ในชีวิตหนึ่งคนเราอาจต้องเจอกับวิกฤติปัญหาหนักที่ทำให้ท้อแท้สิ้นหวัง แต่หากเราจมอยู่กับความรู้สึกนั้นต่อไปก็จะไม่มีวันชนะอุปสรรคหรือประสบความสำเร็จได้เลย นี่คือเรื่องราวการต่อสู้กับมะเร็งของ เบลล์ – ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ และ คุณพ่อ -กนกพล ขัติยะกาญจน์ ซึ่งต่างก็ไม่ยอมท้อถอย ร่วมกันเอาชนะวิกฤติครั้งนี้มาได้อย่างเหลือเชื่อ ในขณะนั้น เบลล์ เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายลุกลามเข้าสู่หัวใจ ซึ่งโอกาสที่จะรอดแทบเป็นศูนย์ ทว่าเธอผ่านวิกฤตินั้นมาได้อย่างไร
โอกาสรอดเท่ากับศูนย์ อยู่รอดได้หนึ่งวันคือกำไร
เบลล์: “ตอนแรกก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นมะเร็งนะ ยังใช้ชีวิตลั้ลลาเรียน ป.โท อยู่เมืองนอก ตอนนั้นก็ยังเด็กเนอะ อายุแค่ 26 ไฟแรง เต็มที่กับทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องงาน, เรื่องเที่ยว, ยกเว้นเรื่องดูแลตัวเอง นอนน้อย กินอะไรไม่ระวัง จนวันหนึ่งเกิดเป็นลม แล้วมาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 2 เริ่มจากพบชิ้นเนื้อที่ปอดขนาด 9-10 เซนติเมตร ตอนนั้นก็ยังคิดว่าไม่น่ามีปัญหา คุณหมอก็รักษาตามอาการซึ่งยังมีความหวังว่าจะหาย แต่พอลามเข้าไปอยู่ในหัวใจ ก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าจะเป็นยังไง”
คุณพ่อ: “ตอนนั้นหมอทุกที่ก็บอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะหาย คุณหมอบอกตลอดชีวิตเคยพบเพียงสองเคส รายแรกก็เสียชีวิตไปแล้ว เบลล์เป็นรายที่สอง แค่คิดว่าอยู่เกินวันหนึ่งก็กำไรไปวันแล้ว วารสารต่างประเทศก็ไม่มี (วารสารทางการแพทย์) หมอบอกไปดูได้เลย ไม่มีรายไหนรอด”
ในระหว่างการรักษา เบลล์ ต้องวิ่งเข้าออกโรงพยาบาลถึง 7 โรงพยาบาล ใช้เวลา 3 ปี รักษาด้วยเคมีบำบัดนับครั้งไม่ถ้วน ต้องฉายแสงอีกมากมายหลายครั้ง และดูเหมือนจะไร้ทางออก
เบลล์: “ในตอนนั้นเป็นเรื่องการทดลอง เนื่องจากการรักษาเป็นไปตามสถิติ แต่กรณีเบลล์ไม่มีสถิติให้เทียบ”
คุณพ่อ: “เราก็ต้องติดต่อไปต่างประเทศเพื่อขอความเห็นหลายที่ ทั้งจากสกอตแลนด์, เยอรมัน, อเมริกา พอได้ชื่อตัวยามาก็นำเอกสารมาให้คุณหมอดู ได้อะไรใหม่มาหาทางแปลเพื่อทำความเข้าใจ ตอนนั้นทำทุกอย่างแข่งกับเวลา เราต้องได้ยาก่อนที่อาการจะทรุด เพราะถ้าทรุดแล้วให้ยาก็ไม่ทัน”
เบลล์: “ยาที่ได้ต้องให้ถูกจังหวะ ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่ให้ยาแล้วจะใช้ได้ต้องเข้ากันได้กับร่างกายเรา เพราะฉะนั้น มันเป็นจังหวะมาก ๆ ซึ่งต้องวางแผนไว้อย่างพอดี หากเป็นช่วงที่ร่างกายไม่พร้อมโอกาสของเราก็หายไป เหมือนช่วงหนึ่งต้องการใช้เสต็มเซลของตัวเอง แต่บังเอิญติดเชื้อที่ลำไส้เสียก่อน โอกาสนั้นเลยหายไป”
คุณพ่อ: “ช่วงหนึ่งที่เบลล์เขารับยาจนร่างกายอ่อนแอ จนสภาพจะไม่ไหวแล้ว ยาที่ให้ก็ค่อนข้างแรง และโดนไปหลายรอบ เป็นคนอื่นโดนไปก็คงไม่รอดแล้ว ตอนนั้นคุยกับหมอ หมอดีใจว่าให้ยาแล้วรอดมาได้ ไม่ใช่หายนะ! แต่หมายถึงทนยาได้”
สั่งเสียพร้อมลาจาก แต่พ่อสั่งห้ามตายก่อน
ช่วงหนึ่งที่เบลล์ท้อสุด ๆ คิดว่าเธอเป็นภาระให้คนอื่นเดือดร้อนจนถึงขั้นสั่งเสียพร้อมจะลาจากโลก แต่ก็กลับลุกขึ้นมาสู้ได้อีกเพราะคำของพ่อที่ว่า “มึงห้ามตายก่อนกู!”
