การรักษาด้วยการฉายรังสีในผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งประกอบด้วยวิธีการรักษาหลายวิธี เช่น การฉายรังสี การผ่าตัด ยาเคมีบำบัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งอาจจะให้การรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการรักษาด้วยการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลโดยแพทย์รังสีรักษา แพทย์จะอธิบายถึงบทบาทของรังสีรักษา ข้อดี-ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษา และภายหลังจากเสร็จสิ้นการรักษา

วิธีการของการรักษาด้วยรังสีเป็นอย่างไร 

รังสีรักษาจะทำลายสารพันธุกรรมภายในเซลล์มะเร็งและทำให้เซลล์มะเร็งได้รับความเสียหายหรือตายไป ร่างกายจะกำจัดเซลล์เหล่านี้ออกจากร่างกาย ในขณะเดียวกันเซลล์ปกติก็ได้รับผลกระทบจากรังสีด้วย แต่เซลล์ปกติเหล่านี้มีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้ดีกว่าเซลล์มะเร็ง ปัจจุบันเทคนิคการฉายรังสีพัฒนาไปมาก แพทย์รังสีรักษาสามารถกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสีไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ โดยเนื้อเยื่อปกติโดยรอบได้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเดิม

วัตถุประสงค์ของการรักษาด้วยรังสีในโรคมะเร็งและเนื้องอกต่างๆ ได้แก่

  • เพื่อกำจัดมะเร็งหรือเนื้องอกที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • เพื่อลดความเสี่ยงของการกำเริบหลังการผ่าตัด หรือให้ยาเคมีบำบัด โดยสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่แต่มองไม่เห็นได้
  • เพื่อลดขนาดของเนื้องอกก่อนการผ่าตัด
  • ลดอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากก้อนเนื้องอก และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งการรักษาแบบนี้จะเรียกว่า การรักษาแบบประคับประคอง หรือการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การฉายรังสีเพื่อลดอาการปวดจากก้อนมะเร็งหรือเนื้องอกไปกดหรือการฉายรังสีเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งที่กดเส้นเลือดในช่องอกที่ทำให้หอบเหนื่อย

ผู้ป่วยบางรายอาจกลัวว่าการฉายรังสีจะทำให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นตามมาหลังการรักษา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตามหลังการรักษาด้วยรังสีนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ของการรักษาเพื่อให้หายขาดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีประโยชน์และสำคัญมากกว่า

เทคนิคการฉายรังสีมีกี่ชนิด 

จุดประสงค์หลักของการฉายรังสีคือ เพื่อกำจัดและฆ่าเซลล์มะเร็ง และโดยที่เนื้อเยื่อปกติโดยรอบได้รับรังสีในปริมาณน้อยที่สุด

การรักษาด้วยการฉายรังสีมี 2 แบบ คือ

  • รังสีรักษาระยะไกล (External beam radiation therapy) คือการรักษาด้วยรังสีที่มีแหล่งกำเนิดรังสีอยู่ห่างจากตัวผู้ป่วยและใช้เอกซเรย์พลังงานสูง (photon)
  • รังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy)หรือการฝังแร่หรือใส่แร่ คือการใช้สารกัมมันตรังสีใส่เข้าไปภายในตัวผู้ป่วย

 รังสีรักษาระยะไกล (External beam radiation therapy) 

ในการรักษาด้วยรังสีรักษาระยะไกล ลำแสงจากภายนอกจะทะลุผ่านผิวหนังไปยังก้อนมะเร็งและพื้นที่รอบ ๆ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปจะฉายรังสีห้าวันต่อสัปดาห์ เพื่อให้รังสีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างสม่ำเสมอ และเว้นระยะเวลาให้เซลล์เนื้อเยื่อปกติได้มีเวลาซ่อมแซมตัวเอง เพื่อลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสี

รังสีรักษาระยะไกลมีหลายชนิดและมีการพัฒนาเพื่อจำกัดขอบเขตของการฉายรังสีให้ครอบคลุมก้อนให้มากขึ้นโดยส่งผลต่ออวัยวะข้างเคียงให้น้อยที่สุด รังสีรักษาระยะไกลมีหลายเทคนิค ได้แก่

