การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง Targeted Therapy

การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ยาหรือสารบางอย่างเพื่อไปยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยจะไปยับยั้งโมเลกุลสัญญาณ (Molecular Signaling) ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดนั้น ๆ ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตหรือตาย (Apoptosis) ไป ยาจะออกฤทธิ์โดยไปจับและยับยั้งการสร้างโมเลกุลสัญญาณของเซลล์มะเร็งเท่านั้น โดยไม่มีผลกับเซลล์ปกติของร่างกาย

ชนิดของมะเร็งที่สามารถรักษาด้วย Targeted Therapy

ปัจจุบัน targeted therapy สามารถใช้ในการรักษามะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งไต เป็นต้น แต่ทั้งนี้การใช้ Targeted Therapy ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด ต้องมีการตรวจหายืนที่ผิดปกติ ที่เป็นตัวสร้างโมเลกุลสัญญาณที่จำเพาะเจาะจงในผู้ป่วยแต่ละคน ว่ามีหรือไม่ และเป็นชนิดใด จึงจะสามารถพิจารณาเลือกใช้ยา Targeted Therapy ได้อย่างเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นการรักษาด้วย Targeted Therapy จึงเป็นการรักษาที่มีความจำเพาะเจาะจงสูง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

ประเภทของยาในกลุ่ม Targeted Therapy

ยาในกลุ่ม Targeted Therapy แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1. Monoclonal Antibodies ออกฤทธิ์โดยจับกับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์แล้วจึงทำลายเซลล์มะเร็ง หรือทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถเจริญเติบโตได้

2. Small Molecules เป็นยาที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก สามารถผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มเซลล์ จึงสามารถจับกับเป้าหมายทั้งที่อยู่ภายในเซลล์และบนผิวเซลล์ได้

เป้าหมายของการรักษาด้วย Targeted Therapy

เป้าหมายของการรักษามะเร็งด้วยวิธี targeted therapy นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งโดยหลัก ๆ แบ่งออกเป็น

– รักษาโรคมะเร็งให้หายขาด (Curative) ในมะเร็งระยะเริ่มต้น

– การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative) ในโรคมะเร็งระยะแพร่กระจาย

วิธีการรักษาด้วย Targeted Therapy ขึ้นกับชนิดของยา ซึ่งได้แก่

– ยาชนิดรับประทาน

– ยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

โดยอาจใช้ขา Targeted Therapy เป็นยาเดี่ยว ให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือร่วมกับการฉายแสงก็ได้ ตามที่แพทย์ผู้รักษาเห็นสมควร

การรักษาด้วย Targeted Therapy ต้องใช้เวลานานเท่าใด?

ระยะเวลาในการรักษาด้วย Targeted Therapy ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะเวลาของโรคมะเร็งนั้น ๆ เช่น ในโรคมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทูเป็นบวกระยะเริ่มต้น อาจพิจารณาให้ยา Targeted Therapy นาน 6 – 12 เดือนหลังผ่าตัด แต่ถ้าเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย มักพิจารณาให้ยา Targeted Therapy ไปจนกว่าจะเกิดภาวะดื้อยา หรือผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาได้

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

แม้ว่าการรักษามะเร็งแบบ Targeted Therapy โดยทั่วไปจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้ เคมีบำบัด แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิดและขนาดของ Targeted Therapy ที่ได้รับ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น อาการทางผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ มีผื่นขึ้นคล้ายสิว ท้องเสีย หัวใจบีบตัวผิดปกติ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

การติดตามผล

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามผลการรักษา ทั้งการตอบสนองต่อยาและความปลอดภัยของการใช้ยา