คุณพ่อ: “คนจีนเขาจะถือว่าผมขาวไปเผาผมดำเป็นเรื่องที่เศร้าที่สุด แล้วเราจำเป็นต้องดุ เพราะสภาพเขาตอนนั้นไม่ไหว ต้องเตือนสติ ดึงกลับมาให้อยู่”
เบลล์: “ใช่ ๆ เหมือนเป็นคำสั่ง โปรแกรมในจิตใต้สำนึก เราก็กลับไปนอนคิดว่าเราเห็นแก่ตัวที่ไม่ยอมสู้ เหมือนหลายครั้งที่ต้องผ่าตัดใหญ่ เบลล์ก็จะฝันว่ามีคนมาชวนไปเที่ยวไปเล่น แต่จะรู้ว่ายังไปไม่ได้ ต้องไปขออนุญาตป๊าก่อน เดี๋ยวป๊าด่า ตายไม่กลัวกลัวป๊าโกรธ ชีวิตเราเขาเป็นผู้ดูแล เป็นคนให้กำเนิด เราต้องอยู่เพื่อส่งป๊าก่อน”
คุณพ่อ:”ช่วงนั้นมันก้ำกึ่ง เหมือนอยู่บนเส้นด้ายบาง ๆ ต้องประคองไปให้ได้”
ผู้ป่วย ญาติ หมอ ทำงานกันเป็นทีม
นอกจากคำพูดของคุณพ่อจะเป็นการเตือนสติให้เบลล์กลับมามีกำลังใจแล้ว ระเบียบการจัดการปัญหาของครอบครัวก็สำคัญด้วย
คุณพ่อ: “คือมันอย่างนี้ พอตกเย็นนั่งกินข้าวร่วมกัน แต่ละคนเจอปัญหาอะไรก็จะพูด เราเจออะไรมาก็จะเล่าแนะนำให้รับรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา คือสมัยก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ เราก็จะฟังจากผู้ใหญ่ ทุกวันเขาก็จะมานั่งแล้วก็มาสอน ว่าเขาเจออะไรมาบ้าง เขาแก้ยังไงจบยังไง ไม่รู้บ้านอื่นเขาเป็นแบบนี้รึเปล่านะ อย่างกรณีของเบลล์นี่ก็ต้องช่วยกันทุกคน น้องชายไปบวชให้ น้องสาวไปติดต่อหมอ คุณแม่ทำกับข้าว ผลัดกันดูแล”
เบลล์: “ป๊าเหมือนเป็นเอ็มดีบริษัท เป็นคนวางแผนจัดการให้ ทุกคนเป็นเหมือนทีมงานที่ต้องแบ่งงานกันทำตามเป้าหมาย และต้องรับผิดชอบร่วมกัน”
คุณพ่อ: “ทุกส่วนต้องช่วยกัน เราต้องคุยกับหมอรู้เรื่อง คนที่บ้านก็ต้องช่วยกันดูแล จะมาเสียเวลาทะเลาะกันไม่ได้ สภาพแบบนั้นทุกคนเครียด เราก็เครียด หมอก็เครียด ต้องไปกันได้ทั้งหมด”
เบลล์: “ก็เปรียบเหมือนรถสามล้อที่มีผู้ป่วยเป็นล้อหน้า ญาติกับหมอเป็นอีกสองล้อหลังที่ต้องวางล้อให้ตรงเพื่อเคลื่อนไปให้ตรงเป้า ไม่งั้นผลการรักษาก็ไม่คืบหน้า”
คุณพ่อ: “คนไข้ส่วนใหญ่ไม่ยอมบอกความจริงกับหมอ กลัวหมอว่า เมื่อเราไว้ใจให้เขารักษาต้องบอกเขาให้หมด ว่าไปกินอะไรมา เช่นไปกินยาทางเลือกมาก็จะปิดบัง แล้วพอผลการรักษาเพี้ยนไปหมอก็หลงทาง ทุกคนแวดล้อมจะเสนอยามาช่วย ทุกอย่างดีหมด แต่ปัญหาของเราคือเราไม่มีเวลาจะไปทดลอง”
ในที่สุดด้วยประสบการณ์ของคุณหมอและการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ทั้งผู้ป่วย ญาติ และทีมหมอ จึงได้ยามุ่งเป้ามาช่วยกำจัดมะเร็งออกจากหัวใจเบลล์สำเร็จอย่างอัศจรรย์ สร้างความดีใจให้กับทุกฝ่าย แต่ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ด้วยความเป็นคนมีกำลังใจเข้มแข็ง อดทนสู้ มุมมองเชิงบวกของเบลล์เองที่มีส่วนสำคัญ และสำคัญไปมากกว่านั้นคือ พลังใจของคุณพ่อที่ถ่ายทอดมาให้เบลล์อย่างเต็มเปี่ยม
