึงกับซื้อปืนพกไว้ที่ตัวเลยเพราะมันมีการจี้ปล้นกัน และเขาเห็นเราเป็นผู้หญิงด้วย ไหนจะต้องมาเครียดกับข้าราชการที่มีเส้นมีสายอีก เราเป็นคนตรงและรับไม่ได้กับพวกที่ก้าวหน้าทางลัดซึ่งมันมีอยู่แล้วทุกองค์กร เราก็ยอมไม่ได้ เรายึดมั่นมาตลอดว่าเราเป็นข้าราชการ เราทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่พวกพ้อง ก็สู้มาตั้งแต่ตำแหน่งเล็กๆ จนเราขึ้นเป็นผู้ตรวจการ เราพบว่าตลอดชีวิตการทำงาน ถึงจะสนุกกับงานแต่ก็ประสบกับความเครียดสะสมอย่างไม่รู้ตัวมาโดยตลอด
พบว่าเป็นมะเร็งยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม
เครียดหนักที่สุดคือคุณหมอบอกให้ตัดเต้านมออกนี่แหละ แต่ไหนแต่ไรเราภูมิใจกับหน้าอกของเรามาก เราเป็นคนรักสวยรักงาม หมอบอกว่าถ้าไม่เอาออกก็ไม่หาย ทำใจอยู่นานมาก ขอเวลาหมอไปปฏิบัติธรรมจนสุดท้ายก็ผ่าออก ดีอยู่หน่อยก็ตรงที่เราพบว่าเป็นมะเร็งตอนย่าง 60 ซึ่งเรากำลังจะเกษียณแล้วจึงไม่ค่อยออกงานสังคมมาก แต่ไปๆ มาๆ ก็ยังต้องออกอยู่ดี (หัวเราะ)
มะเร็งเต้านมชนิด Her2 Positive
หมอบอกว่ามะเร็งชนิดนี้จะลุกลามเร็วมากและจำเป็นต้องตัดเต้านมออก เราเป็นข้าราชการก็เบิกงบรักษาแพงอยู่เพราะยาที่ฉีดแต่ละเข็มแพงมาก จำได้ว่าเบิกไปเป็นล้านจนเจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเบิกเขาบอกกับเราว่า…พี่เบิกมากไป ปีหน้าจะไม่ให้เบิกแล้วนะ เราเลยบอกว่างั้นเธอเอาแบบนี้ไหม พี่จะยกโรคให้เธอเป็นแทน แล้วพี่จะไม่เบิกเงินสักบาทเลย (หัวเราะ) เจ้าหน้าที่เขาก็เงียบ ส่วนการรักษาก็ผ่าตัดเอาเต้านมออก ทำเคมีบำบัดอีก 6 ครั้ง แต่ไม่ฉายแสง โชคดีได้คุณหมออาคม เชียรศิลป์ ของโรงพยาบาลเปาโลดูแลไข้ให้ ซึ่งก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างช่วงนั้น
ได้เรียนรู้ฝึกจิต รู้จักมิตรภาพบำบัด
ตอนทำคีโมนี่ทรมานมากนะ (หัวเราะ) เปล่าหรอกไม่ใช่เรื่องนี้ แต่จำได้ว่าผลข้างเคียงมันทำให้ร่างกายเรารู้สึกเหมือนรับต่อไปไม่ไหวและเราไม่อยากมีชีวิตอยู่เลย เรารับมือกับเรื่องนี้ด้วยการฝึกจิต คือก่อนหน้าจะเป็นมะเร็ง เราก็หมั่นไปปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว พอรู้ว่าต้องผ่าตัดเอาเต้านมออกก็ขอเวลาหมอไปปฏิบัติธรรม ไปฝึกจิตก่อน ซึ่งก็ช่วยได้เยอะ แต่ความทรมานจากคีโมนี่หนักมาก เราว่าเรานิ่งแล้ว แต่บางครั้งก็ยังรับไม่ค่อยไหว อย่างไรก็ดี ก็แนะนำว่าการฝึกจิตให้สงบนี่แหละคือสิ่งสำคัญ
อีกเรื่องคือช่วงที่เราป่วย มันจะมีช่วงเวลาที่เราต้องไปนั่งรอพบหมอนานเป็นชั่วโมง ช่วงนี้ทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งที่มารอพบหมอด้วยกัน บางคนเพิ่งเป็นและบางคนกำลังจะหายขาด จึงกลายเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์กัน การได้สัมภาษณ์กันเองทำให้เราส่งมอบกำลังใจให้กันและกัน ตรงนี้ช่วยเรื่องพลังใจเราได้เยอะมาก หมอและพยาบาลช่วยเราในเรื่องยา แต่การรักษามะเร็งมันยังต้องอาศัยพลังใจ เราใช้เวลารักษาอยู่ 5 ปีกว่าจะหายขาด ก็เลยมาเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘มิตรภาพบำบัด’ ซึ่งช่วยได้มาก คำนี้เป็นของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คุณหมอท่านมีคุณูปการหลายอย่างให้ระบบสาธารณสุขบ้านเรา ท่านเป็นคนริเริ่มและผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งมิตรภาพบำบัดก็เป็นแนวคิดของท่าน คือการให้เพื่อนช่วยเพื่อนฝ่าฟันโรคร้ายไปด้วยกัน ท่านก่อตั้งชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน เราก็เอาแนวคิดของคุณหมอไปต่อยอดและคิดว่าน่าจะมีชมรมที่พูดถึงการรักษามะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ จึงตั้งชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทยขึ้นมา
ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย
หลักๆ คือเป็นกลุ่มของผู้ป่วย อดีตผู้ป่วย ญาติ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยค่ะ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและวิธีการรักษา อย่างที่บอก ตอนป่วย เราก็ประสบด้วยตัวเองว่าเรารู้สึกเคว้งนะ ไม่รู้จะเอายังไงต่อดี แต่พอมีชมรมก็ทำให้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล คำแนะนำ และทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเดียวดาย ชมรมเรามีการจัดอบรมตามสถาบันต่างๆ ทั้งบริษัทเอกชนและโรงพยาบาล อบรมตั้งแต่การทำเต้านมเทียมจากใยสังเคราะห์และลูกปัด การอบรมด้านบุคลิกของผู้ที่ผ่านการผ่าตัดเต้านม และที่สำคัญคือการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องผ่าเอาเต้านมออก เพราะนี่คือเรื่องหนักหนาสำหรับผู้หญิงที่เป็นเพศแม่มากๆ
ปลอบใจผู้ที่พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม
จริงๆ วิธีการพูดมันไม่มีหลักตายตัวนะคะ เพราะเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แต่ถ้าให้พูดโดยรวม ซึ่งก็มาจากมุมมองส่วนตัวของเราด้วยก็จะบอกว่า…เราเป็นมนุษย์ ยังไงเราก็หนีไม่พ้นความตาย แต่การเป็นมะเร็งดีกว่าโรคร้ายหรืออุบัติเหตุอย่างอื่น เพราะถ้าเราเป็นมะเร็ง เรามีโอกาสรักษา ยิ่งเจอเร็ว เราก็ยิ่งมีโอกาสรอด ถ้าคุณถูกรถชนตาย คุณก็อาจไม่ได้สั่งเสียกับใครเลย แต่มะเร็งยังให้โอกาสเรา ให้โอกาสได้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต หลังจากหายแล้ว ยังให้โอกาสเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการมอบกำลังใจให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ คุณค่าของชีวิตเกิดจากการแบ่งปันและมอบกำลังใจให้กันตรงนี้แหละ
ยาที่ดีที่สุดในการสู้กับมะเร็งคือ ‘จิตใจที่ไม่ยอมแพ้’
จิตใจจึงสำคัญ เราต้องสู้ก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมาช่วยเรา
เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: นวลตา วงศ์เจริญ
ภาพบางส่วน: อรวรรณ โอวรารินท์