มะเร็งลําไส้ใหญ่

   โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งของระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย ทั้งในเพศหญิงและชาย โดยเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดใน 5 อันดับแรกของมะเร็งทุกชนิดรวมกัน และยังเป็นมะเร็งที่มีอัตราการตายสูงในอันดับต้นๆ เช่นกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่
   ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการใดๆ จนเมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น จนมีขนาดพอสมควร จึงก่อให้เกิดอาการเริ่มต้น ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูกอย่างไม่มีเหตุผล ซีดอันสืบเนื่องมาจากการเกิดแผล และมีเลือดออกเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด ถ่ายกะปริดกะปรอย ปวดเบ่งหรือมีความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา บางครั้งก้อนอาจมีขนาดใหญ่มากจนสามารถคลําก้อนที่หน้าท้องได้ด้วยตนเอง และเมื่อก้อนลุกลามจนอุดกั้นทางเดินอุจจาระของลําไส้ใหญ่ ก็จะส่งผลให้เกิดการตีบตัน จนไม่สามารถถ่ายอุจจาระหรือผายลมได้ หากมิได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลําไส้อาจแตกทะลุได้

จะมีวิธีการตรวจหาว่าเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ได้อย่างไร
   การตรวจอย่างง่าย เช่น การตรวจหาการปนเปื้อนของเลือดในอุจจาระ เป็นการตรวจสุ่มเบื้องต้นอัน เป็นที่นิยม และหากพบผลบวกที่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของเลือดในอุจจาระ แพทย์ จะส่องกล้องตรวจเยื่อบุผนังลําไส้ใหญ่ภายในว่ามีแผลตุ่มผิดปรกติ หรือก้อนเนื้องอกอยู่หรือไม่ พร้อมทั้งสามารถเก็บชิ้นเนื้อขนาดเล็ก เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ อันเป็นการยืนยันการวินิจฉัย และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการรักษาต่อไป การตรวจพิเศษทางรังสีวิทยา เช่น การตรวจช่องท้อง หรือทรวงอกด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการช่วยประเมินตําแหน่งของก้อนเนื้องอกก่อนการผ่าตัด รวมทั้งระยะการลุกลามของโรคว่ามีต่อมน้ําเหลืองโต หรือโรคกระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ตับ และปอดหรือไม่ ส่วนการตรวจเลือด เป็นการประเมินสภาพความพร้อมของร่างกาย อีกทั้งการตรวจค่าโปรตีนบางชนิด เช่น ค่าซีอีเอ (CEA ย่อมาจาก carcinoembryonic antigen) ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือติดตาม หากมีการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ภายหลังการผ่าตัดได้

การรักษาโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่มีวิธีใดบ้าง
   การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักของโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปิดแผลแบบดั้งเดิม หรือการผ่าตัดผ่าน การส่องกล้อง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ลดความเจ็บปวด บาดแผลขนาดเล็กลง และใช้เวลาพักฟื้นที่สั้นกว่า นอกจากนั้น ยังมีการให้ยาเคมีบําบัดและการให้รังสีรักษา ซึ่งเป็นการรักษาเสริม ก่อนหรือหลังการผ่าตัด ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายไป

โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่เกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันหรือไม่
   จากการศึกษาพบว่า โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ส่วนมากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการบริโภค ได้แก่ การกินอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง ปริมาณเส้นใยอาหารต่ำ ร่วมกับการออกกําลังกายน้อย มีดัชนีมวลกายสูงกว่าปรกติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงนับเป็นความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ในขณะที่โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่น้อยกว่าร้อยละ 5 ที่เกิดมาจากปัจจัยการถ่ายทอดหรือโรคทางพันธุกรรม การป้องกันโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่จึงกระทําได้ด้วยการบริโภคอาหารที่มีปริมาณเส้นใยอาหารสูง ประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสัตว์ รวมทั้งหมั่นออกกําลังกายเป็นประจํา และหากมีความเสี่ยง เช่น มีบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวจํานวน 2 คนขึ้นไปเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมต่อไป

อ.ดร.นพ.วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล