กอบัว – ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว มะเร็งทำให้รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร

ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว หรือ ‘กอบัว’ แอร์โฮสเตสสาว วัย 29 ปี ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ระยะที่ 3 หลังจากตรวจเจอเมื่อมกราคม 2562 ต้นปีที่ผ่านมา และกำลังทำการรักษา เธอไม่ได้หวาดกลัวหรือหวั่นวิตกกับโรคร้าย แต่กลับรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าและมีเป้าหมาย ถึงกับพูดว่า มะเร็งทำให้รู้ว่าความสุขในชีวิตคืออะไร

“ครั้งแรกมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน แต่เมื่อประจำเดือนหมด อาการปวดก็ยังมีอยู่ ก็คิดว่าไม่เป็นไรสักพักคงจะหาย แต่ยิ่งปล่อยนานก็ยิ่งมีอาการมากขึ้น อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ทานไม่ได้ อาเจียนตลอด จนหัวหน้างาน และเพื่อนที่ทำงานทักว่า ควรจะไปตรวจก็เลยไปตรวจดู แล้วก็พบค่าเลือด CEA สูงผิดปกติ เป็นพัน จนคุณหมอตกใจ” (หมายเหตุ: CEA หรือ Carcinoembryonic Antigen (คาร์ซิโนเอ็มบรายโยนิค แอนติเจน) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในร่างกายของคนเรา สามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด (ค่าปกติคือไม่เกิน 5.0 ng/mL)

“คำถามแรกที่ถามคุณหมอคือ คุณหมอคะ หนูยังจะสวยได้เหมือนเดิมใช่มั้ย ทำเอาเพื่อนที่ไปด้วยและคุณหมอพากันหัวเราะไปตามกัน ไม่ใช่ว่าไม่กังวลเรื่องโรคหรอกนะคะ แต่ก็ในเมื่อเป็นแน่ ๆ แล้วจะทำยังไงได้ นอกจากต้องรับความจริง วิกฤติชีวิตของคนเรายังไงก็หนีไม่พ้น เมื่อมาแล้วก็จะขอสู้ให้เต็มที่ค่ะ”

แน่นอนว่าในกระบวนการรักษาก็คงหนีไม่พ้นการให้คีโมและหลายคนก็ต่างกลัวความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายตัวเอง

“คุณหมอบอกว่าเป็นระยะที่สาม เพราะเชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วท้อง ที่จริงเชื้อตัวนี้มักเกิดกับคนสูงอายุ แต่ กอบัวอาจจะโชคร้ายหน่อยมาเป็นตอนนี้ ก็ผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกค่ะ เอาออกหมดทั้งรังไข่และมดลูก ที่จริงก็เสียใจนะคะ เพราะความฝันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เลยคืออยากมีลูก”

กอบัวอยู่กับคุณแม่เพียงสองคนตั้งแต่เด็ก ด้วยความใกล้ชิดผูกพันกับคุณแม่ เธอจึงไฝ่ฝันอยากจะเป็นแม่ที่ดีด้วยเช่นกัน เมื่อได้งานทำเธอต้องมาอยู่กรุงเทพฯ โดยลำพัง ส่วนคุณแม่ยังอยู่ที่ต่างจังหวัด หลังจากทราบเรื่องคุณแม่ก็หมั่นแวะมาเยี่ยม และทุกครั้งที่มาเยี่ยม กอบัวก็มักจะสะเทือนใจที่เห็นคุณแม่ร้องไห้เพราะสงสารเธอ

“ต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือดค่ะ เพราะเวลาทำคีโมบางทีเลือดจะแข็งตัวตามจุดต่าง ๆ กอบัวฉีดเองค่ะ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนกลัวเข็ม แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้วค่ะ ก็ต้องพยายามลุกขึ้นสู้กับความกลัวคือไม่อยากให้แม่เสียใจ อยากให้ท่านสบายใจ นี่ไม่ใช่การสู้ของเราคนเดียวแต่ยังมีคนที่เรารักรอเราอยู่”

“กอบัวเคยคิดอยากจะเป็นนักเขียนค่ะ เขียนเรื่องรัก เขียนอะไรดี ๆ ให้คนอ่าน พอรู้ว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งก็เลยได้เขียนจริง ๆ บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทำงานเขียนสมใจ”

‘แน่นอน เราต้องมีความหวัง และยิ่งไปกว่าความหวัง เราต้องมีความเชื่อ เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในหมอ เชื่อว่าเราจะกลับมาหายดีในเร็ววัน เพราะทันทีที่เราไม่เชื่อ มันจะทำให้เราหมดหวัง และมันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ ท่องไว้ว่า เราต้องไม่แพ้!!’