คุณพ่อ: “ครั้งแรกที่เจอหมอ หมอบอกว่าไม่รอด ผมบอกหมอเลยว่า หมอรักษาให้เต็มที่ ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่ากัน เขาอยู่ได้เกินวันหนึ่งถือเป็นกำไรของเขา ทั้งหมดคือตรรกะการคิดที่เราต้องชัดเจนและจะชนะหรือแพ้ไม่รู้ แต่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าวันต่อวันให้จบตามเป้าให้ได้”
นิยามใหม่ของชีวิต
เบลล์: “แรก ๆ ก็อยากประสบความสำเร็จ อยากมีเงินเดือนสักสามแสน มีบ้าน มีรถ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง นิยามความสำเร็จคือ มีเงิน มีงานที่ดี หน้ามีตาในสังคม จนกระทั่งมาพบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมด นิยามความสำเร็จคือชีวิตที่สมดุลในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัว สุขภาพ สิ่งที่เราให้คุณค่าไม่ใช่แค่เรื่องตัวงานและตัวเงิน แต่เป็นความสุขที่มอบคืนให้สังคมด้วย”
คุณพ่อ: “คือตอนแรกที่เจอมะเร็ง เราก็ไปไม่ถูกเพราะไม่มีความรู้ ถ้ามีคนให้ความรู้ก็จะเข้าใจว่าต้องสู้กันยังไง ก็จะไปได้ถูกทาง อย่างเบลล์เขาเขียนหนังสือนี่ก็ช่วยคนอื่นได้ ทำให้คนมีกำลังใจ คนที่กลัวการให้คีโมก็คลายกังวล พออ่านหนังสือเขาเสร็จก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่ได้ยินมา ซึ่งถ้าผิดทางก็จะเสียโอกาสการรักษา…ทุกคนที่เจอปัญหานี้ต้องอดทนแล้วพยายามผ่านไปให้ได้ ครอบครัวก็อย่าทะเลาะกัน อย่าโทษกันเอง เพราะคนป่วยมีเวลาเหลือสั้นลง เราควรจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขที่ดีต่อกันมากกว่า”
“ฉันหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต แม้ในยามที่ชีวิตของคุณสิ้นหวังที่สุด ยามที่คุณมองไม่เห็นทางออกของปัญหา หรือยามที่ไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเป็นไปได้…เหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นกับฉันมาแล้ว”
คือคำนำของหนังสือ I cancel my cancer ที่เบลล์เขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตเพื่อส่งกำลังใจไปให้คนอื่นในสังคม เธอยังมีเพจในเฟซบุ๊กชื่อ “เรื่องจริงกะเบลล์” เขียนเรื่องราวทั้งของตัวเองและส่งต่อเรื่องราวของผู้ป่วยมะเร็งคนอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งได้ร่วมทำ Art for Cancer ให้เป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดย ออย – ไอรีล ไตรสารศรี อีกด้วย
เรื่อง: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพ: วริษฐ์ สุมานันท์
ภาพบางส่วน: ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์