มะเร็งมีกี่ระยะ?

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน จึงรักษาไม่เหมือนกัน แม้มะเร็งชนิดเดียวกัน เป็นมากหรือเป็นน้อย ก็รักษาไม่เหมือนกันอีก วงการแพทย์จำแนกโรคมะเร็งมากหรือน้อย โดยเรียกว่า “ระยะ” ของโรค (Stage) เพราะ มะเร็งส่วนใหญ่เริ่มด้วยขนาดเล็ก ๆ ก่อน ตอนที่ก้อนเล็ก ๆ มันมักจะไม่กระจายไปไหน เรียกว่าระยะแรก เมื่อก้อนใหญ่ขึ้น เซลล์มะเร็งก็รุกรานเนื้อเยื่อรอบก้อน และบางเซลล์เริ่มหลุดออกจากก้อน กระจายไปทางน้ำเหลืองและเลือดสู่อวัยวะอื่น เพราะเป็นมานานกว่าก้อนเล็ก เรียกว่าระยะลุกลาม หรือระยะท้าย (Advanced Cancer)

วงการแพทย์จำแนกมะเร็งเป็น 4 ระยะ สำหรับมะเร็งส่วนใหญ่ ในครั้งแรกที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์

ระยะที่ 1 มักหมายถึงมะเร็งที่มีขนาดเล็ก ผ่าตัดแล้วหมดเกลี้ยงได้แน่นอน

ระยะที่ 2 หมายถึงมะเร็งก้อนใหญ่กว่าระยะแรก ผ่าตัดแล้วน่าจะหมด แต่เมื่อนำชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปมาวิเคราะห์แล้ว พบมีลักษณะบางอย่างที่บ่งว่า ผู้ป่วยบางคนมีเซลล์มะเร็งแอบกระจายอยู่บ้างรอบก้อนที่ตัดออกไป แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าขณะที่กำลังผ่าตัด

ระยะที่ 3 หมายถึงก้อนมะเร็งที่ใหญ่จนผ่าตัดไม่หมดหรือผ่าไม่ได้เพราะติดอวัยวะสำคัญ ถ้าผ่าออกหมดจะพิการ หรือพบว่ากระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่รอบก้อนมะเร็ง แต่ยังไม่มีสัญญาณว่ามะเร็งกระจายไป “อวัยวะไกล”ออกไป เช่น ตับ ปอด สมอง กระดูก

ระยะที่ 4 หมายถึงผู้ที่เป็นโรคมะเร็งในอวัยวะไกล ไม่ว่าก้อนตั้งต้นจะใหญ่หรือเล็กก็ตาม

สำหรับมะเร็งแต่ละชนิด ผู้ที่เป็นระยะที่ 1 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 2 ผู้ที่เป็นระยะที่ 2 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 3 และ ผู้ที่เป็นระยะที่ 3 ย่อมมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าผู้ที่เป็นระยะที่ 4 วงการแพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ตามด้วยการรักษาอื่นที่มากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 1 หายขาดเกือบทุกคน และเพิ่มการรักษาหลังผ่าตัดมากขึ้นอีกสำหรับมะเร็งระยะที่ 2 เนื่องจากมะเร็งระยะที่สามนั้นแปลว่าผ่าตัดไม่หมดหรือผ่าไม่ได้ ก็มักได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงให้ก้อนเล็กลงก่อน ตามด้วยการผ่าตัด

สำหรับมะเร็งระยะที่ 4 หรือบางคนเรียกว่าระยะสุดท้าย การรักษาก็มักจะพึ่งยาเคมีบำบัดเป็นหลัก แต่ถึงจะให้ยาดีที่สุดก็ไม่ทำให้มะเร็งหายขาด ยกเว้นมะเร็งไม่กี่ชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลายชนิด มะเร็งไธรอยด์ มะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ ก็ยังมีโอกาสหายขาดได้บ้างแม้เป็นระยะที่ 4 ดังนั้นจะเรียกว่าระยะสุดท้าย ก็ไม่ค่อยเหมาะสม การพบมะเร็งในอวัยวะไกล แม้เพียงจุดเดียว ก็แสดงว่ามะเร็งได้กระจายไป ‘ทั่วตัว’ แล้ว โดยมากก็โดยทางกระแสเลือด ซึ่งไหลเวียนไปได้ทุกที่ เพียงแต่จุดที่ตรวจพบสัญญาณ ก็เป็นจุดที่มีมะเร็งปริมาณมากที่สุด แต่มะเร็งอาจจะอยู่ในร่างกายสิบจุด ร้อยจุด แล้วก็ได้ เพียงแต่มีไม่กี่เซลล์จึงเป็นก้อนเล็กเกินกว่า เทคโนโลยีในวันนี้จะตรวจเจอ ในกรณีที่พบมะเร็งในครั้งแรกที่กระดูก ตับ ปอด หรือสมอง ก็ต้องค้นหาก่อนว่าเป็นมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น หรือเป็น “มะเร็งปฐมภูมิ” ของกระดูก ตับ ปอด สมอง กันแน่

มะเร็งบางชนิดก็ไม่มีการระบุระยะ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) เพราะว่าเซลล์มะเร็งกระจายทั่วตัวทุกรายอยู่แล้วตั้งแต่แรก แต่ก็มีโอกาสหายขาดด้วยยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมสำหรับชนิดย่อยของมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมองก็มักไม่ระบุระยะ เพราะมันไม่ค่อยกระจายไปอวัยวะไกล และบางครั้งแม้ผ่าตัดหมดก็ไม่หายอยู่ดี จึงเทียบเคียงกับโรคอื่นไม่ได้ มะเร็งเหล่านี้ ต้องระบุชนิดย่อยของเซลล์มะเร็ง จึงจะวางแผนการรักษาได้

มะเร็งบางชนิด มีระยะ 0 ด้วย คือเป็นมะเร็งที่เพิ่งเป็น ยังไม่กระจายไปไหนเลย ภาษาหมอเรียกว่า Carcinoma in situ ตัดออกเฉพาะตำแหน่งที่เป็นก็หายขาด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มักตรวจพบจากการตรวจกรองในประชากรปกติ ไม่มีอาการแต่อย่างใด และโรคมะเร็งบางชนิด มีความผิดปกติที่ยังไม่เป็นมะเร็ง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน ภาษาหมอเรียก pre-cancerous lesions เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ฝ้าขาวในช่องปากเป็นต้น ถ้าตัดออกเมื่อตรวจเจอ ก็จะป้องกันการเป็นมะเร็งได้

วงการแพทย์จะระบุระยะของมะเร็ง เฉพาะในการวินิจฉัยครั้งแรกเท่านั้น เช่น มะเร็งเต้านมระยะ 1, 2, 3 เมื่อทำการรักษาแล้ว ก้อนมะเร็งหายไป ต่อมามะเร็งปรากฏขึ้นในอวัยวะไกล เช่นกระดูก ก็เรียกว่า มะเร็งเต้านมระยะ 1, 2, 3 ที่กระจายไปกระดูก ภาษาหมอเรียกว่า ith metastasis แต่ไม่เรียกว่ามะเร็งกระดูก ไม่เรียกว่าระยะที่ 4 กล่าวคือเราไม่เปลี่ยนชื่อระยะ แม้ว่าโอกาสรักษาหายขาดจะน้อยมากเช่นเดียวกัน ถ้าเราจะเรียกสภาวะนี้ว่า มะเร็งระยะสุดท้าย ก็สมเหตุผล วงการแพทย์ระบุ “ระยะ” ไว้เพื่อเปรียบเทียบสถิติผลการรักษามะเร็ง ว่าการรักษาแบบใดดีกว่ากันเท่านั้น

ถึงแม้ว่ามะเร็งระยะ 3, 4 แสดงว่าเป็นมะเร็งมานานกว่า ระยะ 1, 2 แต่ไม่สมควรที่จะกล่าวโทษว่า มาหาหมอช้าไป ความจริงก็คือ ระยะ 1, 2 นั้นมักไม่มีอาการใด ๆ ที่จะทำให้ผู้เป็นมะเร็งมาตรวจแต่เนิ่น ๆ ได้เลย การตรวจพบมะเร็งระยะแรกมัก เกิดจากการรณรงค์ให้คนปกติพาตัวเองมา “ตรวจกรองหามะเร็ง” ทั้งที่ยังไม่มีอาการ แต่มาหาหมอเมื่อสัญญาณเตือน หรืออาการผิดปกติเสียแล้ว ก็มักพบมะเร็งในระยะ 3, 4 เสียเป็นส่วนใหญ่ มะเร็งที่ตรวจกรองได้ในทศวรรษนี้ ก็มีเพียงมะเร็ง 3 ชนิด คือมะเร้งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งอื่นยังไม่มีวิธีตรวจกรองที่คุ้มค่าพอที่จะแนะนำให้ทำทุกคน

นอกจากนี้มะเร็งหลายชนิด เช่นมะเร็งในเด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะกระจายไปทั่วตัวตั้งแต่ก้อนยังเล็ก เมื่อมาพบแพทย์จึงเป็นระยะลุกลามเป็นส่วนใหญ่ แต่ในรายที่พบระยะแรกมักเป็นก้อนใหญ่ที่ไม่ค่อยกระจาย กล่าวคือมะเร็งอวัยวะเดียวกันระยะแรกกับระยะลุกลามเป็นคนละโรคกัน ไม่ได้ลุกลามเพราะมาพบแพทย์ช้าหรือเร็ว

เคมีบำบัดรักษามะเร็งได้อย่างไร

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ยาเคมีบำบัด ภาษาอังกฤษ คือ Cytotoxic Chemotherapy หมายถึง ยาที่มีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวไม่สิ้นสุด หยุดไม่ได้ ดังนั้นการทำให้มะเร็งหายขาดวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือ ให้ยาพิษเพื่อฆ่าเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้ให้ตายหมดเกลี้ยงไม่เหลือแม้แต่ตัวเดียว แล้วจึงหยุดยา มะเร็งก็จะไม่มีทางกลับมาอีก

แม้ว่าเซลล์ปกติจะต้องโดนยาพิษไปด้วยบ้าง แต่ยาพิษก็ไม่ได้ทำอันตรายทุกเซลล์ เซลล์ที่แบ่งตัวตลอดเวลา เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์สร้างเส้นผม เซลล์เยื่อบุช่องปาก ก็มักจะได้รับพิษมากกว่าเซลล์ที่ไม่ค่อยแบ่งตัว เช่น เซลล์ประสาท เซลล์สร้างกระดูก ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด จึงมีผลข้างเคียง เช่นเม็ดเลือดต่ำ ผมร่วง ปากเป็นแผล ยาเคมีบำบัด แต่ละอย่างมีผลข้างเคียงแตกต่างกันออกไป และผลข้างเคียงก็มิได้เกิดกับทุกคน บางอย่างเกิดขึ้นบ่อย บางอย่างเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ไม่มีความแน่นอนเท่าใดนัก

ยาเคมีบำบัด ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ โดยการทำให้เกิดความผิดพลาดในการสร้างดีเอ็นเอ เซลล์ทั่งหลายจะต้องสร้างดีเอ็นเอโดยการลอกแบบเป็นสองชุดเสียก่อน จึงจะแบ่งตัวได้ เนื่องจากเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวบ่อยมาก เมื่อเทียบกับเซลล์ปกติ การให้ยาพิษต่อดีเอ็นเอ จึงทำให้เซลล์มะเร็งได้รับยาพิษมากกว่าเซลล์ปกติ เมื่อเซลล์มะเร็งโดนยาพิษตายก้อนมะเร็งก็ค่อย ๆ เล็กลงตามลำดับ ถ้าเราให้ยาพิษที่เหมาะสม มากพอ และนานพอ เซลล์มะเร็งก็น่าจะตายหมด โดยที่ร่างกายของเรายังรอดอยู่

เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่เกิดจากความผิดพลาดของข้อมูลในดีเอ็นเอ ทำให้แบ่งตัวไม่หยุด การแบ่งตัวแต่ละครั้งก็เพิ่มความผิดพลาดในดีเอ็นเอ ดังนั้นในก้อนมะเร็ง​ซึ่งมีเซลล์มากกว่าพันล้านเซลล์ ทุกเซลล์จึงไม่เหมือนกันทีเดียวนัก จะมีเซลล์มะเร็งที่ดื้อยาเคมีบำบัดไม่ว่าจะชนิดใด ปะปนอยู่เสมอ หากการให้เคมีบำบัดฆ่ามะเร็งได้ เซลล์ใดที่ไวต่อยาก็ตายไป แต่เซลล์ที่ดื้อยาก็จะรอด แม้จะมีเพียงหนึ่งในพัน หรือหนึ่งในหมื่น แต่ในที่สุดเซลล์ดื้อยาก็จะแบ่งตัวกลับมาเป็นก้อนได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมตามเวลา การรักษามะเร็งแต่ละชนิดจึงต้องให้ยามากกว่า 1 ชนิดพร้อมกัน เรียกว่า สูตรยา หรือ “โปรโตคอล”

แม้ว่าจะมีผลเสีย ผลข้างเคียง และปัญหาการดื้อยา แต่การให้ยาเคมีบำบัด ก็สามารถรักษามะเร็งให้หายขาดได้จริง ยากตัวอย่างเช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด “ALL” (Acute Lymphoblastic Leukemia) ในเด็ก ในปัจจุบัน สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาเคมีบำบัด ถึงร้อยละ 85 แต่ความสำเร็จนี้มิได้มาง่าย ๆ เด็กที่เป็นมะเร็งชนิดนี้จำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดถึง 8 ชนิด สลับกันไปมาในระยะเวลา 3 ปี มีทั้งกิน ฉีดเข้าเส้น ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง ฉีดในโรงพยาบาลบ้าง กินเองที่บ้านบ้าง แต่ไม่ต้องผ่าตัด หรือฉายรังสี และ การหายขาด หมายความว่า เมื่อรักษาครบ 3 ปีแล้วก็หยุดยาทั้งหมด มะเร็งไม่กลับมาอีกเลย เด็กเหล่านี้สามารถเรียนหนังสือ เล่นกีฬา เล่นสนุกสนาน ไม่ต้องกินยาใด ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากเด็กปกติเลย

แต่ยาเคมีบำบัดไม่สามารถรักษามะเร็งได้ทุกชนิด ยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดฆ่าเซลล์​มะเร็งได้เพียงบางอย่าง ถ้าให้ยาชนิดใดแล้วเซลล์มะเร็งไม่ตาย เรียกว่า มะเร็งดื้อยาเคมีบำบัด อันที่จริง มะเร็งส่วนใหญ่ในผู้ใหญ่ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว ผู้ที่จะหายขาดจากมะเร็งได้ มักจะมีก้อนขนาดเล็กผ่าตัดออกได้หมด ตามด้วยการฉายรังสี ตามด้วยยาเคมีบำบัดสูตรที่ดีที่สุดสำหรับมะเร็งชนิดนั้น

วงการแพทย์ได้ทำการวิจัยเพื่อค้นหาว่ายาใดบ้าง รักษามะเร็งชนิดใดได้ผลบ้าง หลังจากทำการวิจัยอย่างเป็นระบบในผู้ป่วยหลายร้อยหลายพันคนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จึงสามารถสรุปได้ว่า สูตรยาอะไร ดีที่สุดสำหรับมะเร็งชนิดใด เมื่อมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดหนึ่ง แพทย์จึงนำเสนอสูตรที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งมักเป็นสูตรที่มีโอกาสทำให้หายขาดมากที่สุด หรือถ้าไม่หายก็ทำให้มีโอกาสยืดชีวิตได้นานกว่าสูตรอื่น

สูตรยาที่ดีที่สุดในการรักษามะเร็งแต่ละชนิด ไม่เหมือนกัน และสูตรยาสำหรับมะเร็งระยะแรก ก็ต่างจากระยะลุกลาม ดังนั้นประสบการณ์ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งคนละชนิด จึงไม่สามารถเทียบเคียงกันได้ การรักษาจะเหมือนใกล้เคียงกันถ้าเป็นผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันและระยะเดียวกัน

การฉายแสงรักษามะเร็งได้อย่างไร

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การฉายแสง หรือเรียกให้ถูกต้องว่า การฉายรังสี หรือรังสีรักษา ภาษาอังกฤษ คือ Radiation Therapy หมายถึง การใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง รังสีพลังงานสูง ได้แก่ รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมมา รังสีเบตา อนุภาคโปรตอน. เมื่อรังสีวิ่งผ่านอวัยวะใด ก็จะปลดปล่อยพลังงานทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระในเซลล์ที่โดนรังสี ดีเอ็นเอของเซลล์ก็จะเสียหายและตายในที่สุด เซลล์ใดที่กำลังสร้างดีเอ็นเอเพื่อเตรียมแบ่งตัวอยู่ในขณะที่โดนรังสี ก็จะตายง่ายกว่าเซลล์อื่น

การฉายรังสีอาจทำหลังผ่าตัดก้อนออก เพื่อให้การรักษามะเร็งที่เหลือจากการผ่าตัดออกไม่หมด หรือมะเร็งที่อาจซ่อนตัวอยู่รอบ ๆ บริเวณที่ผ่าตัดออกหมดแล้ว เพื่อมิให้กลับมาอีกในบริเวณที่ผ่าตัดนั้น รังสีจึงมีประโยชน์ในการควบคุมโรคมะเร็งในตำแหน่งที่โดนรังสี แต่ถ้าหากมะเร็งกระจายไปก่อนการฉายรังสี มะเร็งก็จะปรากฏเป็นก้อนในอวัยวะที่มันกระจายไปในภายหลัง

นอกจากเซลล์มะเร็งจะตายด้วยรังสีแล้ว เซลล์ปกติที่อยู่ในตำแหน่งที่โดนรังสี ก็จะเสียหายด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากเซลล์มะเร็งแบ่งตัวได้เร็ว จึงมักจะไวต่อรังสีแต่ตายมากกว่า เซลล์ปกติของแต่ละอวัยวะทนรังสีได้ไม่เท่ากัน อวัยวะที่มีการแบ่งเซลล์ตลอดเวลาจะทนได้น้อย เช่น ไขกระดูก ตับ ลำไส้ ไต ปอด แพทย์จะเลี่ยงการฉายรังสีมิให้โดนอวัยวะเหล่านี้ ถ้าเป็นมะเร็งในอวัยวะเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถรักษาด้วยการฉายรังสี ในทางตรงกันข้าม สมอง กระดูกแขนขา คอ กล้ามเนื้อทนรังสีได้มาก ถ้ามีก้อนมะเร็งในตำแหน่งเหล่านี้ ก็จะฉายรังสีได้มาก

ปริมาณรังสีที่ใช้รักษา จะถูกกำหนดโดยอวัยวะที่มะเร็งปรากฏอยู่ แพทย์มักจะให้รังสีในปริมาณมากที่สุดที่อวัยวะนั้นจะทนได้ เพื่อให้มะเร็งได้รับรังสีมากที่สุด จึงมีโอกาสหายสูงสุด เว้นแต่ในกรณีที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การให้รังสีเพียงครึ่งเดียวของมะเร็งอื่น ก็ทำให้มะเร็งหายขาดจากบริเวณที่ฉายรังสีได้ โดยทั่วไปการฉายรังสีที่ใด จึงมักทำได้ครั้งเดียว หากมะเร็งกลับมาใหม่ในตำแหน่งที่เคยฉายรังสีแล้ว ก็จะถือว่าเป็นมะเร็งดื้อรังสี ฉายแสงเพิ่มไม่ได้อีก

การฉายรังสีเพื่อหวังหายขาด แพทย์จะให้รังสีทีละน้อย อาจใช้เวลาฉายแสงเพียง 5 นาที วันละครั้ง แล้วให้ฉายแสงซ้ำในตำแหน่งเดิมสะสมไปจนครบปริมาณ หลายสิบครั้ง โดยมักฉายแสงเฉพาะวันราชการ งดในวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ ที่ใช้ระยะเวลานานเช่นนี้ เพราะรังสีทำลายเฉพาะเซลล์ที่แบ่งตัว การฉายรังสีในเวลาหลายสัปดาห์ทำเซลล์มะเร็งทุกตัวมีโอกาสแบ่งตัวและโดนรังสีไปจนหมดสิ้น แล้วไม่สามารถกลับมางอกได้อีกในบริเวณนั้น

การรักษาด้วยรังสี มักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในระหว่างการฉายรังสี แต่การฉายรังสีบางตำแหน่ง เช่น หน้าและคอ เมื่อผ่านไปสักสิบครั้ง ก็จะมีอาการแสบในคอ ทำให้กินอาหารลำบาก ผิวหนังที่โดนรังสี ก็อาจจะเริ่มมีการอักเสบไหม้ ไขกระดูกที่โดนรังสีก็จะสร้างเม็ดเลือดน้อยลง ผู้ป่วยจำเป็นต้องอดทนกับความเจ็บปวดจากผลข้างเคียงเหล่านี้เพื่อแลกกับโอกาสหายขาดจากมะเร็ง

ในกรณีที่มะเร็งลุกลามไปแล้ว แพทย์มักไม่ฉายรังสีในทุกตำแหน่งที่มีก้อน แต่จะฉายรังสีเฉพาะก้อนที่ทำให้เกิดอาการปวด หรือเกิดอาการรบกวน ด้วยปริมาณรังสีในปริมาณที่ทำให้อาการหายไป ซึ่งจะใช้เวลาไม่กี่วัน เพราะการฉายรังสีมากก็ไม่สามารถทำให้มะเร็งหายขาดได้ เรียกว่า การฉายรังสีแบบประคับประคอง Palliative Radiation

ฉายแสงกับกลืนแร่ ต่างกันอย่างไร?

คำตอบจากคุณหมอกิตติศักดิ์ ชมประเสริฐ จากงานเสวนาพลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 11

“การใส่แร่หลักๆ ในปัจจุบันจะมีตัวชี้วัด 2 โรค คือ มะเร็งปากมดลูก กับมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ที่โรงพยาบาลเราไม่ได้ใส่ในต่อมลูกหมาก เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็จะเป็นคนไข้มะเร็งปากมดลูก โพรงมดลูก มันต่างกันอย่างไร? ฉายแสง กับใส่แร่ ฉายแสงให้เรานึกว่ามันเป็น outside in คือการรังสีที่ตัวเครื่องฉายเข้าไปในตัวคนไข้ outside แล้ว in เข้าไป แต่การใส่แร่คือการนำกัมมันตรังสีเข้าไปวางไว้ประชิดก้อนที่สุด แล้วให้กัมมันตรังสีนั้นแผ่ออกมา เราก็เรียกว่า inside out คือแผ่จากข้างในออกมารอบนอก พอใส่เข้าไปปุ๊บ ในตำแหน่งที่ต้องการ เราก็ส่งให้นักฟิสิกส์ เค้าก็โหลดแร่ไปตามแผนว่าจะแผ่ระยะเท่าไหร่ ครอบคลุมอะไรบ้าง พอเราเอาคนไข้ไปโหลด คนไข้จะนอนอยู่ในห้องคนเดียว โหลดได้ตามโดสนั้นที่หมอต้องการ และเครื่องก็จะชักแร่กลับเข้าไปในตัวเครื่อง ถอดอุปกรณ์ออกจากช่องคลอดคนไข้ คนไข้ก็จะเดินเปล่ากลับบ้านไปเลย ไม่มีอะไรติดตัว อุ้มลูก อุ้มหลาน เข้าใกล้เด็กเล็กได้ตามปกติ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่การฝั่งแร่เหมือนเมืองจีนนะครับ

อันนี้จริงๆ มันเรียกว่าเป็นการฝังแร่ ซึ่งการฝังแร่ ใส่แร่ มันก็จะแยกย่อยออกไปอีก ที่ผมเล่าเมื่อกี้ คือ เป็นการใส่แบบชั่วคราว ใส่แล้วก็ดึงแร่ออก อีกอันหนึ่งคือ การฝังถาวร อันนี้ก็คือจะเผาไปพร้อมศพเลย คือฝังแล้วไม่เอาออก ข้อบ่งชี้เดียว คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ก็คือจะฝังลงไปในต่อมลูกหมาก ฝังไว้ตลอดชีวิตไม่ได้นำออก ฝังไปจนหมดค่าครึ่งชีวิตของแร่ คือหมด Half-Life ของแร่ ทีนี้ การจะฝั่งบริเวณไหน มันต้องผ่านการคำนวณทุกอย่างมาเรียบร้อยแล้ว แต่เอาจริงๆ บางทีที่จีนเค้าก็ทำออกแนวเถื่อนๆ มันไม่เป็นไปตามหลัก Radio protection คือ ความปลอดภัยทางด้านรังสีนะครับ คือถ้ามันมา Explode กับคนอื่นก็จะเป็นอันตราย เพราะรังสีเป็นอะไรที่เรามองไม่เห็น มันไม่เหมือนอะไรที่มีแสงวาบ หรือทำให้เราร้อน อันนี้เรายังรู้ตัว แต่อันนี้เป็นอะไรที่เดินปะปนกับเรา โดยที่เราไม่มีทางรู้เลย”


จำนวนครั้งจากการฉายแสงกำหนดจากอะไร?

คำตอบจากคุณหมอกิตติศักดิ์ ชมประเสริฐ จากงานเสวนาพลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 11
“จำนวนครั้งในการฉาย กับโดสต่อครั้งที่ ตอบง่ายๆ ก็คือ มันเขียนไว้ในตำราการแพทย์ ซึ่งมันก็คือ วิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่มาจากการศึกษาวิจัยจนได้ข้อสรุปมาว่า อวัยวะนี้ประมาณนี้ มะเร็งชนิดนี้โดสประมาณเท่านี้

อย่างในกรณีเต้านมเนี่ย มันจะเป็นประเด็นว่า standard ที่ทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์มันจะ 25 ครั้ง แต่ในยุค ราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการศึกษาวิจัย มีการศึกษาเปรียบเทียบมากขึ้นก็คือ เราเพิ่มจำนวนโดสต่อครั้ง โดสเยอะขึ้น แต่จำนวนครั้งเราหดลง เป็น 16-17 ครั้ง เพราะฉะนั้น ในประเทศไทยบางสถาบันจะไม่เหมือนกัน บางสถาบัน โดยเฉพาะถ้ามีเรื่องของ insurance issue เข้ามาเกี่ยวข้อง เค้าจะดึง stroke ฉาย 25 ครั้ง เพราะทุก session ที่เขามานั่งคำนวณ โดยเฉพาะอเมริกา คือ ฉายเต็ม 25 ครั้ง เพราะทุกอย่างมันเป็นเงินเป็นทอง แต่ถ้าเป็นค่ายยุโรปที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการเหมือนเรา ทุกอย่างมันต้องประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย เราก็เลือกมาทางนี้ ถ้าผลการรักษามันจะได้ไปถึงเท่ากัน เราก็อยากฉายให้จบเร็ว คนไข้คนหนึ่งมันจะได้ turn over ในการใช้เครื่อง คนนี้เข้า คนนั้นออก เพราะว่าทางภาคตะวันออก ตอนนี้เรามีอยู่ 3 เครื่อง ฉายตั้งแต่หัวจดเท้าทั้งหมด นักเรียน นักเลง เด็กเล็ก เด็กโต จิ๊กโก๋ โสเภณี ก็ต้องฉายหมด เพราะฉะนั้นภาระมันหนักนะครับ เราก็เลย เลือกมาทางนี้ เต้านมเนี่ยมันจะเป็นประเด็นใหญ่ว่าบางที่ 16-17 ครั้ง บางที่ 25 ครั้ง ก็ต้องเรียนแบบนี้ว่าผลไม่ต่าง มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ แล้วจำนวนครั้งเท่านี้มันเหมาะกับสถานการณ์ของประเทศเราที่ต้องให้บริการคนเยอะครับ”

ที่คุณหมอเล่าว่าการฉายแสงเหมือนยิงปืนเฉพาะจุด ผลกระทบจากการที่คุณหมอยิงไป มีผลกระทบอะไรบ้าง คุณหมอยิงตามขนาดของแผลหรือเปล่า ถ้ามีหลายจุดต้องยิงหลายแผลใช่หรือไม่
คุณหมอตอบว่า “หลักๆ ก็คือ 1. ตัวก้อน 2. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง ต่อมน้ำเหลืองต้องนึกว่ามันคือ สถานีรถไฟฟ้า เวลามะเร็งมันแวะออกจากบ้านมันต้องไปตามสถานีชานชาลา ชานชาลาก็คือ ต่อมน้ำเหลือง เราก็คือ จัดการครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง มันกำลังจะไปเราดักมันได้ อันนี้คือ concept หลัก

แล้วพอฉายไปปุ๊บ อย่างของหมอคิดง่ายๆ ฉายตรงไหน โดนตรงไหน ผลข้างเคียงอยู่ตรงนั้น คีโมเนี่ย เค้าเข้าไป ผลข้างเคียงเค้าทั้งตัว อ่อนเพลียทั่วตัว กินไม่ได้ ผะอืดผะอม อันนี้เป็นผลข้างเคียงลักษณะที่ไม่เฉพาะเจาะจง แต่ของหมอฉายตรงไหนเป็นตรงนั้น ฉายต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและลำคอ ก็หน้าดำ คอลอก จะมาบอกว่าฉายแถวคอทำไมกลางคืนลุกฉี่บ่อย อันนี้มโนละ ไม่ใช่ล่ะ หรือฉายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ เราฉายบริเวณท้องแถวอุ้งเชิงกราน จริงๆ เราอยากรุมก้อนที่มดลูก ก้อนมะเร็งที่ลำไส้ แต่เราหลบกระเพาะปัสสาวะไม่ได้ เราหลบลำไส้พวงนั้นที่มันแปะติดกันกับอวัยวะนั้นไม่ได้ ผลข้างเคียงก็เลยตามมาก็คือ ปวดบิดท้อง ถ่ายกระปิดกระปอย ตีเส้นไว้ตรงไหนผลข้างเคียงก็แถวๆ นั้นครับ”


ฉายแสงแล้วเกิดพังผืดจะป้องกันอย่างไร?

คำตอบจาก อาจารย์แพทย์หญิงวิมรัก อ่อนจันทร์ จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ครั้งที่ 5 ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

“ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีจะแบ่งเป็นระยะเฉียบพลัน และระยะยาว ระยะเฉียบพลันจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 1-2 เดือน แล้วอาการจะค่อยๆ หายไปเอง การฉายรังสีที่คนไข้จะเจอ เป็นการฉายรังสีจากภายนอกเข้าไปภายในผ่านผิวหนังก็จะมีอาการข้างเคียง คือ แห้ง เคือง ระคาย คัน ซึ่งจะเป็นการฉายรังสีเฉพาะที่ หากฉายตรงไหนจะมีอาการบริเวณนั้น ตัวอย่างเช่น คนไข้มะเร็งเต้านม ที่หลังจากผ่าตัดแล้วก็จะได้ฉายรังสีบริเวณเต้านม หรือ บางรายจะมีการฉายไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่จะมีโอกาสกระจายไป บริเวณไหปลาร้า รักแร้ ก็จะเกิดผลข้างเคียงในบริเวณที่ถูกฉาย คนไข้ที่คนไข้ที่ฉายบริเวณช่องท้อง เชิงกราน ก็จะมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร การขับถ่าย การทานอาหารซึ่งถือเป็นผลระยะสั้น หลังจากฉายรังสีไปแล้วผลข้างเคียงก็จะทุเลาขึ้น

หากมีอาการคันไม่แนะนำให้เกาบริเวณที่ฉายรังสี ถ้าคันมากๆ ให้ปรึกษาคุณหมอจะมีแนะนำครีมหรือยาที่ช่วยรักษาเฉพาะจุดได้ เพราะการฉายรังสีผ่านผิวหนัง ถ้าเราทาครีมหรือโลชั่นทั่วไปที่มันไม่ดูดซึม หรือมีส่วนที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง อาจจะทำให้เรายิ่งคัน ยิ่งเคืองได้

ส่วนผลข้างเคียงระยะยาว ผิวหนังที่โดนรังสีในระยะยาวก็จะเกิดเป็นพังผืด หด รั้ง เกร็ง ทำให้เราเคลื่อนไหวไม่สะดวก หรือบางทีไปรั้งบริเวณแขนทำให้แขนบวมและโต เพราะฉะนั้นคนไข้หลังฉายรังสีทุกราย หมอก็จะแนะนำให้นวดและบำรุงโลชั่น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันไม่ให้เกิดพังผืดบริเวณฉายรังสี มีการออกกำลังกาย ยืด เหยียดแขน”

เมื่อถามถึงกรณีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คุณหมอจะแนะนำให้นวดบริเวณเต้านม แล้วอย่างคนที่ฉายบริเวณอื่น อย่างที่ปอด ควรจะดูแลตนเองอย่างไร?
คุณหมอวิมรักให้ความรู้เพิ่มเติม “สำหรับการฉายรังสีบริเวณปอด จริงๆยังไม่มีการป้องกันได้ขนาดนั้น ก็จะแนะนำให้คนไข้หมั่นสังเกตอาการ กรณีที่เกิดพังผือเยื่อหุ้มปอ อาจจะมีเรื่องของอาการไอหรือหอบได้ แต่ปกติจะเห็นความผิดปกติได้จากการเอกซเรย์เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่ค่อยเกิดอาการค่ะ ทั้งนี้ขึ้นกับบริเวณและปริมาณรังสีด้วย ถ้าฉายปริมาณเยอะ โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงก็จะเยอะด้วย อย่างคนไข้เต้านมอาจจะต้องฉายรังสีในปริมาณมากหน่อย แต่อย่างคนไข้ที่เป็นมะเร็งบริเวณต่อมน้ำเหลือง มันเป็นตัวที่มีการตอบสนองได้ดีต่อรังสีรักษาก็อาจจะไม่จำเป็นต้องฉายรังสีในปริมาณมาก แต่ถ้าคนไข้ที่เป็นมะเร็งบริเวณรังสีและลำคอ ก็อาจจะต้องฉายในปริมาณที่มากเช่นกัน นานถึง 6-7 สัปดาห์ เขาก็มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงบริเวณนั้นได้เยอะ ก็จะแนะนำให้เขานวดคอ กายบริหารคอ กายบริหารขากรรไกร เพื่อป้องกันการติดขัด พวกนี้ค่ะ”

ให้ยาเคมีแล้วแพ้ ป้องกันได้หรือไม่?

คำตอบจากคุณหมอพงศธร

“จากที่ผมคลุกคลีกับคนไข้มา 20 ปี พอเป็นมะเร็ง คนไข้ส่วนใหญ่จะมีความกังวลหลายอย่าง หากทำเคมีก็จะกลัวอาเจียน กลัวผมร่วง หากต้องรักษาด้วยการฉายแสง คนไข้ก็จะกลัวว่าผิวจะไหม้ ถลอก ซึ่งที่จริงมันป้องกันได้ครับ”

“การรักษามะเร็ง มันจะมีระยะของมัน หรือ ที่เราเรียกว่า Golden period คือเป็นช่วงระยะเวลารักษาแล้วได้ผลดี อาจจะ 6 เดือน หรือ 1 ปี พอพ้นช่วงนี้แล้วก็อาจจะกลับมาเป็นอีก ส่วนอาการข้างเคียงที่กังวล เบื้องต้นต้องคุยกับคุณหมอก่อนครับ เพราะขึ้นกับสูตรยา ซึ่งเราสามารถป้องกันผลข้างเคียงได้ เช่นให้คุณหมอฉีดยาแก้อาเจียนเบื้องต้นได้ ปัจจุบันยาแก้อาเจียนดีขึ้นมาก ลดจากอาเจียนมาก เป็นไม่อาเจียนเลย หรืออาเจียนน้อยลงจาก 100% เหลือ 20% ทั้งนี้ยาบางสูตรก็ไม่ส่งผลให้อาเจียนเลย”

“การดูแลระหว่างรักษานี้สำคัญมาก ระหว่างที่ให้ยาเคมี คนไข้จะต้องไม่หมกมุ่นเรื่องอาเจียน การทำสมาธิ การหางานอดิเรกทำก็ช่วยได้มากครับ ส่วนเรื่องผมร่วง ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่รับประกันได้เลยว่าหลังจากให้ยาเคมีแล้วผมสวยกว่าเดิม ผมเงาดำและอาจจะหยิกเล็กน้อยตามธรรมชาติในช่วงแรก”

คุณเบลล่า ทิ้งท้ายเทคนิคที่ทำให้เส้นผมสวยตรงนั่นคือ การโกนผมสองรอบ อีกทั้งหากมีอาการไม่สบาย ถ่ายไม่ออก กินไม่ได้ ควรแจ้งคุณหมอ ส่วนเรื่องการกินคนไข้มักประสบปัญหาน้ำลายขม การกินของเปรี้ยวหวานก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และการแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ ก็ทำให้ผู้ป่วยทานอาหารได้มากขึ้นเช่นกัน

ในส่วนของคุณตุ่น ใช้วิธีการดื่มพวกอาหารเหลวแทนการกิน รวมถึงนอน หรือเดินขึ้นลงบันได และในบางเคสที่คนไข้นั่งโยกตัวไปมา ถือเป็นการระบายความเครียด ญาติผู้ดูแลควรเข้าใจผู้ป่วยด้วย


ผ่าตัดแล้วทำให้มะเร็งลามจริงหรือไม่?

คำตอบจากคุณหมอฆริกานต์
ในงานเสวนา “พลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง” ครั้งที่ 7 ที่รพ.ธรรมศาสตร์

“จริงๆ ก็มีส่วนถูกนะคะ ในมุมมองของหมอผ่าตัด การที่เป็นมะเร็งคือเรามีก้อนอยู่ในร่างกาย การไปจับสัมผัสก้อน บางทีมันทำให้เซลล์หรือเนื้อเยื่อบางส่วนของก้อนเนื้อเข้าไปในกระแสเลือดได้

เพียงแต่ว่าในการผ่าตัดปัจจุบัน คุณหมอจะมีวิธีการป้องกัน เช่น การห่อถุงพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้ก้อนแตก หรือแม้กระทั่งการควบคุมไม่ให้ตัวเซลล์มะเร็งเข้าไปในเส้นเลือดก่อนที่จะเอาก้อนเนื้อออกมา ถ้าตอบคำถามก็คือ มันมีโอกาสที่การผ่าตัดจะทำให้เซลล์มะเร็งเข้าไปในร่างกาย ซึ่งเราจะป้องกันอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่ผ่าตัดเลยก็อันตรายกว่า ก้อนมะเร็งก็จะยังอยู่ในร่างกายเรา ซึ่งจะทำให้มะเร็งมันกระจายและลุกลามไปได้แน่ๆ ค่ะ”

ส่วนการผ่าตัดเอาก้อนออกแล้ว ถือว่าจบการรักษาเลยหรือไม่ ไม่ให้ยาคีโม หรือ ฉายแสงต่อได้ไหม คุณหมอให้ความเห็นว่า “ขึ้นอยู่กับระยะ และชนิดของมะเร็ง การรักษามะเร็งบางอย่างด้วยการผ่าตัดก็อาจจะเพียงพอแล้ว แต่โดยทั่วไปส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเซลล์มะเร็งก็มีโอกาสที่จะกระจายไป โดยที่มันไม่ได้ปรากฏให้เราเห็น เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัดหรือฉายแสง เพื่อที่จะทำให้เซลล์มะเร็งไม่กระจายไปเพิ่มเติมค่ะ”


เป็นมะเร็งจะรักษาหายไหม?

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การรักษาด้วยการผ่าตัด ร่วมกับฉายรังสี และเคมีบำบัด มักจะทำให้มะเร็งยุบลงจนหายไปได้ ความหวังของหมอและผู้ป่วยคือ มะเร็งหายไปและไม่กลับมาอีกเลย เรามาทำความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับคำว่า “หาย” ก่อน

โดยทั่วการหายไปของมะเร็งหมายถึง การตรวจไม่พบมะเร็ง ไม่ว่าจะด้วยการตรวจร่างกาย หรือด้วยเอกซเรย์ หรือด้วยการตรวจเลือด เมื่อหายจากมะเร็งแล้ว เป็นไปได้ว่าอาจหายไปในวันที่ตรวจ แต่หลังจากนั้นมีการกลับมาใหม่ เมื่อมะเร็งกลับมาใหม่ ภาษาหมอเรียกว่า Relapse หรือ Recurrence ถ้าไม่เคยกลับมาอีกเลยแม้ว่าจะหยุดการรักษาไปนานแล้ว 5 ปี 10 ปี ก็เรียกว่า “หายขาด” จากมะเร็ง หรือ Cure

ดังนั้นถ้าตรวจไม่พบมะเร็ง อาจเรียกว่าหายจากมะเร็งได้ เราไม่มีทางรู้ว่า เป็นการหายชั่วคราว หรือหายขาด ภาษาหมอจึงรวมเรียกว่า Complete Remission หรืออาจเรียกว่า “โรคสงบ” ลงแล้ว เพื่อมิให้เข้าใจผิดว่า หายขาดแล้ว ถ้าโรคสงบลงได้ด้วยการผ่าตัด และหรือรังสี และหรือเคมีบำบัด แพทย์ก็จะหยุดการรักษา และติดตามเฝ้าดูโดยการตรวจด้วยเอกซเรย์และหรือตรวจเลือด แล้วลุ้นว่าจะไม่มีก้อนหรือเซลล์มะเร็งกลับมาอีก หากหยุดยายิ่งนานแล้วตรวจไม่พบมะเร็ง ก็จะมั่นใจขึ้นเรื่อย ๆ ว่า คงจะ “หายขาด” โดยทั่วไป หากหยุดยาไปตั้ง 5 ปีก็ตรวจไม่พบมะเร็งเสียที ก็มักจะมั่นใจพอที่จะประกาศได้ว่า หายขาดจากมะเร็งแล้ว วงการแพทย์จึงมักใช้สถิติ “ระยะปลอดโรค 5 ปี” หรือ “5-year disease-free survival” ไว้เปรียบเทียบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งชนิดต่าง ๆ

การรักษาบางอย่าง เช่นยามุ่งเป้า จะทำให้มะเร็งหายไปได้ คือโรคสงบ ตราบเท่าที่กินยานั้นอยู่ แต่ถ้าหยุดยาเมื่อไร มะเร็งก็จะปรากฏขึ้นอีก ดังนั้นจึงไม่สามารถเรียกได้ว่า “หายขาด” การรักษานี้จึงหยุดไม่ได้ หรือบางครั้งกินยาไปแล้วหลายเดือนหลายปี มะเร็งบางตัวเกิดดื้อยาขึ้นมา มันก็ปรากฏตัวขึ้นทั้งที่ยังกินยาอยู่ต่อเนื่อง ก็เรียกได้ว่าการรักษาล้มเหลว ไม่หายแน่แล้ว

ยาบางอย่าง และยาสมุนไพร อาจทำให้มะเร็งหยุดโต แต่ยังคงเป็นก้อนอยู่ ไม่หายไป ก็ไม่สามารถเรียกว่า ยานั้นทำให้มะเร็งหาย แค่หยุดโตชั่วคราวแต่มะเร็งไม่ตาย โดยการใช้ยาเหล่านี้อาจให้ผลที่แตกต่างไปในแต่ละบุคคล และบางอย่างยังไม่มีผลวิจัยรับรองทางการแพทย์ว่าสามารถช่วยรักษาได้หรือไม่ หากต้องการใช้ควบคู่กับการรักษาควรแจ้งปรึกษาหมอที่ดูแลก่อนใช้

ถ้ามะเร็งไม่หาย มันก็อาจจะโตขึ้นตามเวลา และหรือกระจายไปอวัยวะอื่นที่อยู่ไกลออกไป ภาษาหมอเรียกว่า “Metastasis” ซึ่งมักไม่ทำให้ผู้ป่วยตายทันที ยังมีเวลาใช้ชีวิตอยู่บ้าง แต่เวลาที่เหลืออยู่นั้นไม่แน่นอน คาดเดาได้ยาก จนเมื่อมะเร็งกระจายไปอวัยวะสำคัญ คือ สมอง ตับ หรือปอด ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน

เทคโนโลยีการรักษาแบบใหม่ช่วยให้หายจากมะเร็งได้จริงหรือ?

คำตอบจากแพทย์หญิงกาญจนา อารีรัตนเวช
นายแพทย์ชำนาญการ แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทั่วไปและศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี งานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 10

“จากกรณีของต่างประเทศที่ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายสามารถรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดได้ อันที่จริงคำว่าการรักษาด้วย “ภูมิคุ้มกันบำบัด” เป็นกลุ่มคำในกลุ่มกว้างๆ แต่ว่าในการรักษายังมีเทคโนโลยีอีกหลายชนิด บางชนิดมาในรูปแบบของยาที่ออกฤทธิ์ แต่หลักการก็คือ เป็นยาที่ฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้นในภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ออกมาจับ หรือต้านหรือสู้ที่มะเร็งนั้นเอง แต่ก็ยังมีอีกวิธีคือ การเอาเซลล์จากคนไข้ที่เป็นมะเร็งไปเพาะให้จับกับตัวที่กระตุ้นแล้วฉีดเข้าไปใหม่ เพื่อสู้กับมะเร็งหรือว่าจะเป็นยากลุ่มอื่น แต่ข้อมูลที่ได้ออกมาตอนนี้ยังเป็นการรักษาในกลุ่มของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังเมลาโนม่า มะเร็งปอด แต่ว่ายังไม่ได้ใช้กับกลุ่มมะเร็งระยะแรก หรือขั้นต้น

แต่สำหรับมะเร็งอื่นๆ ด้วยความที่ผลตอบรับมันดีมาก จึงยังอยู่ในขั้นวิจัยเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม แต่ว่าข้อมูลยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยอยู่ ส่วนผลว่าจะหายขาดหรือไม่ มันเป็นการเอาผลที่ดีที่สุดมาพูด ซึ่งจริงๆแล้วเผลคือป็นการคุมระยะของโรคให้นานขึ้น เพราะว่ายานำมาใช้กับกลุ่มในระยะ 4 เพราะยาที่ใช้รักษาไม่ตอบสนองต่อยาอื่นๆแล้ว ทำให้ควบคุมโรคได้นานขึ้น

ในส่วนเทคโนยีใหม่ๆของการผ่าตัด เช่น การส่องกล้อง การใช้หุ่นยนต์ ปัจจุบันการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีการพัฒนา จนข้อมูลเอามาเทียบว่าได้รับมาตราฐานที่ใกล้เคียงกับการผ่าตัดธรรมดา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะ และความเชี่ยวชาญของสถาบันนั้นๆ เช่น ก้อนเล็กๆ หรือการผ่าตัดในมะเร็งลำไส้ ซึ่งจะเป็นที่เล็กๆ สามารถทำได้จากอุปกรณ์ และเป็นระยะต้น ที่ไม่แพร่กระจาย หรือในเรื่องของมะเร็งเต้านมที่ลดภาวะแทรกซ้อนค่ะ”

3 อาการเตือนที่บอกว่าผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤติ มีอะไรบ้าง?

คำตอบจากคุณหมอฆริกานต์ ในงานเสวนา “พลิกมุมมองใหม่เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง” ครั้งที่ 7 ที่รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

“จริงๆ แล้วเซลล์มะเร็งก็เหมือนเป็นเซลล์หนึ่งในร่างกายค่ะ ยาเคมีบำบัด ที่เขานำมาใช้กับคนไข้ เป้าหมายหลักคือ เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกไป แต่มันอาจจะมีผลบางส่วนที่กระทบกับร่างกายเรา เช่น เรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งช่วงที่คนไข้ให้เคมีบำบัด เป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันบางตัวจะถูกกดไปด้วย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุหลักเลยที่ทำให้คนไข้โรคมะเร็ง
ไม่ว่าจะระยะไหนก็ตามต้องเข้ารับการรักษาตัวใน icu เพราะมีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาต่างๆ โดยที่มีวิธีสังเกตอาการได้ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้การติดเชื้อรุนแรงมากได้ เช่นการสังเกต

1. อุณหภูมิร่างกาย ถ้าเราผ่าตัดมา คนไข้ควรจะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งเรารู้สึกปวดแผล มีไข้ ก็เป็นสัญญาณหนึ่งว่า ผิดปกติ กรณีที่คนไข้ไม่ได้ผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัดทั่วไป ก็จะสังเกตได้จาก ไข้ โดยทั่วไป คนที่ภูมิคุ้มกันต่ำจะไม่ค่อยมีไข้ ถ้ามีไข้ขึ้นมาถือว่าผิดปกติเช่นกัน ในทางแพทย์ถ้าอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.8 จะต้องเริ่มเฝ้าระวังว่าเราจะอาจจะมีอาการติดเชื้อแทรกซ้อนอยู่

2. ลักษณะการหายใจ สมมุติมีอาการหายใจเร็วหรือหายใจเหนื่อยหอบ ซึ่งบางทีคนไข้อาจจะไม่รู้ตัว แต่ว่าคนรอบข้างที่เป็นผู้ดูแลจะเป็นคนสังเกต อย่างเช่น เดิมเราเป็นคนพูดได้จบประโยค พูดเร็วๆ ไม่เหนื่อยเลย อยู่มาวันหนึ่งพูดได้ 2-3 คำก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว อันนี้ก็บ่งบอกได้ว่า การหายใจเราอาจจะมีปัญหา

3. ระดับความรู้สึกตัว คนไข้มีอาการซึมลง ไม่ตอบสนอง หรือมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อยลง เหล่านี้ก็เป็นอาการที่ควรเฝ้าระวังที่อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาล ”


มะเร็งระยะลุกลามแล้วรักษาไม่ได้จริงหรือไม่

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งระยะลุกลาม หมายถึง มะเร็งที่ได้กระจายออกนอกอวัยวะที่เริ่มต้น ตั้งแต่วันแรกที่วินิจฉัย หรือหมายถึงมะเร็งที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ ภายหลังการรักษารอบแรก โดยปรากฏขึ้นใหม่ที่เดิม หรืออวัยวะอื่น เช่น กระดูก ตับ ปอด สมอง

วิธีการรักษามะเร็งระยะลุกลาม มีหลายวิธีประกอบกัน คือผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และวิธีอื่น ๆ รวมทั้งการแพทย์ทางเลือก และการดูแลประคับประคอง แต่ผู้ป่วยพึงทราบว่า โอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งนั้นน้อยกว่ามะเร็งระยะแรก หรือไม่มีเลย แล้วแต่ชนิดของมะเร็ง มะเร็งหลายชนิดแม้ลุกลามแล้วก็ยังอาจรักษาหายขาดได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไธรอยด์ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งเซลสืบพันธุ์ มะเร็งในเด็ก แต่มะเร็งหลายชนิดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่นมะเร็งสมอง มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด

มะเร็งระยะที่ 3 มักหมายถึง มะเร็งที่เป็นก้อนใหญ่เกินกว่าที่จะผ่าตัดได้หมด หรือว่ามะเร็งที่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองรอบอวัยวะเริ่มแรกแล้ว แต่ยังมิได้กระจายไปอวัยวะอื่น เช่น กระดูก ตับ ปอด สมอง เมื่อแรกวินิจฉัยมะเร็งแพทย์จึงมักส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของช่องท้อง และหรือปอด หรือเอกซเรย์ปอด และการตรวจสแกนกระดูก หากไม่พบรอยโรคในอวัยวะเหล่านี้เลย ก็เรียกว่าระยะที่ 3 แต่ถ้าพบแม้ในอวัยวะหนึ่ง ก็เรียกว่า ระยะที่ 4

การผ่าตัด จะไม่สามารถทำให้หายขาดจากมะเร็งระยะลุกลาม ดังนั้นศัลยแพทย์มักจะไม่แนะนำให้ผ่าตัด เพราะว่าถึงจะผ่าตัดเอาก้อนใหญ่ออกไปได้ ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตในภายหลังจากมะเร็งที่กระจายไปที่อวัยวะอื่น ผู้ป่วยจึงเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น เว้นแต่การผ่าตัดนั้นเป็นไปเพื่อบำบัดอาการ เช่น ก้อนมะเร็งทำให้ท่ออุดตัน เช่นลำไส้อุดตัน ท่อปัสสาวะอุดตัน จะเจ็บปวดทรมาน การผ่าตัดเบี่ยงทางเดินของท่อทำให้หายปวดทรมานได้ ก็จำเป็นต้องทำ แต่ไม่ทำให้โรคหายขาด หรือผ่าตัดก้อนออกเพื่อมิให้เกิดเป็นแผล เช่น โรคมะเร็งเต้านมระยะที่สาม ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ผ่าตัดก้อนมะเร็งทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังไม่หาย เรียกว่า การผ่าตัดแบบประคับประคอง

การฉายรังสี จะไม่สามารถทำให้หายขาดจากมะเร็งระยะลุกลาม แต่อาจจะทำให้ก้อนโตช้าลง ไม่รบกวนชีวิตของผู้ป่วย หรือเพื่อบำบัดอาการ เช่น มะเร็งที่กระจายไปกระดูกทำให้เกิดความเจ็บปวด การฉายรังสีเฉพาะตรงที่ปวด จะทำให้หายปวดได้ เพิ่มคุณภาพชีวิต เรียกว่า การฉายรังสีแบบประคับประคอง การฉายรังสีจึงไม่ต้องให้ปริมาณมากเท่าการรักษามะเร็งที่หวังหายขาดได้ ผลข้างเคียงจะเวลาที่ฉายรังสีมักใช้เวลาไม่กี่วัน

ยาเคมีบำบัด จะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ ทั้งตรงที่ก้อนเริ่มแรก และมะเร็งที่กระจายไปแล้ว ในกรณีมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ ระยะที่ 3 การรักษาให้ยาเคมีบำบัดอาจลดขนาดก้อนลง จนสามารถทำการผ่าตัดและฉายรังสี และหวังหายขาดได้ แต่หากเป็นระยะที่ 4 การให้ยาเคมีบำบัด และหรือ การฉายรังสี และการผ่าตัดมักทำให้ก้อนขนาดเล็กลง หรือหายไปชั่วคราว แต่ในที่สุดมะเร็งจะกลับมาใหม่ การรักษาจึงไม่อาจหวังให้หายขาดได้ แต่อาจยืดชีวิตผู้ป่วยได้ระยะหนึ่ง

ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 3 หรือระยะแรก ที่ได้รับการรักษามาตรฐานแล้ว แต่มะเร็งกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แสดงว่าไม่หายขาด เซลล์มะเร็งที่กลับมาใหม่นี้ ย่อมเป็นมะเร็งที่ดื้อยา และดื้อรังสี โอกาสรักษาหายขาดจึงน้อยมาก ไม่ต่างจากผู้ที่เป็นมะเร็งระยะที่ 4 การรักษาใด ๆ จึงหวังได้เพียงการยืดเวลาที่จะมีชีวิตอยู่ และต้องแลกด้วยผลข้างเคียงของการรักษา ความเจ็บปวดของวิธีการรักษา เวลาที่จะใช้ในโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ผู้ป่วยและครอบครัวพึงตัดสินใจร่วมกันกับทีมแพทย์พยาบาลผู้ให้การรักษาว่า ทางเลือกในการรักษาอย่างใดจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยมากที่สุด

ผู้ป่วยจำนวนมากมองว่า การยืดชีวิตมิใช่สิ่งที่เขาต้องการ หากชีวิตที่ยาวขึ้นนั้นจะต้องเจ็บปวดทรมาน จากตัวโรค หรือจากความพยายามในการรักษา เช่น เจ็บตัวจากการผ่าตัด จากการเจาะเลือด การตรวจวินิจฉัย หรือจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ผู้ที่เข้าใจสัจธรรมว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา แค่ไม่อยากทรมาน ไม่อยากเสียเวลาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่าย อยากใช้ชีวิตเต็มที่ อยู่กับมะเร็งอย่างสันติ ผู้ป่วยย่อมมีสิทธิเลือกที่จะไม่รับการรักษา ผู้ป่วยและครอบครัว ควรได้รับการส่งต่อไปพบทีมแพทย์พยาบาลประคับประคอง (Palliative Care Team) เพื่อวางแผนชีวิต เติมเต็มคุณภาพชีวิต และวางแผนบำบัดความเจ็บปวดและอาการรบกวนอย่างเต็มที่ และยังคงได้รับการฉายรังสีแบบประคับประคอง เพื่อบำบัดอาการรบกวนและเพิ่มคุณภาพชีวิต ร่วมกันได้

ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม บางคนอาจยังหวังที่จะหาย แต่ไม่ต้องการยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยและครอบครัวย่อมสามารถทดลองการแพทย์ทางเลือกแบบต่าง ๆ พร้อมไปกับการดูแลประคับประคอง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตเต็มที่และไม่เจ็บปวดทรมานในกรณีที่โรคมะเร็งเป็นมากขึ้นตามเวลา คนรอบตัว และญาติ พึงเคารพในแนวทางที่ผู้ป่วยเลือก และสนับสนุน

ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามหลายคน ยังไม่พร้อมที่จะตาย ต้องการยืดชีวิต และพร้อมที่จะแลกกับผลข้างเคียงของยา ความเจ็บปวดที่เกิดจากการรักษา ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และเวลาที่ใช้ในการเข้าออกโรงพยาบาล ทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาจะให้การรักษาตามประสงค์ได้ หากท่านยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องจากความพยายามในการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตเร็วขึ้น โดยจะให้สูตรยาที่ทำให้มีโอกาสยืดชีวิตได้นานที่สุดก่อน แต่เราจะไม่แปลกใจหากมะเร็งไม่หายขาด และกลับมาใหม่ แพทย์ไม่อาจบอกได้ว่ามะเร็งจะกลับมาเมื่อใด เราบอกได้เพียงว่า การให้ยาน่าจะทำให้อยู่นานขึ้นกว่าไม่ให้ยา ทุกครั้งที่มะเร็งกลับมาแสดงว่ามันดื้อยานั้น และยาทั้งหมดที่เคยได้รับมาทั้งหมด การตัดสินใจให้ยารอบใหม่ จำเป็นต้องชั่งผลดี และผลเสียที่เกิดขึ้น หากผลเสีย อันได้แก่ผลข้างเคียง ค่าใช้จ่าย และคุณภาพชีวิตที่ลดลง มากกว่าผลดี ผู้ป่วยจะขอหยุดหรือเปลี่ยนการรักษาเมื่อใดก็ได้ และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งการรักษาที่เหลือ อาจมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี แพทย์ก็จะไม่แนะนำให้ไปต่อ

ในบางกรณี แพทย์อาจชักชวนผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัยยาใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า ยาใหม่อาจรักษามะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นได้บ้างหรือไม่ แพทย์จะนำเสนอทางเลือกนี้เมื่อมีโครงการวิจัยที่ตรงกับสภาวะโรคของผู้ป่วย ในเวลานั้น ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัยจะได้รับยาฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่พึงปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการวิจัยอย่างเคร่งครัด และไม่อาจคาดหวังผลของการรักษาในโครงการวิจัยได้

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมียามุ่งเป้า หรือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือการรักษาที่เหมาะกับโรคที่เป็นโดยมิใช่เคมีบำบัด (ดูรายละเอียดในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง) ผู้ป่วยพึงทราบว่า ยามุ่งเป้า การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ยังมิได้เป็นมาตรฐานในการรักษามะเร็งส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อาจได้ผลกับมะเร็งเพียงบางชนิด และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ผู้ป่วยพึงพิจารณาให้เหมาะสมกับฐานะของตน

เป็นมะเร็งแล้วขอไม่รักษาได้หรือไม่

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การรักษามะเร็ง เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่าง ผู้ป่วย ครอบครัว และทีมแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา มิใช่หน้าที่ของแพทย์ มิใช่การตัดสินของญาติ การรักษามะเร็งมีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยต้องให้การอนุญาตก่อน เป็นลายลักษณ์อักษร แพทย์จึงจะทำการผ่าตัด ฉายรังสี ให้ยาเคมีบำบัด หรือยาอื่นได้ ผู้ป่วยต้องยอมแลกด้วยความเจ็บตัว ความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง การมาโรงพยาบาล และค่าใช้จ่าย เพื่อโอกาสที่จะหายขาดจากมะเร็ง ผู้ป่วยที่ไม่ยอมแลกกับโอกาสหายขาด ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาเสี่ยงอันตรายเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะปฏิเสธการรักษา ขอให้ลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งดูก่อน ว่าการรักษาในปัจจุบัน มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากมะเร็งมากน้อยเพียงใด มะเร็งหลายชนิดโดยเฉพาะมะเร็งที่พบในระยะแรก มีโอกาสหายขาดได้มาก ตัวอย่างเช่น มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดร้อยละ 99 มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 มีโอกาสหายขาดร้อยละ 93 โดยการรักษามาตรฐาน คือผ่าตัด และหรือ ฉายรังสี และหรือ เคมีบำบัด และคนไทยสามารถเข้าถึงการรักษานี้ในระบบสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หากขอไม่รักษา ลองสมุนไพรหรือการแพทย์ทางเลือกก่อน มะเร็งจะไม่หายและอาจลุกลามเป็นระยะ 3 หรือ 4 ในอีกหลายเดือน หรือหลายปีต่อมา เมื่อเปลี่ยนใจมารักษาตามมาตรฐานในภายหลัง​โอกาสหายขาดจะลดลงมาก เหลือเพียงร้อยละ 72 และ 20 เท่านั้น วงการแพทย์มองว่าเสียดายโอกาสในการรักษาให้หายขาด

สมุนไพร และการรักษาทางเลือก อาจทำให้มะเร็งเติบโตช้าลงได้จริง แต่ไม่สามารถทำให้มะเร็งหายขาดได้ หมายความว่าผู้ป่วยจะหยุดใช้ยาไม่ได้ ผู้ที่กินสมุนไพรและการแพทย์ทางเลือก อาจอยู่กับมะเร็งได้นานหลายปี และอาจใช้ชีวิตตามปกติ แต่หากเมื่อใดหยุดกิน ยานั้นหมดไปหาไม่ได้อีก สู้ค่าใช้จ่ายไม่ได้อีกต่อไป หรือ เสื่อมศรัทธา โรคมะเร็งก็จะกำเริบขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงต้องพึ่งทางเลือกนี้ไปตลอดชีวิต และเมื่อมะเร็งกำเริบมากขึ้น ไม่ดีจริงอย่างที่คิด ก็ไม่มีใครรับผิดชอบชีวิตของเรา

หากเป็นโรคมะเร็งที่รักษาหายขาดได้ แต่กลัวผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ฉายรังสี หรือเคมีบำบัด พึงปรึกษากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งชนิดเดียวกันที่เคยผ่านประสบการณ์ตรงมาแล้ว เพื่อฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง สอบถามวิธีการดูแลและจัดการกับสิ่งที่กังวล ที่อาจเกิดขึ้นกับการรักษา และหรือเล่าให้ทีมผู้ให้การดูแลรักษาฟังเกี่ยวกับความกังวลของเรา และหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งอีกแห่งหนึ่ง เป็น Second Opinion

หากผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ไม่บอกผู้ป่วยอย่างชัดเจนว่า มีอากาสหายขาดมาก เช่น เลี่ยงไม่ตอบ บอกว่าลองดูไปก่อน หรือบอกตรง ๆ ว่าโอกาสหายขาดน้อย และผู้ป่วยมีทัศนคติกับชีวิตและความตายว่า “ตายไม่กลัว กลัวทรมาน” ผู้ป่วยย่อมสามารถเลือกปฏิเสธการรักษาได้ ถึงแม้ว่าการรักษาอย่างเต็มที่ยังอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายหายขาดได้ ผู้ป่วยชั่งน้ำหนักแล้วว่า สิ่งที่จะต้องแลกนั้น ไม่เหมาะกับเขา เช่น โอกาสหายน้อยแต่ ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เจ็บตัวมากเกินไป เสียเวลาในโรงพยาบาลมากไป เขาย่อมเลือกได้ โดยการไม่ลงนามในเอกสารขออนุญาตให้แพทย์ทำการรักษา แพทย์ย่อมเคารพความประสงค์ของผู้ป่วยเสมอ

อย่างไรก็ดี ครอบครัวมักมีอิทธิพลมากต่อการดูแลผู้ป่วย หลายครอบครัวมักมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางการรักษา ครอบครัวส่วนใหญ่มักมีคนใดคนหนึ่งที่อยากให้ลองรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน และมีอีกคนหนึ่งเชียร์ธรรมชาติบำบัด อีกคนหนึ่งเชียร์อาหารเสริม อีกคนหนึ่งเชียร์ยาสมุนไพร และมีญาติห่าง ๆ เพื่อนบ้าน และเพื่อนฝูงผู้หวังดี ให้คำแนะนำอีกเป็นจำนวนมาก ครอบครัวที่มีความเห็นหลากหลาย พึงได้รับคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์พยาบาลประคับประคอง (Palliative Care Team) ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสาร และรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และจะช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวผู้ป่วย และแบ่งปันภาพรวมของการดูแลผู้ป่วยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และบำบัดอาการน่าทุกข์ทรมานมิให้เกิดขึ้น หรือหมดไป รวมทั้งการวางแผนในช่วงสุดท้ายของชีวิตเมื่อใกล้เวลา

การเตรียมตัวเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย

การรักษามะเร็งไม่จำเป็นต้องแพง

โดย ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การรักษามะเร็ง มีวิธีการที่ซับซ้อน ต้องพึ่งแพทย์และบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญหลายแผนก ได้แก่ ศัลยแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา และแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา การอยู่โรงพยาบาลย่อมมีค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ค่าเดินทาง การเฝ้าไข้ ค่ากินอยู่นอกบ้าน การขาดงาน อย่างไรก็ดี การรักษามะเร็งให้หายขาด อาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

วงการแพทย์และสาธารณสุขไทยตระหนักว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งและมีโอกาสหายขาดได้ พึงได้รับการรักษาเต็มที่ เพื่อให้มีโอกาสหายโดยไม่ขึ้นกับความสามารถในการชำระค่าใช้จ่าย ระบบสาธารณสุขของไทย จึงได้ออกแบบให้ ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งถ้วนหน้า โดยใช้สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์และรับการรักษามาตรฐานได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็จะมีระเบียบขั้นตอนในการใช้สิทธิ และต้องรับบริการที่โรงพยาบาลที่ระบุไว้ตามสิทธิ ผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์ที่จะทำตามขั้นตอน หรือต้องการรับบริการจากโรงพยาบาลที่เลือกเอง ก็สามารถทำได้โดยชำระค่าใช้จ่ายเอง

ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะแรก และมะเร็งที่มีโอกาสหายขาด ควรได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกัน ที่จะทำให้มีโอกาสหายสูงสุด คือการผ่าตัด ฉายรังสี และหรือเคมีบำบัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงได้ร่วมกันกำหนดสูตรยามาตรฐาน เพื่อให้การรักษาเป็นไปในทางเดียวกันทั้งประเทศ แม้ว่าการรักษาเต็มที่จะมีต้นทุนสูง แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้

ผู้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม ก็สามารถได้รับการรักษามาตรฐานพื้นฐานเช่นกัน การรักษามะเร็งลุกลามบางชนิดมีโอกาสหายขาด แต่มะเร็งหลายชนิดก็ไม่หายขาดไม่ว่าจะใช้ยาชนิดใด เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด และต้องดูแล ป้องกันและรักษาโรคสำคัญอีกหลายชนิดของประชากรไทย การรักษามะเร็งลุกลามจึงไม่อาจทำได้ครอบคลุมในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การรักษาฟรีจึงจำกัดไว้เฉพาะการรักษาตามมาตรฐานเท่านั้น หากผู้ป่วยประสงค์จะลองรักษาด้วยยาอื่น ๆ ที่แพทย์นำเสนอ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลุกลาม แต่ละรายมีทัศนคติต่อชีวิต การรักษาโรค และความตายไม่เหมือนกัน บางรายพยายามต่อสู้ ยอมเจ็บตัวและยอมจ่ายเอง เพื่อแลกกับโอกาสหายที่ไม่มากนัก หรือแลกกับเวลาที่ยาวขึ้น แต่ผู้ป่วยบางรายขอลองรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก ซึ่งจะไม่เจ็บตัวและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ไม่ประสงค์จะรับการรักษาในตอนสุดท้ายของชีวิตด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่าง จึงเลือกไม่รักษา หรือหยุดการรักษา และใช้ชีวิตต่อไปแบบปกติ ผู้ที่คิดเช่นนี้ย่อมสามารถรับบริการในระบบสาธารณสุขต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

การรักษามะเร็งลุกลาม จึงอาจมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้ป่วยและครอบครัว ผู้ป่วยมะเร็งพึงวางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสม ไม่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ผู้ป่วยพึงพิจารณาว่า การรักษาใหม่ที่เป็นความหวังสำหรับโรคมะเร็งลุกลามนั้น อาจมีค่าใช้จ่ายเดือนละหลายหมื่น หรือหลายแสนบาท ต่อเนื่องไปจนกว่ามะเร็งจะดื้อยา หรือขอหยุดการรักษาไปเอง เงินจำนวนเดียวกันนี้อาจสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตและครอบครัวในทางอื่นได้หรือไม่

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสิทธิต่าง ๆ ได้ที่ :

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
สายด่วน สปสช. พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 1330

www.nhso.go.th

สำนักงานประกันสังคม
สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506

www.sso.go.th

ผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคประจำตัว มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย จริงหรือไม่?

คำตอบจาก ผศ.พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ ภาควิชาศัลยกรรม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

“ไม่จริงค่ะ การเป็นมะเร็งทั่วไป คือมะเร็งอวัยวะอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับมะเร็งเม็ดเลือด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด ซึ่งไม่ได้ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงคะ แต่ในช่วงที่ได้รับการรักษา เช่น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือ ช่วงที่รักษาด้วยการฉายแสง มักจะมีผลต่อไขกระดูก ซึ่งเป็นที่อยู่ของเซลล์ที่สร้างเม็ดเลือดต่างๆ โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาว ทำให้มีภูมิต้านทานที่ต่ำลงได้ จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

แต่ว่าส่วนใหญ่จะมีผลชั่วคราว หมายความว่า การรักษาแล้วร่างกายจะมีการซ่อมแซมตัวเองกลับมาได้ใหม่ ถ้าหากสงสัยว่าเม็ดเลือดขาวกลับมาอยู่ในระดับปกติหรือไม่ แนะนำให้คนไข้สอบถามคุณหมอที่รักษาได้เลยค่ะ โดยส่วนใหญ่คุณหมอมักตรวจติดตาม จนกว่าระดับเม็ดเลือดขาวกลับไปอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วค่ะ”

เป็นมะเร็งแล้ว เบื่ออาหาร ทานลำบาก ทำยังไง?

คำตอบจาก รศ.นพ. ศรีชัย ครุสันธิ์ และ พญ. กิตต์วดี ศักดิ์ศรชัย จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ครั้งที่ 2 และ 4

“ช่วงที่รักษา การให้ยาเคมี หรือ ฉายรังสีบริเวณกว้างๆ เราจะพบว่าเม็ดเลือดขาวจะต่ำ ซึ่งเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ในการต่อสู้และปกป้องสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายและ เชื้อโรค รวมถึงการทำลายเซลล์มะเร็ง ภูมิคุ้มกันร่างกายจึงมีความสำคัญ ในช่วงจังหวะที่เราฉายแสง ให้ยาเคมี จึงต้องดูแลสุขภาพ การทานอาหารและสุขอนามัยให้ดี เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน”

“ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างรักษา เช่น การฉายแสงทำให้มีอาการกลืนยาก น้ำลายขม น้ำลายแห้ง และมีอาการเบื่ออาหาร เนื่องจากการฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะที่ ถ้าฉายรักษาตรงส่วนไหนก็จะมีอาการเฉพาะตรงนั้น เช่น ถ้าฉายตรงปาก ลำคอ ก็มีจะอาการคอแห้ง เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ไม่รู้รสชาติ ถ้าฉายที่ท้อง บางทีจะมีอาหารท้องเสีย ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

ดังนั้นลักษณะอาหารที่เราควรทานจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เราจะฉาย เช่น การฉายบริเวณปากและคอ พอฉายไปสักประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาหารที่เราแนะนำก็จะเป็นอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด สุกสะอาด และการทานอาหารไม่จำเป็นต้องทานเป็นมื้อใหญ่ๆ เพราะในคนที่อยู่ในระหว่างรักษา ความรู้สึกอาหารจะน้อย แล้วบางคนมีอาการคลื่นไส้ พอทานเข้าไปเยอะๆ แล้วก็อาจจะอาเจียนออกมา จึงต้องทยอยทาน และต้องครบหมู่ หรือเปลี่ยนวิธีการทานอาหารจาก 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น เป็นทานบ่อยๆ แต่ได้ปริมาณที่เท่ากัน หมั่นคอยสังเกตตัวเองว่า มื้อไหนทานได้เยอะ เช่น บางคนตื่นเช้ามาทานได้เยอะ แต่พอช่วงเที่ยง ถึงเย็น เริ่มคลื่นไส้ ก็จะไปเน้นมื้อเช้าเป็นมื้อหลักที่ทานเยอะ และก็จะมีอาหารบางอย่างที่ช่วยชูรสได้เช่น อาหารเปรี้ยวๆ ทำให้น้ำลายไหล และทานได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่กลืนลำบาก นอกจากโจ๊ก ข้าวต้ม สามารถเลือกทานอาหารที่กลืนง่ายและเย็น เช่น เจลลี่ ก็ให้พลังงานได้เช่นกัน”

“อย่างบางรายที่รักษาทางปาก ก็จะมีการใส่สาย หรือ อาหารเหลว อาหารเสริมให้ครบหมู่ และหลากหลาย สุก สะอาด ปัญหาอยู่ที่บางครั้ง ญาติบางคนกดดันคนไข้มากเกินไป ห้ามกินไข่ ห้ามกินน้ำตาล จนคนไข้ไม่อยากกินอะไรเลย

บางคนชอบทานส้มตำ ซึ่งมีปลาร้าที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ทำให้เป็นโรคไตได้ เพราะคนกินอาหารเค็มกันเยอะ เพราะฉะนั้นต้องหมุมเวียนให้หลากหลาย อีกอย่างแหล่งที่มาอาหารมักมีสิ่งเจือปน ปรุงแต่ง ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าเรากินซ้ำเหมือนเดิม มันก็จะสะสม แต่ถ้าเราหมุนเวียนไป โอกาสที่สะสมก็น้อยเพราะกินไป ก็ขับถ่ายไป”

เมื่อมีผู้ป่วยถามถึง ไขมันปลา สามารถทานได้หรือไม่ อาจารย์ศรีชัยได้ให้ความรู้เพิ่มเติม

“ไขมันมีทั้งไขมันดี และไม่ดี แต่ไขมันบางอย่างพอไปผ่านกระบวนการเช่น ปิ้งย่าง จะกลายสภาพเป็น คาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ไขมันจากปลาส่วนใหญ่เป็นไขมันดี แต่จริงๆเราไม่จำเป็นต้องกินส่วนพุงของมัน เพราะร่างกายเราไม่ได้ต้องการไขมันเยอะขนาดนั้น คนป่วยต้องการกินอะไรที่ย่อยง่าย จริงๆเนื้อสัตว์ หมู ไก่ กินได้ แต่บางทีเนื้อไก่มีการฉีดสารเร่ง กลายเป็นตัวกระตุ้น ดังนั้นขอให้สุกไว้ก่อน อันไหนที่ผ่านการปรุงแต่ง เช่น เอาไปหมัก รมควัน พวกนั้นจะมีการใส่สารปรุงแต่ง เช่น ไนไตรด บอเร็กซ์ เราควรหลีกเลี่ยง หรือ ทานให้พอลิ้มรส สักคำสองคำ

เมื่อถามถึงการดื่มซุบไก่สกัด อาจารย์เสริมว่า “ถ้าพูดถึงคุณค่าอาหารจริงๆ แล้ว โปรตีนจากซุบไก่ยังสู้นมกล่องหนึ่งไม่ได้ แต่เป็นวัฒนธรรม หรือค่านิยมที่ว่าของแพงต้องดี แต่อย่างในคนสูงอายุก็ไม่ควรทานนมที่ไขมันเยอะ ควรเลือกที่เป็นพร่องไขมัน เพราะจะได้ทั้งโปรตีน และแคลเซียมบำรุงกระดูกด้วย หรือแม้กระทั่งในนมถั่วเหลืองก็มีโปรตีนบำรุงร่างกาย เพราะมีเอสโตรเจนที่เป็นเหมือนฮอร์โมนที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ความเป็นจริงแล้วเอสโตรเจนของพืช เป็นสารต้านมะเร็งเต้านม มีฤทธิ์เหมือนยาต้านมะเร็ง มีงานวิจัยที่พบว่าชนชาติที่กินเต้าหู้มีโอกาสเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม น้อยกว่าชนชาติที่ไม่กินถึงครึ่งหนึ่ง”

คุณเบลล่าพิธีกรได้กล่าวทิ้งท้าย “ผู้ป่วยควรกินให้เป็นหน้าที่ หน้าที่เราคือ รักษาร่างกายให้สู้กับยาได้ สิ่งสำคัญคือ การกินให้มีความสุข และมีวินัยในการกิน”

แพทย์ทางเลือกรักษาควบคู่กับแพทย์ปัจจุบันได้หรือไม่?

คำตอบจากคุณหมอพงศธร

“แพทย์ทางเลือก ถ้าเอาคำนิยามของเป้าหมายนะครับ ควรเป็นการรักษาที่เรารักษาในปัจจุบันที่ได้มาตรฐานแล้วไม่ได้ผล หรือรักษาแล้วทนไม่ไหว มีปัญหาเรื่องของอาการข้างเคียง หรือเป็นระยะสุดท้ายแล้ว คิดว่าแผนการรักษาปัจจุบันนี้ไม่มีอะไรที่จะให้เราแล้ว ก็คิดว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะไปลองได้นะครับ เพียงแต่ว่าควรจะคิดว่าแผนปัจจุบันไม่สามารถทำอะไรต่อได้แล้ว แต่มันไม่ใช่แค่นั้นครับ มันมีอะไรที่ต้องให้พิจารณามากกว่านั้น คือ…

1) มันปลอดภัยไหม เพราะหลายครั้งแพทย์ทางเลือกก็คือการใช้ยาในรูปแบบต่างๆ การใช้ยาสมุนไพร หรือยาอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้น พอเป็นยาหรือสารเคมี ทำให้มีผลต่อความปลอดภัยที่เราไม่ได้คิดถึงครับ แทนที่จะดีขึ้นกลับทรุดลงนะครับ
2) ประสิทธิภาพของตัวยา อันนี้อาจจะดูยาก ถ้าเป็นยาที่เขาเอามาขาย เขาก็จะบอกว่าดีนะ ไม่มีใครบอกว่าไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ต้องศึกษาข้อมูลดีๆ นะครับ เพราะการรักษาแผนทางเลือกบางอย่างมันก็เป็นการรักษาที่ได้ผล ข้อมูลชัดเจน ในแง่ที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สบายขึ้น แต่บางอย่างเนี่ยครับข้อมูลไม่ชัดเจน พอไม่ชัดเจนสิ่งที่ตามมาคือ ราคา ถ้าการรักษาที่ได้ผลไม่ชัดเจนแล้วต้องจ่ายแพงๆ เราจะจ่ายไหม? ความคุ้มค่า บางครั้งที่เราจ่ายเงินไป กินยาไปเกิดอาการข้างเคียงแล้วบางคนก็ไม่ได้อยู่นานขึ้นนะ ผมว่ามันต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง

“เพราะฉะนั้นถ้าจะให้สรุปเอาแบบกลางๆ นะครับ ก็คือ รักษาพยาบาลสายปัจจุบันตามที่หมอสั่งก่อน แล้วถ้าไม่สามารถทำอะไรได้เพิ่มเติมแล้ว จะลองพิจารณาดูได้ แต่ต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่พูดไป ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย อาการข้างเคียงจากยา ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าที่จะต้องลงไป”

คุณออยถามต่อว่า หากมีคนไข้ที่อยากจะรักษาแผนทางเลือกไปด้วย คนไข้ควรจะต้องระมัดระวังเรื่องอะไรเป็นพิเศษบ้าง หรือว่าควรแจ้งข้อมูลอะไรบ้างให้กับคุณหมอที่รักษาแผนปัจจุบันทราบบ้าง
คุณหมอพงศธรตอบ “การฝึกสมาธิอะไรแบบนี้ก็ไม่เป็นไร คงไม่มีอาการข้างเคียงอะไรมากมายนะครับ แต่หลายครั้งการใช้ยาในรูปแบบต่างๆ อันนี้ถ้าไปถามหมอ ผมเชื่อว่า 99% หมอไม่เห็นด้วย แต่ถ้าคุณจำเป็น ก็รักษาคู่กันไป แต่ผมขอทราบว่ายาที่รับประทาน ที่ได้มาคืออะไรนะครับ เพราะบางครั้งมันอาจจะมีอะไรที่มันไปทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรือ Side Effects กับเรา หรือมันมีการเพิ่มยึด เสริมยึด ไปลดประสิทธิภาพของยาแผนปัจจุบัน สรุปถ้าคุณต้องทานจริงๆ ต้องบอกหมอที่รักษา อย่าไปอุ๊บอิ๊บทานเอง แล้วเป็นอะไรขึ้นมาแก้ไม่ทัน สารเคมียังไงก็มีอาการข้างเคียงไม่ว่ามากหรือน้อยครับ”

เป็นมะเร็ง ควรงดน้ำตาลและโปรตีนจริงหรือไม่

คำตอบจากคุณหมออุดมศักดิ์

“ถ้าให้ผมแนะนำคือ ยึดทางสายกลาง อะไรที่ไม่มีเลย งดทุกอย่างเลยก็ไม่ได้ หรืออะไรที่มากไปมันก็ไม่ดี มันเป็นหลักสากลคือ มะเร็ง เวลามันใช้เมตาบอลิซึม เพื่อสร้างพลังงาน มันใช้น้ำตาลจริงๆ แต่เซลล์ร่างกายเราก็ต้องใช้น้ำตาลด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราอดน้ำตาล มะเร็งก็ตายนะ เราก็ตายด้วย เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ถูกใช่ไหมครับ

โดยหลักการก็คือว่า เวลาเรารักษาให้ยาคีโมบำบัด สิ่งที่ร่างกายเราต้องการก็คือ 1. พลังงาน 2. การซ่อมแซมอวัยวะที่เสื่อมสลายไปในช่วงให้ยา 3. ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย สามอันหลักเป็นเรื่องที่สำคัญ พลังงาน มาจาก 3 แหล่ง คาร์โบไฮเดรตก็คือรวมพวกน้ำตาล โปรตีน และไขมัน โดยปกติเราจะแนะนำว่า ผู้ป่วยจะให้ทานโปรตีนเยอะขึ้น เพราะเป็นแหล่งให้พลังงาน แล้วลดน้ำตาลลง ถ้ากลัวเรื่องมะเร็งใช้น้ำตาล หรือเราให้ยาสเตียรอยด์ กับกลุ่มคนไข้โรคเลือดก็ทำให้ระดับน้ำตาลสูงได้ ก็ให้ทานแป้งและน้ำตาลน้อยลงหน่อย แล้วไปทานโปรตีนเพิ่มขึ้น นอกจากให้พลังงานแล้ว โปรตีนก็จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โปรตีนเราก็เลือกโปรตีนที่ดี ได้แก่ โปรตีนจากเนื้อปลา เวลาเราได้ยาอาจมีการย่อยลำบาก มีการอาเจียน พวกย่อยยากๆ โปรตีนจากเนื้อปลาเป็นโปรตีนที่ดี คุณภาพดี ให้พลังงาน ย่อยง่าย โปรตีนจากไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เป็นต้น อันนี้เป็นตัวช่วย โปรตีนก็ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายเราด้วย ไขมันก็เลือกไขมันดี พูดง่ายๆ ก็คือ การเลือกทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ แล้วก็ทานแบบสายกลาง ทานผลไม้ที่สะอาด ลดแป้งลงหน่อยถ้ากลัวมะเร็งจะกินน้ำตาล แต่อย่างที่ผมบอกถ้าเราลดลงเกลี้ยงก็จะตายไปพร้อมกันเลย”

ภาชนะใส่อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง สำคัญแค่ไหน?

คำตอบจาก รศ.นพ. ศรีชัย ครุสันธิ์ จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ครั้งที่ 4 ณ โรงพยายาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


“ในความเป็นจริงแล้วเรื่องอาหารก็มีส่วนในการเกิดมะเร็งหลายๆ อย่าง ทั้งในส่วนสุขภาพและภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะฉะนั้น ถ้าไปรับสารอาหารที่มีส่วนในการสนับสนุนที่ก่อให้เกิดมะเร็งก็ทำให้เป็นมะเร็งได้ และยิ่งเรากำลังรักษาอยู่แล้ว ยังรับสิ่งเหล่านั้นเข้าไปในร่างกาย นอกจากโรคมันจะไม่หาย และยังกลับคืนมาใหม่ได้อีก อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติของคนเราต้องการสารอาหารครบกลุ่ม ถ้าเราขาดสารอาหารก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันแย่ลง โรคมะเร็งก็จะลุกลามไปได้ อีกทั้งการทนต่อการรักษาเช่น ฉายแสง ทำคีโมก็จะแย่ลง”

ในส่วนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งโพรงมดลูก เราไม่แนะนำอาหารเช่น พวกอาหารที่มีไขมันสูง เพราะในไขมันมีคอเลสเตอรอล ซึ่งมีส่วนในการที่เอาไปสร้างฮอร์โมนทางเพศ นั่นคือ เอสโตรเจน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นอาหารพวกที่มันๆ ทอดๆ ก็ควรลดหรือหลีกเลี่ยง แต่ไม่ใช่ไม่ให้กินเลย เพราะว่าร่างกายต้องการไขมันเหมือนกันเพื่อไปใช้ในการสร้างพลังงาน


นอกจากอาหารแล้ว ยังมีบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับที่เจือปนมากับอาหาร ที่เป็นสารเคมี และยา ที่บางทีเราไม่รู้ตัว เช่น การกินยาคุมกำเนิด เป็นยาฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีเอสโตรเจนที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งโพรงมดลูกได้

“สารเคมีที่เจือปนมากับสิ่งที่เราทาน ยกตัวอย่าง เช่น ภาชนะที่เราใส่อาหารและน้ำที่เป็นพวกพลาสติกใส มันมีสารพวกโพลีคาบอร์เนต ซึ่งมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งหรือ BPA อยู่ สารพวกนี้จะละลายออกมาเมื่อโดนความร้อน เพราะฉะนั้นภาชนะที่เราใส่พวกน้ำ หรืออาหารในพลาสติกใส ถ้ามันโดนความร้อน สาร BPA มันจะละลายออกมา ถ้ามันเย็นๆ ไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าเราเอาไปตากแดด หรือต้มน้ำร้อนๆ กรอกใส่ลงไป แล้วเราไปกิน หรือเวลาเราไปร้านสะดวกซื้อ แล้วซื้ออาหารที่มันอยู่ในกล่องโฟม กล่องพลาสติก แล้วเอามาเข้าไมโครเวฟ พอโดนความร้อนมันก็ละลายออกมาในอาหาร เรากินเข้าไปมันก็สะสมๆ สุดท้ายเราก็อาจเป็นมะเร็งได้”

“สังเกตได้ว่ามะเร็งมดลูก เต้านมในบ้านเรา เมื่ออดีต 10 ย้อนหลังไปเจอน้อยมาก แต่พอ 10 ปีผ่านมาเนี่ยเพิ่มขึ้นเยอะ พอเรามาย้อนดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็จะเห็นว่ายุคปัจจุบันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนขวด หรือภาชนะต่างๆ เราใช้แก้ว แต่เดี๋ยวนี้แก้วหายาก ราคาแพง เก็บยาก สมัยนี้เราจึงใช้พลาสติกหมดเลย ไม่ว่าจะใส่น้ำ น้ำปลา น้ำมัน น้ำส้ม ใส่อาหารทุกอย่าง เราใช้พลาสติกหมดเลย ใช้แล้วก็โยนทิ้งไปเป็นขยะ 100 ร้อยปีกว่าจะสลาย บางทีใช้หมดแล้ว แล้วก็เสียดายเอาไปใช้ต่อ ใช้กรอกน้ำร้อนที่บ้าน แทนที่จะปล่อยให้มันเย็นก่อน เราก็จะได้รับสารนี้ปนเปื้อนมาได้”

แม้กระทั้งในเด็กเล็กทารก บางทีเราไปซื้อขวดนมแต่ขวดนมราคาถูกบางยี่ห้อเป็นขวดนมที่คุณภาพต่ำ ใช้วัสดุโพลีคาร์บอเนต เพราะฉะนั้นการใส่น้ำร้อนเพื่อชงนมให้ลูก ลูกก็จะได้สารนั้นตั้งแต่แบเบาะ สารพวกนี้มันเป็นสารคลายคลึงฮอร์โมน หากเด็กผู้หญิงได้รับฮอร์โมนเพศตั้งแต่เด็กๆ ก็จะโตก่อนวัย เจริญเติบโตได้ไม่ดี ตกไข่ มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ชายที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงตั้งแต่ตอนแบเบาะ โตขึ้นจะเป็นอย่างไร

“และอีกสารหนึ่งคือ สารฟอกสีที่เจือปนในน้ำ โดยเฉพาะในบ้านเรามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ที่เขาใช้สารฟอกสี หรือที่เรียกว่าไดออกซิน เช่น โรงงานทำผงซักฟอก โรงงานย้อมผ้า โรงงานทำเยื่อกระดาษ พอปล่อยลงท่อระบายน้ำเข้าไปในแม่น้ำลำคลอง เราเอาน้ำนั้นมาใช้ เราก็จะได้รับสารพวกนี้ แล้วสารพวกนี้มันไม่สลาย เอาไปต้มไม่สลาย เอามากรองก็ไม่ออก มันคงตัว ซึ่งสารตัวนี้ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งตับได้ สังเกตว่าในขอนแก่นคนเป็นมะเร็งตับเยอะที่สุด อัตราการเป็นมะเร็งตับในโลกประมาณ 80 ต่อ 100,000 คน แต่ขอนแก่น 180 : 100,000 คน เยอะมากเพราะว่าสารไดออกซินตัวนี้แหละ เพราะฉะนั้นเนี่ย เราก็ต้องระมัดระวัง ทั้งเรื่องอาหาร ภาชนะและน้ำที่ ต้องพิถีพิถันหน่อยครับ”

ผู้ป่วยมะเร็งสามารถดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ไหม?

คำตอบจากแพทย์หญิง กุลธิดา มณีนิล จากงานเสวนา พลิกมุมมองใหม่ เพื่อรับมือกับโรคมะเร็งครั้งที่ 7

“กาแฟทานได้แม้แต่ช่วงที่ให้ยาเคมีก็ทานได้ค่ะ ส่วนเรื่องแอลกอฮอล์ เนื่องจากช่วงที่ให้ยาเคมีจะทำให้มีการระคายเคืองบริเวณช่องปาก เยื่อบุ ตลอดจนทางเดินอาหาร ซึ่งพวกกลุ่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ เหล้า พวกนี้จะทำให้มีการระคายเคือง ช่วงให้ยาจึงไม่ไม่แนะนำให้ดื่มค่ะ

หากจบการรักษาแล้ว ก็จะเป็นลักษณะการดื่มเพื่อเข้าสังคมก็สามารถทานตามโอกาสได้ แต่ตัวแอลกอฮอล์จริงๆ ก็ไม่ได้มีประโยชน์มาก จึงไม่แนะนำ แต่ก็สามารถดื่มในปริมาณที่เหมาะสมได้ค่ะ”