นี่เป็นบางส่วนจากข้อเขียนในเฟสบุ๊คของกอบัว ความจริงมะเร็งมีส่วนช่วยให้เธอหายจากอาการซึมเศร้าด้วย

“ก่อนจะเป็นมะเร็งเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ แต่หลังจากเป็นมะเร็งแล้ว อาการซึมเศร้าก็หายไป เพราะเรารู้ว่าเราต้องทำอะไร และอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น ต้องตัดทิ้งไปจากสมอง ความหงุดหงิด ที่เคยมีทั้งกับตัวเองหรือแม้แต่กับลูกค้า หรือใคร ๆ ก็ตาม ไม่เอามาเก็บใส่ใจ ชีวิตมีแผนให้ทำเป็นสเต็ป และมีเป้าหมายว่าเราต้องเอาชนะมะเร็งให้ได้”

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด (คีโม)

“ก็จะมีอาการเพลีย มีท้อบ้างเพราะอยู่คนเดียว แล้วก็นึกว่าจะไม่ไหว แต่ที่จริงมันก็ไม่นานผ่านไปสักอาทิตย์หนึ่งก็จะฟื้นกลับมาได้ คือบอกตัวเองตลอดว่า คุณมะเร็งถ้าจะอยู่ด้วยกันก็ทำตัวดี ๆ อย่าดื้อ อย่าสร้างปัญหา คือเราไม่กลัวความตายหรอกนะคะ แต่กลัวทรมานมากกว่า ใคร ๆ ก็คงจะเป็นเหมือนกัน แต่ที่สำคัญต้องมองโลกแง่บวกเพื่อกำจัดความเครียด ตอนนี้กำลังทำการคีโมรอบสอง เพราะรอบแรกทำไปแล้วเชื้อดื้อยา ซึ่งคราวนี้ต้องใช้ยาแรงขึ้น รู้เลยว่าต้องหนักแน่ แต่ก็เชื่อว่าตัวเองจะผ่านไปได้ค่ะ”

สิ่งที่ค้นพบหลังจากเกิดเรื่องราวนี้กับตัวเอง

“ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยว แต่ที่จริงมีคนมากมายที่ห่วงใยเรา บางคนก็มาคุยหลังไมค์บอกขอบคุณเรา เพราะอ่านเรื่องของเราแล้วทำให้เขามีกำลังใจในชีวิต ตรงนั้นเรารู้สึกดีมีพลังบวกมาเติมใจให้เรา เรื่องของเรามีค่ากับทุกคน มะเร็งน่ะใคร ๆ ก็เป็นได้ เมื่อเป็นแล้วใครก็อยากหาย เราเลยไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพังแต่มีคนคอยเชียร์ให้เราชนะ ก็จะสู้เพื่อแม่และทุกคน มะเร็งสอนให้เรารักตัวเองพร้อมกับรักคนอื่น แล้วทำให้ชีวิตเรามีความสุข”      

เป็นเรื่องจริงที่ว่า คนเรามักมองไม่ออกว่าความสุขคืออะไร และปล่อยเวลาให้สูญเปล่า แต่สำหรับ ‘กอบัว’ เธอได้พบตัวตนที่เข้มแข็งท่ามกลางวิกฤตโรคร้ายซึ่งไม่ง่ายนักที่ใครจะทำได้

หมายเหตุ: กอบัวได้จากไปอย่างสงบในวันที่ 4 มกราคม 2563

เรื่อง&ภาพ: วรัญญู อุดมกาญจนานนท์
ภาพบางส่วน: ประภาวรรณ ครุฑแคล้ว

Share To Social Media