  • การฉายรังสีแบบ 3 มิติ (3D conformal radiotherapy, 3D-CRT)เป็นการนำภาพเอกซเรย์ CT, MRI, PET มาช่วยในการกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสี โดยใช้คอมพิวเตอร์ในการวางแผน มีการกำหนดทิศทางของลำรังสี แล้วปรับรูปทรงและขนาดของลำรังสี โดยใช้ Multileat collimator (MLC) หรือซี่ตะกั่ว เพื่อกำหนดรูปร่างของรังสีให้ครอบคลุมก้อนและหลีกเลี่ยงอวัยวะข้างเคียงให้มากที่สุด
  • การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity modulated radiation therapy, IMRT)เป็นเทคนิคที่พัฒนาต่อมาจากการฉายรังสี 3D-CRT สามารถให้ความละเอียดแม่นยำได้มากขึ้น เพราะใช้ลำรังสีขนาดเล็ก ๆ ฉายจากหลายทิศทางไปยังเป้าหมายโดยใช้อุปกรณ์ปรับลำแสง (MLC) ในการปรับความเข้มของรังสีในบริเวณต่าง ๆ ลำรังสีจะตรงไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่หลบหลีกอวัยวะข้างเคียงรอบ ๆ ไปด้วย ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณรังสีไปยังก้อนมะเร็งเพื่อเพิ่มโอกาสการหายจากโรคได้อย่างปลอดภัย
  • การฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัวผู้ป่วย (Volumetric Modulated Radiation Therapy, VMAT)เป็นเทคนิคที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคนิค IMRT เนื่องจากเทคนิค IMRT มีข้อจำกัดเรื่องของระยะเวลาในการฉายรังสีค่อนข้างนาน คือประมาณ 15-20 นาที ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สะดวกหากต้องนอนนิ่งนาน ๆ ระหว่างการฉายรังสี สำหรับเทคนิค VMAT นี้ นอกจากซี่กำบังลำรังสีจะมีการปรับความเข้มระหว่างฉายรังสีตลอดเวลาแล้ว ยังมีการปรับอัตราปริมาณรังสีที่ออกมาต่อหน่วยเวลาและความเร็วของหัวเครื่องฉายรังสีด้วย เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการฉายรังสีลงในขณะที่ปริมาณรังสียังครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็ง
  • Image-Guided Radiation Therapy (IGRT)เป็นเทคนิคใหม่ที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการฉายรังสีและลดภาวะแทรกซ้อนของเนื้อเยื่อปกติจากรังสี เนื่องจากในระหว่างการรักษาผู้ป่วยอาจมีการเคลื่อนไหวจากการหายใจ หรือก้อนเนื้องอกอาจมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงมีการนำภาพเอกซเรย์มาใช้ เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งในแต่ละวันของการรักษา ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการทำเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก่อนเพื่อนำภาพมาวางแผนการฉายรังสี โดยข้อมูลเหล่านี้ จะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ประจำห้องฉายรังสี เพื่อให้แพทย์สามารถเปรียบเทียบภาพเอกซเรย์ก่อนที่จะทำการฉายรังสีจริงกับภาพที่แพทย์ได้วางแผนไว้ก่อนเพื่อให้ตำแหน่งของก้อนมะเร็งตรงกันมากที่สุด 
  • การฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic Radiation Therapy)เป็นการฉายรังสีในปริมาณสูงโดยใช้ลำรังสีขนาดเล็กหลายทิศทางในการกำหนดพิกัดสามมิติ เพื่อให้รังสีพุ่งตรงสู่เป้าหมายหรือรอยโรคที่กำหนด เทคนิคการฉายรังสีร่วมพิกัดนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
    1) Stereotactic radiosurgery (SRS)เป็นการฉายรังสีร่วมพิกัดปริมาณรังสีสูงเพียงครั้งเดียว ซึ่งถูกพัฒนานำมาใช้ครั้งแรกในการรักษามะเร็งในสมอง การรักษาชนิดนี้ นอกจากจะใช้รักษามะเร็งสมองแล้วยังมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคกลุ่มเนื้องอกธรรมดา (Benign tumor) เช่น โรคหลอดเลือดในสมองผิดปกติแต่กำเนิด (AVM) บางครั้งอาจใช้การฉายรังสีมากกว่า 1 ครั้ง เรียก SRT (Stereotactic radiotherapy) เพื่อลดผลข้างเคียงจากวิธีฉายรังสีแบบครั้งเดียว
    2) Stereotactic body radiation therapy (SBRT) เป็นการฉายรังสีร่วมพิกัดในบริเวณอื่นนอกจากสมอง โดยมักแบ่งการฉายรังสีเป็นหลาย ๆ ครั้ง ส่วนมากแบ่งเป็น 3-8 ครั้ง วิธีการรักษานี้มักใช้ในโรคมะเร็งบริเวณ ปอด กระดูกสันหลัง และตับ

ในการฉายรังสีแบบร่วมพิกัดนั้น มีการให้ปริมาณรังสีสูงมากในแต่ละครั้ง จึงต้องให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งให้มากที่สุดและเหมือนเดิมมากที่สุดในทุก ๆ วันที่รับการฉายรังสี จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือยึดตัวผู้ป่วยในระหว่างการฉายรังสี

2. รังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy)

รังสีรักษาระยะใกล้ หรือการฝังแร่ คือ การใส่สารกัมมันตรังสีเข้าไปภายในตัวผู้ป่วย ซึ่งต้นกำเนิดรังสีจะอยู่ใกล้กับบริเวณที่จะทำการรักษา วิธีการใส่แร่แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักคือ การใส่แร่ผ่านไปทางเครื่องมือที่ใส่ในโพรงของร่างกาย (intracavitary brachytherapy) ซึ่งได้แก่ การใส่แร่ในมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทางช่องคลอด และการใส่แร่ผ่านทางเครื่องมือที่แทงเข้าไปในตัวก้อนมะเร็ง (interstitial brachytherapy) เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือใช้ในการเสริมการรักษามะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาและนอนโรงพยาบาลเป็นเวลาสั้น ๆ เทคนิคใส่แร่ในปัจจุบันได้แก่ High dose rate (HDR) brachytherapy ซึ่งเป็นการใส่แร่ที่ให้ปริมาณสูงในแต่ละครั้ง ทำให้ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน คือประมาณ 10-20 นาที โดยอาจรักษาวันละ 1-2 ครั้ง, สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

ในระหว่างการใส่แร่ ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวได้บ้างจากการใส่เครื่องมือ ซึ่งทีมแพทย์และพยาบาลจะดูแลให้ยารักษาตามอาการอย่างใกล้ชิด

ผลข้างเคียง (Side effects) 

  • ผลข้างเคียงของการฉายรังสีเป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ ขึ้นกับบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี เช่น ในการรักษามะเร็งเต้านมผู้ป่วยอาจมีรอยแดงหรือสีผิวคล้ำขึ้นตรงผิวหนังบริเวณหน้าอกตรงที่ฉายรังสี ในขณะที่ถ้าเป็นมะเร็งในช่องปากจะมีอาการเจ็บปากเจ็บคอในช่วงฉายรังสีได้ หรือผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณช่องท้อง อาจรู้สึกปวดมวนท้อง เป็นต้น อาการเหล่านี้มักเป็นชั่วคราว และมักเริ่มในช่วงสัปดาห์ที่สองและสามของการฉายรังสี และอาจมีอาการต่อไปได้อีก 2-3 สัปดาห์หลังฉายรังสีครบ ส่วนน้อยมากเท่านั้นที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงภายหลังการฉายรังสี
  • อาการที่มักเจอบ่อย ๆ ช่วงฉายรังสีไม่ว่าจะรักษาบริเวณไหนก็ตาม คือ รู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งระดับความมากน้อยขึ้นกับตัวบุคคล บริเวณที่ฉายรังสี และการได้รับการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยาเคมีบำบัด หากมีอาการดังกล่าวควรพยายามพักผ่อนให้มากและผ่อนคลายความเครียด
  • ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการใส่แร่เป็นแบบ 3 มิติร่วมกับภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่มีความแม่นยําสูง และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบัน ตั้งแต่ก่อนการรักษาซึ่งมีส่วนช่วยให้แพทย์เลือกวิธีการและเทคนิคการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน และในระหว่างการรักษาที่ช่วยให้สามารถระบุตําแหน่งก้อนมะเร็งได้อย่างชัดเจน และคํานวณปริมาณรังสีได้อย่างแม่นยํา ทําให้สามารถลดผลข้างเคียงจากรังสีไปยังอวัยวะข้างเคียง

ทีมการรักษา

ทีมการรักษาประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับโรคมะเร็ง นำโดยแพทย์รังสีรักษา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้รังสีรักษามะเร็ง 

  • แพทย์รังสีรักษา เป็นผู้วางแผนการรักษาและการฉายรังสีของผู้ป่วย โดยจะร่วมกับทีมการรักษาในการวางแผน ส่งการรักษาและตรวจสอบแผนการรักษาเพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละครั้งมีความถูกต้อง แพทย์รังสีรักษาจะคอยติดตามการรักษา รวมทั้งปรับเปลี่ยนการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด
  • นักฟิสิกส์การแพทย์ เป็นผู้ทำงานร่วมกับแพทย์รังสีรักษาโดยตรงเพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาเป็นผู้คำนวณและร่วมออกแบบการรักษาด้วยรังสีให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนี้ยังเป็นผู้คอยควบคุมตรวจสอบโปรแกรมการทำงานของเครื่องมือและคอยตรวจ สอบความปลอดภัยของการฉายรังสีให้กับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่
  • นักรังสีการแพทย์ เป็นผู้ให้การฉายรังสีตามแผนการรักษาของแพทย์ มีหน้าที่จดบันทึกการรักษาในแต่ละวัน และตรวจสอบการทำงานของเครื่องมือให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานตลอดเวลา
  • พยาบาลทางรังสีรักษา เป็นผู้คอยให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการรักษาคอยอธิบายผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉายรังสีและแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว

รังสีปลอดภัยหรือไม่

  • ผู้ป่วยบางรายกังวลกับความเสี่ยงที่เกิดจากการฉายรังสี การฉายรังสีสามารถรักษาผู้ป่วยจนประสบผลสำเร็จมาแล้วกว่า 100 ปี การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้มั่นใจได้ว่าการฉายรังสีนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ก่อนเริ่มทำการรักษา ทีมการรักษาจะเป็นผู้ออกแบบแผนการรักษาที่เหมาะสมปลอดภัยและมีความแม่นยำต่อผู้ป่วยมากที่สุด โดยทั่วไปการรักษาจะมุ่งเน้นการฉายรังสีไปที่ก้อนมะเร็ง ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงอวัยวะสำคัญข้างเคียงให้มากที่สุด โดยก่อนและระหว่างการฉายรังสีจะมีการเอกซเรย์ตรวจสอบแผนการรักษา เพื่อให้การรักษาเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ถ้าผู้ป่วยต้องได้รับการฉายรังสีแบบภายนอก คือ นอนบนเตียงและมีเครื่องปล่อยพลังงานรังสีออกมา ซึ่งเป็นรังสีที่มองไม่เห็น หลังฉายรังสีผู้ป่วยจะไม่มีรังสีติดตัว สามารถกลับบ้านได้ 
  • การใส่แร่โดยการเอาเม็ดสารกัมมันตภาพรังสีใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วย ผ่านอุปกรณ์เช่น ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก นั้น เมื่อนำเม็ดรังสีออกผู้ป่วยก็จะไม่มีรังสีติดตัวเช่นเดียวกัน และสามารถกลับบ้านได้หลังจากถอดอุปกรณ์ออก

การปฏิบัติตัวในช่วงระหว่างการรักษา

  • เมื่อทราบการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยอาจจะต้องพบกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งหลายท่าน เช่น ศัลยแพทย์ แพทย์รังสีรักษา และอายุรแพทย์ด้านมะเร็ง ผู้ป่วยสามารถซักถามถึงข้อมูลการรักษาได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักต้องได้รับการรักษาหลายอย่างร่วมกัน เช่น โรคมะเร็งเต้านม ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก จากนั้นผู้ป่วยอาจได้รับการฉายรังสีและเคมีบำบัดเพิ่มเติม เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ในร่างกาย

ก่อนการรักษาด้วยการฉายรังสี

  • ในวันแรกผู้ป่วยจะได้พบกับแพทย์รังสีรักษา แพทย์จะทำการประเมินผู้ป่วยจากการถามประวัติ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ยาประจำตัว อาการแพ้ หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายประเมินสภาพร่างกาย โดยในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นจะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการรักษาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา

ขั้นตอนการจำลองการฉายรังสี

  • เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การฉายรังสีต้องฉายไปที่ก้อนมะเร็งในทุกครั้ง จึงจำเป็นต้องมีการจำลองการฉายรังสีและกำหนดจุดการฉายรังสี เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถวางขอบเขตการฉายรังสีได้ตรงกันทุกครั้ง 
  • ในระหว่างการจำลองการฉายรังสี จะให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางเหมือนเวลาฉายรังสีจริง ๆ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำลวดมาวางบนตัวผู้ป่วยหรือบนเครื่องมือยึดตรึง เครื่องมือยึดตรึงผู้ป่วยอาจเป็นหน้ากาก ที่วางศีรษะ ที่วางแขน แผ่นโฟม เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งเดิมในทุก ๆ วันของการฉายรังสี หลังจากนั้นจะสแกนภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และอาจใช้ภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ร่วมด้วย เพื่อนำภาพมาวางแผนการฉายรังสี  จากนั้นเจ้าหน้าที่จะวาดขอบเขตการฉายรังสีด้วยหมึกบนหน้ากากหรือบนตัวผู้ป่วย ซึ่งสามารถลบออกได้ในภายหลังจากการฉายรังสีเสร็จสิ้นแล้ว

ขั้นตอนการฉายรังสี

  • เมื่อผู้ป่วยจำลองการฉายรังสีเสร็จแพทย์รังสีรักษาและนักฟิสิกส์การแพทย์ จะนำภาพทั้งหมดไปวางแผนการฉายรังสี โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ได้แผนการฉายรังสีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การประเมินก่อนการฉายรังสี

  • เมื่อทีมแพทย์ได้แผนการฉายรังสีที่ดีที่สุดแล้ว ทางทีมฟิสิกส์การแพทย์จะมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องฉายรังสี วิธีการฉายรังสีและแผนการฉายรังสีอีกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาด และให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุดก่อนการฉายรังสีจริง

ในระหว่างการฉายรังสี

  • การฉายรังสีแต่ละครั้งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือแสบร้อนที่ผิว แต่รังสีจะผ่านเข้าไปยังก้อนมะเร็ง การฉายรังสีแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที ในการจัดท่าทางและใส่อุปกรณ์เครื่องมือยึดตัว และจัดตำแหน่งการฉายรังสี เมื่อจัดท่าทางได้ตามที่กำหนดไว้แล้ว นักรังสีการแพทย์จะออกจากห้องและไปยังบริเวณห้องควบคุม เพื่อทำการฉายรังสี และดูผู้ป่วยผ่านกล้องวงจรปิด นอกจากนี้ยังมีไมโครโฟนและลำโพง ซึ่งผู้ป่วยสามารถสื่อสารโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ห้องควบคุมได้  ในระหว่างการฉายรังสีหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นสามารถหยุดการฉายรังสีและเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันที 
  • โดยทั่วไประยะเวลาในการฉายรังสีแต่ละครั้งโดยรวมจะประมาณ 10-40 นาที ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลสามารถกลับบ้านได้หลังฉายรังสีเสร็จ ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องหยุดงานและสามารถให้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นได้
  • ระหว่างการฉายรังสี หัวเครื่องฉายรังสีจะเคลื่อนที่ไปมาเพื่อให้ลำรังสีพุ่งตรงไปยังก้อนมะเร็งและจะมีเสียงในระหว่างที่เครื่องปล่อยรังสีออกมา
  • แพทย์รังสีรักษามีการตรวจประเมิน เพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษา เป็นระยะ ๆ หากก้อนมะเร็งยุบลงมาก ๆ อาจต้องมีการจำลองการรักษาอีกครั้งเพื่อวางแผนการรักษาใหม่ ในบางครั้งอาจต้องหยุดฉายรังสีชั่วคราว ถ้าผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีมาก อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีปัญหา ผู้ป่วยควรได้รับการฉายรังสีอย่างต่อเนื่อง โดยปกติทั่วไปการฉายรังสีจะฉาย 5 วัน ต่อสัปดาห์ หยุด 2 วัน และต้องฉายติดต่อกันตั้งแต่ 1 ถึง 8 สัปดาห์ ซึ่งจำนวนครั้งของการฉายรังสีขึ้นอยู่กับขนาด ชนิดของโรคมะเร็ง สภาพร่างกายของผู้ป่วย แผนการรักษาหรือมีการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่
  • ในบางครั้งมีการฉายรังสีเพิ่มเติม (Boost) ที่ก้อนมะเร็ง เพื่อเพิ่มปริมาณรังสี ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เซลล์มะเร็งไวต่อการฉายรังสีมากขึ้น

การตรวจทุกสัปดาห์

  • ช่วงระหว่างการฉายรังสี แพทย์รังสีรักษาจะพบผู้ป่วยทุกสัปดาห์เพื่อประเมินผลข้างเคียง แนะนำวิธีปฏิบัติและตอบคำถามที่ผู้ป่วยและญาติสงสัย แพทย์อาจมีการเปลี่ยนแปลงตารางการฉายรังสีได้ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาและตัวโรค

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • หลังการรักษาผู้ป่วยจะได้รับบัตรนัดเพื่อมาติดตามผลการรักษา โดยอาจมีการตรวจเลือดและการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ มาประกอบการตรวจรักษา และรายงานการตรวจประเมินให้แพทย์อื่น ๆ ในทีมได้รับทราบ ในช่วง 2-3 ปี แรก จะมีการตรวจติดตามค่อนข้างบ่อย แต่จะห่างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้หากผู้ป่วยประสบปัญหาก่อนถึงวันที่นัดหมายไว้สามารถขอพบและติดต่อแพทย์และทีมการรักษาได้

การดูแลตัวเองในช่วงการฉายรังสี

  • พักผ่อนให้มาก ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียในช่วงฉายรังสี ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ อาจให้ครอบครัวและญาติของผู้ป่วยเป็นผู้ติดต่อดำเนินการเรื่องการรักษาและช่วยเตรียมเรื่องอาหาร ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกับสิ่งรอบตัว และสนใจแต่เรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายหรือทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่เหนื่อยเกินไปได้ตามปกติ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่มีพลังงานสูงในช่วงการรักษา เช่น ไข่ขาว เนื้อสัตว์ ปลา ดื่มน้ำมาก ๆ ไม่ควรลดน้ำหนัก
  • ดูแลบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี บริเวณฉายรังสีมีความบอบบางเป็นพิเศษ อาจมีอาการอักเสบได้ มีวิธีปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

» ทำความสะอาดทุกวันด้วยน้ำอุ่น ไม่ควรฟอกสบู่ในบริเวณที่ขีดเส้น เนื่องจากจะทำให้เส้น ที่ขีดไว้ลบเลือนไป

» หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่น น้ำหอม แป้ง และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น

» หลีกเลี่ยงการประคบเย็นประคบร้อนบริเวณฉายรังสี

» หลีกเลี่ยงแสงแดด ควรสวมเสื้อผ้าหรือหมวกเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด